1 ธันวาคม 2564: กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)) เปิดตัวแพลตฟอร์ม Open API ที่ก้าวล้ำไปอีกขั้น เชื่อมต่อคู่ค้าในอีโคซิสเต็มของธนาคารเข้ากับบริการดิจิทัลต่างๆ อาทิ การเติมเงินวอลเล็ต โอนเงิน ชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ รีวอร์ด สินเชื่อ ฯลฯ โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ พร้อมยกระดับประสบการณ์ลูกค้า รวมถึงสนับสนุนเป้าหมายของธนาคารในการทำให้บริการธนาคารเป็นเรื่องง่าย และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของลูกค้า โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจระยะกลางปี 2564-2566 ของกรุงศรี ทั้งนี้ การมุ่งเน้นที่การเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้านลูกค้าธุรกิจ ผ่านการสร้างอีโคซิสเต็มของธนาคารที่รองรับความต้องการของลูกค้าธุรกิจ จะผลักดันให้กรุงศรีเป็นสถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน
แพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับ IBM Consulting บน Red Hat OpenShift นี้ ช่วยให้อีโคซิสเต็มธุรกิจของกรุงศรี ไม่ว่าจะเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจด้านการเดินทาง ไลฟ์สไตล์ ประกันภัย และอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถมอบบริการทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นและตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลแก่ลูกค้า ผ่านสถาปัตยกรรมระบบที่มีความปลอดภัยทันสมัย และเป็นระบบเปิด แพลตฟอร์ม Open API ของกรุงศรียังตอกย้ำการเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลก้าวล้ำที่สุดในภูมิภาคนี้ของธนาคาร
82% ของธุรกิจในประเทศไทยทำงานร่วมกับธนาคารคู่ค้าในการช่วยให้ธุรกิจก้าวทันนวัตกรรมเทคโนโลยีการเงิน รวมถึงการพัฒนากลยุทธ์และโซลูชันที่เหมาะกับองค์กร โดยวันนี้ ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคถึง 48% ได้เริ่มนำ API เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงก้าวย่างดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันภายใต้กระแสดิสรัปชันที่รุนแรงในปัจจุบัน [1]
ล่าสุดแบรนด์ทั้งในประเทศและในอาเซียน อาทิ เงินติดล้อ (TIDLOR) ได้เข้าร่วมแพลตฟอร์ม Open API ของกรุงศรีแล้ว เพื่อรองรับการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าอย่างรวดเร็ว แพลตฟอร์มของกรุงศรียังมอบบริการโอนเงินระหว่างประเทศให้แก่สถาบันการเงินในลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ การเชื่อมต่อระบบเข้ากับแพลตฟอร์มผู้ให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระหว่างประเทศ NIUM ยังทำให้ 13 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และหลายประเทศในยุโรป สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้
สยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
“ดิสรัปชันอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแรงผลักดันให้องค์กรต้องเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่เราต้องทบทวนและปรับกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมและอีโคซิสเต็มใหม่ เพื่อแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆให้แก่ลูกค้า วันนี้กรุงศรีกำลังก้าวนำการเปลี่ยนแปลงด้วยการ ทรานส์ฟอร์มเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไปสู่สถาปัตยกรรมไอทียุคใหม่ เพื่อสนับสนุนแผนการขยายธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ภายใต้อีโคซิสเต็มของกรุงศรี ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเชื่อมต่อกับบริการของธนาคารได้อย่างไร้รอยต่อและสมบูรณ์ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ปลอดภัยและเป็นระบบเปิด กรุงศรีให้ความสำคัญกับความรวดเร็วในการดำเนินงาน รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่มุ่งเน้นผู้บริโภคเป็นหลัก โดยสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวสร้างความแตกต่างให้กับเรา ความแตกต่างที่กรุงศรีมุ่งมั่นพัฒนานี้จะช่วยสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าในทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่ม SME ลูกค้าองค์กร ไปจนถึงกลุ่มลูกค้า JPC/ MNC โดยกรุงศรีมีเป้าหมายในการช่วยให้ลูกค้าเติบโต และพร้อมเดินหน้าส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินที่เหนือชั้นให้กับลูกค้าทั่วประเทศไทย”
“แพลตฟอร์ม Open API ช่วยให้กรุงศรีและอีโคซิสเต็มคู่ค้าของธนาคารสามารถสร้าง เปิดใช้ บริหารจัดการ และสร้างรายได้จาก API ขณะที่ยังรักษาความเป็นส่วนตัวของลูกค้าไว้ได้อย่างปลอดภัย และมีการนำนโยบายด้านความปลอดภัยมาตรฐานเดียวกันมาใช้ทั่วทั้งสภาพแวดล้อมไฮบริดคลาวด์”
สวัสดิ์ อัศดารณ Managing Partner และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ IBM Consulting ของไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าว
“ต่อไปอนาคตของธนาคารจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริการเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับคุณค่าของบริการที่ธนาคารสร้างขึ้นสำหรับลูกค้าและอีโคซิสเต็มคู่ค้าด้วย วันนี้กรุงศรีกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่ง ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ด้วยแพลตฟอร์ม Open API”
การใช้สถาปัตยกรรม zero trust และหลักการ zero trust บนแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยกำหนดให้มีผู้ใช้ที่มีสิทธิในการเข้าระบบน้อยที่สุดและตรวจสอบการเข้าระบบทุกครั้ง ช่วยให้กรุงศรีสามารถตรวจจับพฤติกรรมที่ผิดปกติของผู้ที่เข้าใช้ระบบ มอนิเตอร์การตั้งค่าระบบคลาวด์ที่ผิดพลาด และบังคับใช้นโยบายด้านความปลอดภัยผ่านเทคโนโลยีออโตเมชันได้ ซึ่งช่วยให้การทำงานของแพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นไปอย่างสอดคล้องกับกฎข้อบังคับที่กำกับดูแลอยู่เสมอ