ฉายภาพโอกาสและความหวัง เมื่อมีวัคซีน COVID-19 เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าอย่างไร
28 Dec 2020

ในทันทีที่บริษัทยายักษ์ใหญ่ชั้นนำของโลกทั้งในและต่างประเทศ ต่างประกาศความสำเร็จในการทดลองวัคซีนกับมนุษย์ได้เป็นผลกว่าร้อยละ 90 สวิตช์ไฟเศรษฐกิจโลกก็ถูกเปิดขึ้น ทำให้เริ่มมองเห็นภาพเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นอีกครั้ง ล่าสุดประเทศรัสเซีย ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เริ่มมีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนทั่วไป ถือเป็นอีกความหวังด้านเศรษฐกิจ ทำให้มีการประมาณการณ์ว่าภายในต้นปี 2564 วัคซีนโควิดจะเริ่มทยอยฉีดให้กับคนทั่วโลก ก็ยิ่งเน้นย้ำว่าชัยชนะจากโรคอุบัติใหม่ครั้งนี้ อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ถึงกระนั้นคงไม่มีใครจะมองโลกในแง่ดี ขนาดที่พิจารณาว่าพอจบโควิด-19 แล้ว เศรษฐกิจทั่วโลกจะกลับมาฟื้นตัวในทันที เนื่องจากบาดแผลจากผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศต่างประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจที่มีความรุนแรงต่างกัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ทว่าอีกข้อสงสัยที่หลายท่านคงอยากทราบ แม้จะมีความหวังจากวัคซีนป้องกันโควิด แล้วเศรษฐกิจไทย จะดำเนินไปในทิศทางใดต่อไป และท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ในปัจจุบัน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงแค่ไหน ภาคการท่องเที่ยวจะเดินหน้าอย่างไร และนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาหรือไม่ 

 

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจและการลงทุน มองภาพเศรษฐกิจไทยภายหลังมีวัคซีนโควิด-19 ว่า วิกฤตครั้งนี้ เกิดจากปัจจัยด้านโรคระบาด เพราะฉะนั้นถ้าโควิด-19 ยังไม่หายไป เศรษฐกิจก็ยังไม่มีทางฟื้นตัวขึ้นได้ วัคซีนจึงเป็นความหวังของเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

พอได้ทราบข่าวว่าวัคซีนโควิดทดลองสำเร็จกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และจะเริ่มฉีดให้ประชาชนได้เร็วๆนี้ แน่นอนว่าเป็นผลดีในด้านความรู้สึกในมุมของธนาคาร หากยังเห็นความหวังและคิดว่ายังสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ เมื่อผู้ประกอบการอยู่รอดได้ กระบวนการฟื้นเศรษฐกิจก็ไปได้” 

 

 

แม้มีวัคซีนโควิด แต่เศรษฐกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

ท่ามกลางข่าวดีแต่ก็ยังไม่อาจการันตีว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้ในทันที ซึ่ง ดร.กอบศักดิ์ มองว่า ช่วงที่ทั่วโลกล็อกดาวน์ เศรษฐกิจไทยย่ำแย่อย่างหนัก ภาคการส่งออก -23% ภาคการผลิต -25% ภาคการลงทุนและการบริโภค -10% นับตั้งแต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์มายังไม่เคยเจอตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ขนาดนี้มาก่อน แต่สถานการณ์ก็พลิกผันอีกครั้งช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาดีขึ้น ภาคการส่งออกเริ่มกลับมา แม้ยังติดลบอยู่แต่ก็แค่ -4% เนื่องจากทั่วโลกเริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงขยับอีกครั้ง และประชาชนก็เริ่มกล้าใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น  

อย่างไรก็ตามภาคการส่งออกที่ขยับขึ้นเล็กน้อยยังไม่มีความแน่นอน เพราะ เมื่อดูตัวเลขการส่งออกเดือนตุลาคมที่ผ่านมา -6% ลดลงกว่าเดือนกันยายนเล็กน้อย นั่นเพราะตลาดในยุโรป อังกฤษ และสหรัฐฯ ยังไม่ดีขึ้นจากการระบาดของโควิด-19

คาดว่าหลังจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไปอย่างช้าๆ แม้บางกลุ่มจะเติบโต อาทิเช่น กลุ่มค้าปลีกออนไลน์ เดลิเวอรี บริการด้านซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์ไอทีต่างๆ แต่ก็ยังมีบางธุรกิจที่ตกต่ำ อาทิ การท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจบันเทิง ซึ่งเป็นรูปแบบการเติบโตรูปตัว K (K shape) ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจยังโตได้อย่างเชื่องช้า

ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นอย่างรวดเร็ว คือต้องฟื้นภาคท่องเที่ยวให้กลับมาปกติโดยเร็ว โดยที่ผ่านมารัฐตัดสินใจว่าต้องคัดกรองไม่ให้เกิดการระบาดรอบสองในประเทศไทย จึงยังไม่เปิดประเทศแบบเต็มตัว ยังมีการคัดกรองและกักตัวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ 14 วัน ทำให้ภาคท่องเที่ยวยังไปต่อไม่ได้ การจับคู่ทำ Travel Bubble ก็อาจจะไม่ช่วยอะไร เพราะอยู่บนพื้นฐานของความไม่แน่นอนจากการระบาดของโควิด-19 จะยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ กรณี Travel Bubble สิงคโปร์และฮ่องกง ที่ประกาศชะลอไปอย่างไม่มีกำหนด คือตัวอย่างของความไม่แน่นอนนั้น

ดังนั้นเมื่อมีวัคซีนแล้ว ต้องคิดต่อคือทำอย่างไรให้สามารถเปิดภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศได้ ด้วยวิธีแบบใหม่ๆ เช่น การตรวจสอบว่านักท่องเที่ยวมีการฉีดวัคซีนมาแล้วหรือไม่ ก็สามารถให้เข้าประเทศได้

“แม้ปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนอีกหลายอย่าง แต่เชื่อว่าในช่วงกลางปีหน้าจะมีข่าวดีมากขึ้น แต่สำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ก็ยังคงต้องเตรียมสภาพคล่องไว้อย่างน้อย 6 เดือน อย่างน้อยต้องคิดไว้ถึงกลางปีหน้าไว้ก่อน แต่การมีข่าวดีเรื่องโควิดก็ทำให้บรรยากาศของเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

 

Asian Century ไทยอนาคตสดใสหลังโควิดจบลง

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่าการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยได้เรียนรู้ในหลายด้าน ดังนั้นต่อไปจะต้องมีการเตรียมการรับมือที่ดีขึ้น เพื่อรับมือโรคระบาดอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การทำให้คนเกิดความมั่นใจในด้านสุขภาพ หรือ Health Security เป็นเรื่องสำคัญในก้าวต่อไปของประเทศไทย ในการคว้าโอกาสการเป็นศูนย์กลางการจัดการโรคระบาดในอนาคต แต่สำหรับภาคธุรกิจเองก็ต้องจำบทเรียนครั้งนี้ไว้เช่นกัน

ครั้งนี้อาจเหมือนการซ้อมใหญ่ ไม่อาจรู้ได้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม หากโควิด-19 จบลง เทรนด์ที่เคยเกิดขึ้นจะกลับมา คือ “ศตวรรษแห่งเอเชีย” (Asian Century) แม้โควิดจะทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะงัก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก เอเชียจะเป็นภูมิภาคที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูงสุด เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังมีความสดใหม่ เป็นแหล่งของวิวัฒนาการและอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งกลุ่มที่น่าจับตามากที่สุด คือ จีน อินเดีย และอาเซียน ที่จะเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจยุคใหม่

ดังนั้นโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นเพียงการหยุดชะงักเพียงชั่วคราว เพราะหากมองภาพอนาคตจะเห็นว่ายังเป็นภาพที่สวยงามรออยู่ ขอแค่ให้วัคซีนได้ผลโควิดหายไป ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของตลาดจีน อินเดีย และอาเซียน ซึ่งมีประตูทางออกทะเล ทั้งในด้านอ่าวไทย และอันดามัน ไทยจะเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของโลกหลังโควิด

เพราะแม้จีนและอินเดียจะเป็นอีก 2 ประเทศ ที่เศรษฐกิจจะเติบโตเช่นกัน แต่การไปลงทุนในสองประเทศนี้ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย มาตรการ และกฎเกณฑ์ต่างๆ อาจไม่ได้สะดวกนักเหมือนในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยเมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่เศรษฐกิจเติบโตได้เร็ว มั่นใจว่าไทยหลังโควิดจะเป็นไทยที่มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในหลายด้าน

 

 

มีลุ้น! กลางปี 2564 คนไทยอาจได้ฉีดวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย

คุณวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการ บริษัท ไบโอเนท–เอเชีย จำกัด ได้ฉายภาพการพัฒนาวัคซีนในไทยว่า บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย ภาคเอกชนที่ดำเนินการด้านอุตสาหกรรมวัคซีน ที่ผ่านมามีการผลิตวัคซีนไอกรนในเด็กได้สำเร็จ และมีการร่วมมือกับภาครัฐ และสถาบันการศึกษาในการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA เพื่อใช้ในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.), คณะแพทยศาสตร์ รพ.ศิริราช, คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล, คณะเภสัช ม.จุฬา, ไบโอเทค และ สวทช. โดยมีเป้าหมายพัฒนาวัคซีนในประเทศ ให้มีทิศทางเดียวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก

ดังนั้นถ้า DNA ของไบโอเนทได้รับการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 เร็วๆนี้ ช่วงเดือนมกราคม 2564 น่าจะรู้ผล และหากมีการทดสอบระยะที่ 2 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน มีความเป็นไปได้ ที่ช่วงเดือนพฤษภาคม น่าจะทราบผลแน่ชัดแล้วว่า จะสามารถใช้กับคนได้หรือไม่ โดยใช้เวลาในการผลิตราว 1-2 เดือน ดังนั้นกลางปี 2564 คนไทยอาจจะได้รับวัคซีนโควิดที่ผลิตโดยบริษัทคนไทย ซึ่งอาจจะต้องมอบให้กระทรวงสาธารณสุข ฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงก่อน

 

 

ปรับแผนรองรับความเสี่ยงหากผลทดลองไม่เป็นตามเป้า

คุณวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ไบโอเนท ยังได้มีการร่วมมือกับโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีองค์ความรู้ในการผลิตวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งวัคซีนป้องโควิด-19 ชนิด mRNA เป็นเชื้อตัวอ่อนที่ร่างกายจะไปจับเพื่อสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา สามารถผลิตได้เร็วกว่าและมากกว่าวัคซีนชนิด DNA เนื่องจากเป็นการสังเคราะห์ขึ้นมา แต่ขั้นตอนการผลิต mRNA จะต้องผลิต DNA ได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ไบโอเนท จึงเตรียมแผนสองในการร่วมมือโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันด้วย หากแผนการในขั้นที่ 1 คือการทดลองวัคซีนชนิด DNA ในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการทดลองในมนุษย์ไม่ประสบผลตามเป้าหมาย

และถ้าแผนหนึ่งและแผนสองล้มเหลว ไบโอเนทแผนสาม ซึ่งปัจจุบันได้เตรียมขวดบรรจุ ที่สามารถบรรจุวัคซีนจากต่างประเทศได้ (ปัจจุบันขวดบรรจุขาดตลาดทั่วโลก) ถือเป็นการเตรียมความพร้อมอย่างครบวงจร และเป็นการปรับแผนให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

 

 

วิเคราะห์ปัญหาคอขวดของอุตสาหกรรมวัคซีน

คุณวิฑูรย์ มองว่า เรื่องอุตสาหกรรมวัคซีนโลก ยังคงมีประเด็นที่ต้องจับตา คือ เรื่องวัคซีนซัพพลายจะเป็นคอขวด เพราะแม้จะมีการทดสอบวัคซีนสำเร็จแล้ว แต่ก็ยังมีประเด็นที่น่ากังวล เช่น เรื่องโลจิกติกส์ เพราะผลการทดลองวัคซีนขั้นที่ 3 ของไฟเซอร์ - ไบออนเทค และโมเดอร์นา ต้องเก็บรักษาวัคซีนไว้ที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส และสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดาได้เพียง 5 วัน และวัคซีน ของ บริษัทโมเดอร์นา ต้องเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน และสามารถเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นธรรมดาได้ 1 เดือน ดังนั้นการขนส่ง และจัดเก็บอาจจะเกิดปัญหา และล่าช้า

ในส่วนของการผลิตวัคซีนในไทย แม้จะมีการล่าช้าไปบ้าง แต่ก็เป็นการถ่ายโอนด้านเทคโนโลยี และองค์ความรู้ครั้งสำคัญของประเทศ ทำให้เชื่อว่าประเทศไทยยังมีความหวังว่าในช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป และจะมีมาตรการหลายด้านที่ผ่อนคลายลง และประเมินว่าถึงต้นปี 2565 โควิด-19 อาจไม่ได้น่ากลัว และเป็นเพียงโรคเฉพาะถิ่นไปแล้ว

 

 

โควิด-19 คือ Paradigm Shift วงการผลิตวัคซีน

คุณวิฑูรย์ กล่าวว่า การเกิดโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้วงการวัคซีนมีปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) อย่างใหญ่หลวง จากอดีตที่วัคซีนชนิดหนึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปี ขณะที่ปัจจุบันอาจใช้เวลาแค่ 90 วันในการสร้างเชื้อตัวอย่างขึ้นมาได้ เพราะมีเทคโนโลยี เมื่อสามารถรู้โครงสร้างของเชื้อก็จะใช้เวลาไม่นานในการทดลอง และผลิตเป็นวัคซีนขึ้นได้

ดังนั้นปัญหาเฉพาะหน้า คือ ต้องเร่งผลิตวัคซีนให้ได้ก่อน เรื่องจะกลายพันธุ์ หรือไม่ยังไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อมีองค์ความรู้ และเทคโนโลยีในการสร้าง DNA วัคซีนโควิด-19 ขึ้นมาได้แล้ว การจะผลิตวัคซีนจากไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ที่อาจเกิดการกลายพันธุ์ในอนาคตย่อมสามารถทำได้เช่นกัน

และบทเรียนครั้งนี้ ทำให้เราเห็นว่าแผนการรับมือในภาวะฉุกเฉินสิ่งที่ประเทศต้องการมากที่สุด คือวัคซีน แต่ที่ผ่านมาประเทศมีจุดอ่อนในด้านการร่วมมือจากภาครัฐในการส่งเสริมให้มีการพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ โดยเอกชนที่มีความพร้อมในการทำวัคซีน แต่มีกฎหมายห้ามให้เงินในการอุดหนุนโดยตรง แตกต่างจากต่างประเทศที่มีงบประมาณในการส่งเสริมให้เอกชนคิดค้นและพัฒนาวัคซีน เป็นการบ้านที่รัฐควรนำไปพิจารณา

ทุกวันนี้นักวิจัยไทยเก่ง เพียงแต่ยังขาดการสนับสนุนด้านการเงิน จากเดิมที่มีการคิดค้นและผลิตวัคซีนต่างๆ ยังจำกัดในการผลิตต่อหน่วยที่มีต้นทุนสูง เพราะมีสเกลขนาดเล็ก มองว่ายังไม่มีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ แต่หากสามารถพัฒนาให้เกิดเป็นการผลิตครั้งละมากๆ ได้ มูลค่าวัคซีนก็จะถูกลง ทั้งยังสามารถขายต่างประเทศได้ด้วย

สุดท้าย คุณวิฑูรย์ ตั้งความหวังว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ประเทศไทยถือว่ามีงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าทุกประเทศ ดังนั้นมีความเห็นว่า หลังโควิดจบลง ประเทศไทยจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยเฉพาะในด้านการจัดการระบบต่างๆ ในประเทศ ต้องกล้าเปลี่ยน รวมทั้งโอกาสในการเป็นศูนย์กลางในหลายด้าน อาทิ การเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตอาหารของโลก มีจุดแข็งด้านการบริการด้านท่องเที่ยว เรียกได้ว่ามีความพร้อมในหลายด้าน เพียงแต่ขาดการบริหารจัดการ และ Mindset แบบใหม่ ดังนั้นประเทศไทยหลังโควิด-19 จบลงต้องปรับกระบวนการคิด และการทำงานแบบใหม่ให้รวดเร็ว และลดขั้นตอน เพื่อปูทางไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ และอุตสาหกรรมวัคซีนในอนาคต

อนึ่งความคิดเห็นทั้งหมดเกิดขึ้นภายในงานสัมมนาออนไลน์ “วัคซีน COVID-19 กับความหวังเศรษฐกิจ” จัดโดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่เดินหน้าจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในทุกกลุ่ม เพื่อฉายภาพความคืบหน้าด้านการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ควบคู่กับการวิเคราะห์ทิศทางอนาคตเศรษฐกิจไทย ระหว่างที่รอวัคซีนสำเร็จ ดำเนินรายการโดย คุณสิทธิชัย หยุ่น ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

 

 

สามารถรับชมสัมมนาย้อนหลังได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=TpeMJ8xelXU&t=2162s&ab_channel=BangkokBankSME

ติดตามรับชมงานสัมมนาดีสำหรับผู้ประกอบการได้ที่ Bangkokbanksme แพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้สำหรับ SMEs

[อ่าน 6,192]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
งานประชุม TCP Sustainability Forum 2024 ชูแนวคิดยืดหยุ่นและปรับตัวเร็ว
Kia มอบข้อเสนอสุดพิเศษ ณ งาน BIG MOTOR SALE 2024
วีโมโต ทุ่ม 100 ล้าน เปิดตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในไทย
เปอโยต์-จี๊ป ไลอ้อน ออโตโมบิล จัดทัพยนตรกรรมรุ่นไฮไลท์ บุกงาน BIG MOTOR SALE 2024
MGC-ASIA ขนทัพยานยนต์ไฟฟ้า XPENG, ZEEKR อีกทั้ง Honda, Harley-Davidson พร้อมโปรโมชั่นเฉพาะในงาน BIG MOTOR SALE 2024
ZARA HOME เผยโฉมร้านคอนเซปต์ใหม่ แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved