วิกฤติโควิด-19 ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ไปทั่วโลก ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้มีความซับซ้อนและรวดเร็วกว่าเดิม 'การปรับตัว' และ 'ความคล่องตัว' จึงกลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับทุกคน ทุกธุรกิจ และทุกผู้ประกอบการ ที่สำคัญ ยังวิวัฒน์ให้เกิดคีย์เวิร์ดใหม่อีกคำ นั่นคือ MICROPRENEUR ซึ่งจะเป็น 'นักรบทางเศรษฐกิจ' ที่สำคัญอีกกลุ่ม ใครบ้างที่จะเป็น Micropreneur แล้วคนกลุ่มนี้สำคัญอย่างไร จะอยู่รอดท่ามกลางความท้าทายที่มาระลอกแล้วระลอกเล่าอย่างไร
อาจารย์ ชนาธิป เลขะกุล ผู้จัดการโครงการ คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดมุมมองต่างๆ เหล่านี้ พร้อมกับชี้แนะแนวทางติดอาวุธ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับการก้าวข้ามความท้าทาย
ที่มาและความหมายของ Micropreneur คืออะไร
เนื่องจากปัจจุบันนี้การเปลี่ยนแปลงของโลกนั้นมีความซับซ้อนและรวดเร็วกว่าเดิม การดำเนินชีวิตของคนก็มีการเปลี่ยนแปลง การดำเนินธุรกิจก็เปลี่ยนแปลงและสถานการณ์มีความแตกต่างกัน เช่น ตอนนี้ยังไม่มีใครทราบเลยว่า วิกฤติโควิด-19 ตอนนี้จะสิ้นสุดเมื่อไร? วิกฤติหลังจากนี้ยังมีอะไรที่ตามมาอีกหรือเปล่า? มนุษย์ ครอบครัว สังคมหรือประเทศเองจะต้องปรับตัวอย่างไร? แต่สิ่งหนึ่งที่มันอยู่ใน 'จิตวิญญาณ' ของ 'การเอาตัวรอด (Survival)' เพราะคนที่มีงานทำบ้างก็ตกงาน คนที่ทำธุรกิจบ้างก็ไม่สามารถทำรายได้ได้เช่นเดิม แล้วอาชีพเดิมๆ ก็อาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้
นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า Micropreneur ซึ่งมาจากคำว่า Micro + Entrepreneur หมายถึง กลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมๆ กลุ่มคนทำงานที่มีความเป็นผู้ประกอบการและทำเป็นงานเสริม เป็นฟรีแลนซ์ โดยเป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็กมากๆ ไม่เกิน 5 คน หรือทำคนเดียวแต่ทำหลายๆ ตำแหน่ง ทั้งการขายบัญชี การตลาด ดูแลทีม ฯลฯ หากใช่ก็ถือว่าเป็น Micropreneur เพราะนี่คือดีเอ็นเอที่สามารถจะอยู่ในตัวเราทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ หรือคนทำงานทั่วไป
ใคร คือ Micropreneur
ส่วนใหญ่แล้วกลุ่ม Micropreneur จะเป็นคนที่ริเริ่มธุรกิจที่มีขนาดเล็กมากๆ โดยเริ่มจากการมองเห็นโอกาส หรือมีความหลงใหลในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สามารถนำมาทำเป็นธุรกิจได้ และจะเป็นกลุ่มที่พึ่งตัวเองเป็นหลัก โดยอาจจะใช้พื้นที่เล็กๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานหรือธุรกิจ ใช้เงินลงทุนจำนวนน้อยมากในการดำเนินธุรกิจ และไม่ได้วัดกันที่รายได้ว่าต้องสร้างรายได้เท่าไรจึงจะจัดเป็น Micropreneur ไม่เหมือนการจัดระดับได้ของ SMEs แต่วัดกันที่การบริหารจัดการ เพราะเมื่อใดที่มีทีมงานเพิ่มขึ้น มีรายได้และต้องจดทะเบียนนิติบุคคลแล้วก็อาจจะเรียกว่าเป็น Startup หรือ SMEs
ตัวอย่างของ Micropreneur ก็พบได้ทั่วไป เช่น บล็อกเกอร์, ยูทูบเบอร์, ไลฟ์โค้ช, ติวเตอร์, ค้าขาย ,ขายของออนไลน์ให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือช่างภาพ ฯลฯ ซึ่งคนๆ เดียวอาจสร้างรายได้เป็นหลัก 10-20 ล้านบาทได้พอๆ กับกลุ่ม SMEs ก็มี
แล้วการเป็น Micropreneur นั้นได้ประโยชน์อะไร - อย่างไร
ต้องเข้าใจว่า ตอนนี้โลก 'เปลี่ยนแปลงอย่างไร้ทิศทาง' เพราะเราคาดการณ์ไม่ได้เลยว่า วิกฤตินี้จะสิ้นสุดตรงไหนและสิ้นสุดแล้วจะกลับมาอีกหรือไม่ ฯลฯ แล้วอะไรคือ 'สิ่งที่ถูกต้องที่สุด' หรือ 'สิ่งที่ใช่ที่สุด' สำหรับตัวเรา แม้ตอนนี้อาจจะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่หากเราสามารถดำเนินชีวิตและธุรกิจได้อย่างยืดหยุ่นและคล่องตัว โดยการเริ่มต้นอาจจะไม่ต้องมีทีมงาน เงินทุน หรือทรัพยากรเท่ากับกลุ่ม Startup หรือ SMEs แต่เราอาจจะเริ่มจากตัวเราคนเดียว ทำตัวให้ 'ลีน' (Lean) และ 'เล็ก' ให้มากที่สุด เหมือนกับคำว่า 'Micro' นั่นเอง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ต่างจาก Entrepreneur อย่างไร
การเป็น Micropreneur แตกต่างจากการเป็นผู้ประกอบการทั่วๆ ไป คือ Micropreneur จะเป็นเจ้าของธุรกิจที่ทำงานได้ดีในทีมเล็ก หรือทำคนเดียว มีความสามารถมองเห็นโอกาสที่เป็นไปได้ทุกที่ มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวกว่า สามารถแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่ตรงเป้าหมาย หรือในจุดเล็กๆ ที่เป็น Pain Point ได้อย่างตรงจุดมากกว่า เช่น ปัญหาการส่งสินค้าในพื้นที่ห่างไกลที่กลุ่มขนส่งเข้าไปไม่ถึง ตรงนี้ Micropreneur จะมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจด้วยการนำอาหาร สินค้า หรือแม้แต่การรับจ้างขนส่งไปยังพื้นที่ห่างไกลนี้แทน ซึ่งจะต่างจาก Startup หรือ SMEs ที่มองภาพใหญ่กว่า หรือมอง Pain Point ของคนหมู่มาก
นอกจากนี้ Micropreneur ยังเข้าใจถึงความสำคัญของการใช้ความคิดสร้างสรรค์กับการทำงาน หรือการผลิตสินค้า/บริการ และมีกระบวนการทางธุรกิจของ Micropreneur จะมีลักษณะเฉพาะตัว เช่น บางคนอาจจะนิยามมาเลยว่า ทำงานกับครอบครัวเท่านั้น หรือบางรายอาจจะกำหนดมาเลยว่า ทำงานกับมืออาชีพ หรือคนที่มีศักยภาพเท่านั้น หรือหากมาร่วมงานกันแล้วศักยภาพไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะมีทางออกด้วยการให้ทำโปรเจกต์ที่คาดว่าจะมีศักยภาพทำได้ และตอบโจทย์ขององค์กรได้หรือไม่
โดยรวม Micropreneur จะมีความยืดหยุ่น และคล่องตัวมากกว่า นี่จึงทำให้สามารถเข้าถึง Pain Point ได้ดีกว่าและเป็นสาเหตุว่า ทำไม Micropreneur จึงมีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน และอยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
จากสถานการณ์ปัจจุบัน เจ้าของธุรกิจจะต้องติดอาวุธอะไรจึงจะ 'อยู่รอด' ได้
ผมเองอยากให้ทุกคนเข้าใจและทำความรู้จักกับ Business Intelligence ซึ่งจะเป็นเครื่องมือบริหารจัดการที่จะทำให้ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กมากๆ หรือขนาดใหญ่ก็จะอยู่รอดได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ตัวอย่างที่เป็นส่วนประกอบของ Business Intelligence เพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์ความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ เช่น
- 1) Digital Literacy เครื่องมือพื้นฐานที่สุดที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น และเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้และเข้าใจ เพราะปัจจุบันไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก (Disrupt) จากโลกดิจิทัล การดำเนินชีวิตของคนเราไม่ใช่แค่การมีปัจจัย 4 แต่ตอนนี้มีอีกหลายอย่างที่ขาดไม่ได้ เช่น สมาร์ทโฟน ช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่ต่างๆ เช่น การแชต อีเมล หรือแม้แต่การถ่ายภาพไลฟ์สดขายของ ถ่ายภาพหมูปิ้งเพื่อโพสต์ขายบนออนไลน์แล้วทำให้เป็นที่รู้จัก ส่งไปถึงลูกค้าที่ไกลๆ ได้มากขึ้น หรือเข้าถึงคนในบริเวณนั้นได้มากขึ้น หรือการผสมผสานดิจิทัลในปัจจัย 4 เดิม ฯลฯ ก็จะสามารถสร้างรายได้เข้ามาแม้จะอยู่ในสภาวะท้าทายเช่นนี้ได้
- 2) Technology Tool คำนี้ใครๆ ก็คงเคยได้ยินกันมาทั้งนั้น แต่จะมีกี่คนที่สามารถเข้าใจแล้วนำเอามาเป็นเครื่องมือเสริมในการดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งหากสามารถนำมาปรับใช้ได้ก็จะทำให้เราไปได้มากกว่า Digital Literacy เช่น การใช้แชตบอท เพื่อโต้ตอบกับลูกค้าบนออนไลน์ การโพสต์คอนเทนต์สอนขนมหวานบนออนไลน์ ซึ่งจะทำให้มีคนสนใจอยากทำขนมหวานเข้ามาคลิกดู ซึ่งก็จะรายได้จากการดูคอนเทนต์ได้ หรือแม้แต่การใช้ AR/VR, เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า(Face Recognition), เทคโนโลยีการจดจำเสียง (Voice Recognition) ฯลฯ
- 3) Data Collaboration เราต้องเอา Data (ข้อมูล) ไปเชื่อมโยงหรือผสมผสานกับสิ่งที่อยู่รอบตัว หรือกับการดำเนินธุรกิจให้ได้ เพราะว่าหากสิ่งนี้ได้ในมิติต่างๆ แล้วก็จะยิ่งทำให้การดำเนินธุรกิจของเรามีความแตกต่างจากการดำเนินธุรกิจในแบบเดิม ใครสามารถนำมาใช้ได้ก่อนก็จะยิ่งเจอโอกาสจำนวนมากเช่นกัน แต่เมื่อพูดถึงการนำข้อมูลมาใช้ใครๆ อาจจะคิดว่า ต้องเป็นองค์กรใหญ่ๆ เท่านั้น ความจริงๆ แม้แต่ร้านเล็กๆ หรือคนทั่วไปเราก็มีการเก็บข้อมูลกันอยู่แล้ว เช่น ร้านอาหารตามสั่ง จะจำลูกค้าได้ว่า ชอบทานอาหารแบบไหน เผ็ด - ไม่เผ็ด ฯลฯ ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการซื้อซ้ำได้ เพราะลูกค้ารู้ว่า เราใส่ใจและจำรายละเอียดได้ หรือในภาพรวมว่า ร้านของเรามีคนมาซื้ออาหารไม่เผ็ดถึง 30 คนจากลูกค้าทั้งหมด 50 คนต่อวันก็จะทำให้เราพิจารณาถึงสินค้าที่จะนำมาขายเพิ่ม หรือเปิดเมนูใหม่ได้ว่า ควรจะเป็นเมนูอะไร เช่น ขายน้ำซุป แกงจืดเสริมเข้าไป เป็นต้น
- 4) Creative Thinking ความคิดสร้างสรรค์ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สามารถช่วยให้เราสามารถแก้ไขข้อจำกัดการดำเนินธุรกิจแบบเดิม การค้าขายแบบเดิม การนำเสนอแบบเดิม การบริการลูกแบบเดิม ซึ่งการมองต่าง (See Difference) ที่ต่างจากนี้จะเป็นมุมที่ทำให้เราได้สินค้าหรือบริการแบบใหม่

สำหรับความท้าท้ายครั้งต่อๆ ไป Micropreneur ควรที่จะต้องมีอะไรเพิ่มเติม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองหรือไม่
ต้องเข้าใจว่า ความท้าทายอย่างโควิด-19 ที่เราเจอๆ กันนี้คือ สึนามิลูกแรก แล้วหากมีความท้าทายต่อๆ ไป เราจะทำอย่างไร ในมุมของ Micropreneur ก็สามารถที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้อยู่รอดได้ ดังต่อไปนี้
- 1) Empathy (การสังเกต) เป็นการสังเกตที่ลึกซึ้งกว่า Notice โดยสามารถสังเกตเห็นอย่างเข้าใจในประเด็นต่างๆ เช่น การสังเกตเห็นถึงปัญหาที่ลึกกว่า Problem นั่นคือ Pain Point ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆๆ จนเกิดเป็นปัญหาในใจผู้บริโภค/ลูกค้า, การสังเกตด้วยคำถามการหาสาเหตุว่า 'ทำไม', การสังเกตเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นในหลากหลายมิติ ซึ่งหากเราสังเกตเห็น Pain Point ได้ แล้วถ้าเราเข้าใจและเห็นโอกาส เราก็สามารถที่จะต่อยอดต่อไปได้
- 2) Identify (การบ่งชี้/การระบุ) การระบุถึง 'ปัญหา' หรือ 'โอกาส' อย่างชัดเจนและเข้าใจแล้วสามารถนำมาเชื่อมโยงกับโอกาสให้สอดคล้องกัน ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายและตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายนั้นด้วย
- 3) Change (การเปลี่ยนแปลง) ซึ่งไม่ต้องเปลี่ยนแปลงในวงกว้างอย่างที่เรียกว่า Transform แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมัว 'ตั้งท่า' แต่ต้องเปลี่ยนเร็ว เปลี่ยนเลย ไม่ต้องรอและเปลี่ยนได้บ่อยๆ เนื่องจากความท้าทายที่เป็นอยู่ในขณะนี้เปลี่ยนเร็วมาก ถ้าเราเปลี่ยนแปลงไม่ได้เร็ว เราก็อาจจะไม่มีโอกาสได้เปลี่ยนเลยก็ได้ เพราะไม่ทันแล้ว ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นได้ทั้งในมุมของตัวเราเองและในมุมของการดำเนินธุรกิจ ที่สำคัญ จะต้องเล็งเห็นปัจจัยต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในทิศทางที่ดีและไม่ดี ไม่ต้องรอเปลี่ยนใหญ่อย่าง Transform แต่แค่เปลี่ยนเล็กๆ เปลี่ยนบ่อยๆ เปลี่ยนเร็วก็สามารถเป็นฮาวทูสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันได้แล้ว
- 4) Failure Skill (ทักษะความล้มเหลว) หลังจากที่เราต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ก็จะทำให้เราเห็นความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความผิดหวังได้ ทำให้เราต้องมี 'ทักษะความล้มเหลว' โดยต้องทำความเข้าใจกับความอดทน มีความอดทนกับความล้มเหลวต่างๆ ได้ เพื่อที่จะไม่กลับไปล้มเหลวอีก เพื่อที่จะจะเป็นทั้งภูมิต้านทานและแรงผลักดันในการพัฒนาธุรกิจของเราให้มั่นคงและผ่านจุดเสี่ยงต่างๆ ได้ ยกตัวอย่างสินค้าที่มาจากความล้มเหลว เช่น กระดาษ Post-it ที่เดิมต้องการทำกาวติดเครื่องบินที่แข็งแรงและเหนียวที่สุด แต่ทำแล้วก็ล้มเหลวตลอด จนมา 'สังเกตเห็น - ระบุปัญหา -เปลี่ยนตลอดเวลา - ล้มเหลว' จนจับจุดได้ว่า การที่มีกาวบนกระดาษแล้วสามารถลอกออกแล้วติดใหม่ได้หลายๆ ครั้งจึงกลายเป็นกระดาษ Post-it อย่างในปัจจุบัน
- 5) Speed & Continuity (ความรวดเร็วและความต่อเนื่อง) การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจะต้องมีความรวดเร็วด้วย เพราะการดำเนินธุรกิจในแบบเดิมอาจจะไม่เพียงพอต้องรวดเร็วกว่าเดิมอีกหลายเท่า ถ้าเราอยู่แต่ใน Comfort Zone แล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงเราก็จะตกขบวนแน่ๆ เพียงแต่การที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความรวดเร็วและความต่อเนื่องนั้น เราจะต้องวางแผนสำรอง (Scenario) และวิธีการที่ต่อเนื่อง (Continuity) ต่อให้ได้ว่าจากตอนนี้ที่ดำเนินธุรกิจอย่างไรต่อไป เช่น พรุ่งนี้ สัปดาห์นี้ เดือนนี้ ปีนี้การดำเนินธุรกิจของเราจะเป็นอย่างไร หากไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้แผนสำรอง (Scenario) ที่ 1, 2, 3 คืออะไรและมีอะไรบ้าง เป็นต้น
- 6) Self-Learning & Self-Improvement (การเรียนรู้และการพัฒนาตัวเองด้วยตนเอง) การดำเนินธุรกิจหรือการดำเนินชีวิตนั้น โลกใบนี้ไม่มีพื้นที่สำหรับคนที่ย่ำอยู่กับที่ หรือปล่อยให้ตัวเองเองนั้นถดถอยลงจนโลกค่อยๆกลืนกินเราไปจนเป็นที่มีความสามารถที่ไม่ต้องสนองการดำเนินชีวิตหรือการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันได้ ดังนั้นทุกคนจึงต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เปิดรับที่จะเรียนรู้ พัฒนาทักษะของตนเองได้ด้วยตนเองและตลอดเวลาด้วยนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญอีก 1 อย่างนั้นเอง นอกจากนั้นอยากจะฝากอีก 1 เรื่อง คือ ทุกคนจะต้องมีทักษะที่หลากหลายด้าน หรือเรียกว่า Multi-Skills เช่นกัน
- 7) Mindset & Motivation (ความคิด ทัศนคติและแรงจูงใจ) สิ่งที่อาจจะเป็น Key Point ที่อยากจะฝากเอาไว้ท้ายสุด คือ หากความคิด ทัศนคติและแรงจูงใจไม่สามารถขับเคลื่อนตัวเราเองได้ ไม่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจได้และไม่สามารถขับเคลื่อนทีมงานได้ ข้ออื่นๆ ที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะว่าความคิด แรงจูงใจจะเป็นแรงผลัดดันให้เรายังคงสามารถสามารถก้าวข้ามและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ของเราได้ หากยังคงไม่หยุดและท้อถอยไปก่อนนั้นเอง