กกร.มอง ศก.ไทยปีนี้ดีขึ้น เติบโต 0 - 1%
11 Oct 2021

 

กกร.ปรับประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ดีขึ้นเป็น 0 -1% เผยผลกระทบจากน้ำท่วม 1.5 หมื่นล้านบาท และกำลังรวบรวมประเด็นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการเงิน การคลัง และภาษี และส่งหนังสือเพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีภายในสัปดาห์นี้ พร้อมเตรียมทำทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รมว.กระทรวงการต่างประเทศ และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ขอให้รัฐบาลเร่งเข้าร่วมการเจรจา CPTPP มิฉะนั้น จะต้องเจรจากับอีก 3 ประเทศจากเดิม 11 ประเทศ

 

ปัจจัยบวก

ผลจากการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งมีผู้ร่วมประชุม คือ คุณผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย, คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ และคุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ชี้ถึงปัจจัยบวกที่ทำให้ กกร.ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้จากเดิมที่อยู่ในแดนลบ -0.55% ถึง -1% มาอยู่ในแดนบวกเป็น 0 - 1% ซึ่งประกอบด้วย

           

1) สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อในปัจจุบันทรงตัวถึงลดลง อีกทั้งภาครัฐมีแผนการจัดหา/จัดสรรวัคซีนที่ชัดเจน มีการกระจายวัคซีนไปต่างจังหวัดมากขึ้น

 

2) การผ่อนคลายกฎเกณฑ์และมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ

ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถเปิดดำเนินการได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ทั้งนี้ ต้องจับตามองมาตรการผ่อนคลายที่จะออกมากลางตุลาคม -  ต้นพฤศจิายนต่อไป

 

3) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ที่จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ที่ขยายสิทธิเพิ่มอีก 2 ล้านสิทธิจะเป็นแรงเสริมภาคการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น และน่าจะเป็นแรงเสริมให้ภาพรวมเศรษฐกิจปลายปีดีขึ้น อีกทั้งอยากเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการเสริมทั้ง 'ช้อปดีมีคืน' และเติมเงินให้ 'คนละครึ่ง' เพิ่มเติมอีก เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น

 

4) แผนการเปิดประเทศ

แม้ว่าจะมีเวลาเพียงสองเดือนนับจากนี้ และจำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะมีไม่มากในปีนี้ ทว่า แผนการเปิดประเทศที่รัฐบาลประกาศไว้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีและสร้างความเชื่อมั่นในระยะต่อไป ซึ่ง กกร. กำลังรวบรวมประเด็นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการเงิน การคลัง และภาษี และส่งหนังสือเพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีภายในสัปดาห์นี้

 

ปัจจัยลบ

1) สถานการณ์น้ำท่วมของประเทศ  

แม้ว่าหลายพื้นที่จะเริ่มมีระดับน้ำลดลงบ้าง แต่ยังคงมีพื้นที่เฝ้าระวังหลายแห่ง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลาง โดยเบื้องต้นประเมินว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือราว 0.1% ของจีดีพี และคาดว่าจะส่งผลกระทบกับภาคการเกษตรประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยจะส่งผลกระทบกับพืชผลทางการเกษตร อาทิ ข้าว ยาง ปศุสัตว์ ฯลฯ และต้นทุนของการดำเนินธุรกิจการเกษตรแปรรูป ที่สูงขึ้นจากสินค้าเกษตรที่ราคาแพงเนื่องจากผลผลิตเสียหาย และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น  

 

2) เงินบาทอ่อนค่า+ปัญหาราคาน้ำมัน

ปีนี้ถือเป็นปีที่ท้าทาย เนื่องจากราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิต การขนส่ง การเดินทางของภาคธุรกิจ ตลอดจนประชาชนในวงกว้าง ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ต้นทุนนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซพุ่งขึ้นในอัตราเร่ง ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค้าจะส่งผลดีต่อธุรกิจส่งออก

แต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายสาขาได้รับผลกระทบตามมา แม้ว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)  จะมีมติลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนน้ำมันดีเซล เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และคาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในขาขึ้น ซึ่งรัฐต้องวางแผนบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เป็นซ้ำเติมเศรษฐกิจ อีกทั้งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

3) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)

ในตลาดโลกที่เร่งตัวขึ้นอย่างมาก อันเนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง, อุปทานตึงตัว และการลดกำลังการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่นโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero Emissions) ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้า/บริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมถึงทำให้อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวทั่วโลกปรับตัวขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจตัดสินใจลดการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเร็วกว่าที่ประเมินไว้ส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนไปในทิศทางอ่อนค่าได้ในระยะต่อไป

 

มองดี แต่ยังไม่วางใจ

ทั้งนี้ แม้ที่ประชุม กกร. จะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ 0.0 % ถึง 1.0% แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและตัวเลขการติดเชื้อหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปอีกระยะ ส่วนการส่งออก กกร. คาดว่าจะขยายตัว 12 - 14.0% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี ภายใต้เงื่อนไขค่าระวางเรือที่ไม่สูงจนเกินไป สามารถควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานได้ทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1- 1.2%

 

ข้อเสนอแนะ

ทั้งนี้ กกร. ได้มีประเด็นข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ดังนี้

1) เร่งดำเนินการเรื่อง CPTPP ของประเทศไทย

  • กกร.ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าร่วมการเจรจา CPTPP โดยทาง กกร. จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รมว.กระทรวงการต่างประเทศ และรมว.กระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาของภาคเอกชน และเร่งรัดการพิจารณา เนื่องจากปัจจุบัน จีน, สหราชอาณาจักร และไต้หวัน แสดงเจตจำนง เพื่อเข้าร่วมเจรจากับ CPTPP อย่างชัดเจนแล้ว และหากไทยยังล่าช้าไปกว่านี้อาจทำให้ต้องเจรจาตามเงื่อนไขของทั้ง 3 ประเทศ เพิ่มเติมเป็น 14 ประเทศสมาชิก CPTPP จากเดิมที่จะต้องเจรจากับ 11 ประเทศ และจะทำให้ไทยเสียโอกาส
  • กกร. จะขอให้กระทรวงการต่างประเทศ โดยคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศจัดประชุมเสวนา เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมโดยเร็ว รวมถึงนำเสนอผลการศึกษาของภาคเอกชน เพื่อสร้างความเข้าใจในภาพรวมของการเข้าร่วมเจรจา CPTPP ของไทย ต่อไป
  • สำหรับการแข่งขันทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์  ก่อนหน้านี้ กกร. ได้เคยทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ถึงจุดยืนของภาคเอกชนและผลการศึกษาของภาคเอกชน เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาของภาครัฐไปแล้ว

2) แนวทางการแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA)

  • กกร. จะเสนอแนวทางให้รัฐบาลแต่งตั้งให้มีตัวแทนภาคเอกชน (กกร.) ร่วมในกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และคณะกรรมการชุดย่อยอื่นๆ รวมถึงพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้มาตราที่เกี่ยวกับบทลงโทษ (หมวดที่ 6 และหมวดที่ 7) ออกไปเป็นเวลาอีก 3 ปี และพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมและไม่อุปสรรค

 

3. ผลักดันและสนับสนุนการผลิตและบริโภคสินค้า/บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

  • ขอให้กรมบัญชีกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า/บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เป็นภาคบังคับและผลักดันให้บัญชีสินค้าที่ได้รับการรับรองฉลาก'อีโค่พลัส'อยู่ในบัญชีรายชื่อสินค้า/บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบ คุมมลพิษเป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน
  • ขอให้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตและจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ได้รับการรับรอง 'อีโค่พลัส'
  • ขอให้สนับสนุนภาคเอกชนที่ผลิตและจัดซื้อจัดจ้างสินค้า/บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้รับการลดหย่อนภาษี 2 เท่า

 

[อ่าน 1,934]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Valentine’s Item! สมูทอีคอลแลปส์หลิง-ออม เปิดตัว “Smooth E x Ling-Orm Exclusive Valentine’s Box Set”
LPN มุ่งสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน เดินหน้าสร้าง Carbon Neutrality
SCG ร่วมกับสภาอุตฯ ชวนผู้ประกอบการสัมผัสนวัตกรรม Low Carbon และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม 4.0
ไฮเออร์ ประเทศไทย ยิ้มรับปี 68 กวาดรายได้ปี 67 โต 11,000 ล้านบาท
เอ็ม ดิสทริค จับมือพันธมิตรสร้าง มอบอภิมหาโปรโมชั่น ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีมะเส็งสุดยิ่งใหญ่
ORI โชว์พอร์ต Joint Venture พาร์ทเนอร์แกร่ง ตอกย้ำกว่า 7 ปี - 119 โครงการ - 1.86 แสนล้านบาท
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved