สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน) จัดงาน “GIT Research Day : สัมมนาเผยแพร่ความสำเร็จของงานวิจัยของสถาบันเพื่อสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย โดยการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยถ่ายทอดไปสู่ผู้ประกอบการ และนักวิชาการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถ และตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่จะนำไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีศักยภาพอย่างยั่งยืน
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (จีไอที) กล่าวว่า
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับต้นๆ และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ภาครัฐให้ความสำคัญ ทั้งในด้านการวิจัยพัฒนาและการส่งเสริมการส่งออก
โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน) เป็นกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในทุกมิติ
สถาบันในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจหลัก ในการดำเนินงานวิจัย และพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจร และสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ได้เล็งเห็นความสำคัญ ในการส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านอัญมณีและเครื่องประดับ
จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆในการดำเนินโครงการวิจัยหลากหลายด้าน ที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการวิเคราะห์ตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ โลหะมีค่า การพัฒนามาตรฐานด้านอัญมณีและเครื่องประดับ และการเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันได้จัดงาน GIT Research Day : งานสัมมนาเผยแพร่ความสำเร็จของงานวิจัยสถาบัน เพื่อสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยของสถาบันสู่ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งสถาบันได้คัดเลือกโครงการวิจัยที่ดำเนินการจนได้ผลสำเร็จในระหว่างปี 2563 -2564 จำนวน 9 โครงการ
โดยได้รับเกียรติจากคณะนักวิจัย ทั้งจากหน่วยงานรับทุน และ หน่วยงานภายในสถาบันเอง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา และ หน่วยงานพันธมิตรหลากหลายแห่ง ในหัวข้อต่างๆ ได้แก่
(1) เทคนิคการตรวจสอบเพชรสังเคราะห์ CVD เพื่อมาตรฐานรองรับการให้บริการในภาคอุตสาหกรรม
(2) ยกระดับมาตรฐานการวิเคราะห์แหล่งกำเนิดอัญมณีด้วยฐานข้อมูลอัจฉริยะ
(3) มาตรฐานสีพลอยพัดพารัดชา เพิ่มมูลค่าอัญมณีและเครื่องประดับไทย
(4) ตลาดเครื่องประดับดิจิทัล: ทิศทางและแนวโน้มตลาดดิจิทัลอัญมณีไทยสู่สากล
(5) GIT Standard : ยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า
(6) การวิเคราะห์ความหนางานชุบพื้นผิวโลหะมีค่า ด้วยวิธีเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์
(7) กระบวนการฉีดขึ้นรูปผงโลหะเงิน : ทางเลือกใหม่ในการขึ้นรูปเครื่องประดับเงินไทย
(8) การพัฒนาเบ้าบิสมัทสำหรับกระบวนการ Fire Assay
(9) การเคลือบฟิล์มกลุ่มโลหะมีค่าด้วยการใช้เทคนิคไฮเพาเวอร์อิมพัลส์แมกนีตรอนสปัตเตอริง (ไฮพิมส์)
“GIT จะผลักดันพัฒนาและยกระดับงานวิจัยด้านอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า โดยบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ สถาบันการศึกษาเพื่อดำเนินงานวิจัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม อันจะนำไปสู่การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก” นายสุเมธ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทร. 02 634 4999 ต่อ 451-453 และ www.git.or.th