เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถให้เห็นกันอีกครั้งในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ Covestro Innovation Design Contest 2021 (IDC 2021) โครงการประกวดออกแบบนวัตกรรม “สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station)” ภายใต้แนวคิด “เสริมพลังสู่เส้นทางการหมุนเวียนอย่างยั่งยืน (Recharge to a Fully Circular Way)” เพื่อผลักดันไอเดียนวัตกรรมการใช้พลังงานสะอาดและการหมุนเวียนอย่างมีคุณค่า
จัดโดย โคเวสโตร ผู้นำด้านวัสดุ โพลิเมอร์ระดับโลก ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลงาน KMUTT CHARGING STATION มีความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรม ตอบโจทย์การใช้งาน EV Car และสามารถนำแนวคิดไปพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตเพื่อใช้งานได้จริง รวมถึงยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกของผู้ใช้งานในด้านต่างๆ อีกด้วย
โครงการประกวดออกแบบนวัตกรรม Covestro Innovation Design Contest 2021 (IDC 2021) ได้ประกาศผลรางวัลผู้ชนะเลิศจากเวทีการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่จัดขึ้นเพื่อเฟ้นหาทีมนักศึกษาที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย และสามารถนำเสนอไอเดียการออกแบบ “สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station)” ภายใต้แนวคิด “เสริมพลังสู่เส้นทางการหมุนเวียนอย่างยั่งยืน (Recharge to a Fully Circular Way)” ได้อย่างตอบโจทย์ทั้งทางด้านไอเดียเชิงนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และความยั่งยืน รวมถึงความเป็นไปได้ในการนำไปพัฒนาเพื่อการใช้งานได้จริงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนระดับปริญญาตรีทั่วประเทศ ได้แสดงศักยภาพด้านการคิดและพัฒนานวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ ชิงทุนการศึกษารวมกว่า 185,000 บาท โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายหน่วยงาน ได้แก่ นายวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายพิชิต พงษ์ประเสริฐ หัวหน้างานพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), นายชาญณรงค์ แก่นทอง นายกสภาสถาปนิก รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด ได้แก่ นางสาวกวิสรา วรรธนะพิศิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรประจำภูมิภาคอาเซียน และนายชัยยุทธ แจ้งเจนรบ ผู้จัดการโรงงาน ศูนย์การผลิตโพลีคาร์บอเนต ร่วมให้เกียรติเป็นคณะกรรมการตัดสิน
(ซ้าย) ดร.ทีโม่ สลาวินสกี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด
(ขวา) คุณวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ดร.ทีโม่ สลาวินสกี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โคเวสโตร ได้จัดการประกวดในโครงการนี้มาต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้วในปีนี้ ด้วยความตั้งใจและวัตถุประสงค์ที่มุ่งขับเคลื่อนแนวคิดเชิงนวัตกรรมให้กับเยาวชนเด็กรุ่นใหม่ เปิดเวทีให้น้องๆ ได้แสดงศักยภาพและความสามารถทางความคิด ไอเดียเชิงนวัตกรรม และการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนและสังคมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป พร้อมๆ กับการส่งเสริมความยั่งยืน ซึ่งหัวข้อการแข่งขันปีนี้มีความน่าสนใจและค่อนข้างท้าทายมากที่นักศึกษาจะได้แสดงไอเดียออกแบบสถานีชาร์จ EV ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และทางโคเวสโตรเอง ก็มุ่งเน้นแนวคิดไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน และพยายามอย่างมากในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดสายการผลิตทั้งหมดของเรา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และเราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกคือกุญแจสำคัญในการเปิดโอกาสให้เราได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำเราไปสู่โลกที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนในการดูแลรักษาโลกของเรา ถึงแม้ว่าโครงการ IDC จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยส่งเสริมแนวคิดเชิงนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนความยั่งยืน แต่เราเชื่อว่าความพยายามนี้พร้อมกับการจับมือร่วมกับองค์กรต่างๆ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความยั่งยืน พร้อมส่งมอบโลกที่น่าอยู่นี้ไปยังคนรุ่นต่อไปในอนาคตของได้”
“และผมขอแสดงความยินดีกับน้องๆ นักศึกษาทุกทีมที่ได้รับรางวัลจากเวทีการแข่งขันในปีนี้ และขอชื่นชมทุกคนที่มองเห็นปัญหา และหาแนวทางการแก้ไข ร่วมกันนำเสนอไอเดียดีๆ ในการออกแบบ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นโจทย์ของปีนี้ ซึ่งเราอยากเห็นแนวคิดใหม่ๆ ที่ยอดเยี่ยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต และขอขอบคุณทาง EGAT อีกครั้งที่มีเป้าหมายและร่วมกันสนับสนุนแคมเปญนี้ด้วยกัน” ดร.ทีโม่ กล่าวทิ้งท้าย
คุณวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้กล่าวถึงแนวโน้มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังก้าวเข้ามามีบาทบาทสำคัญในโลกและในประเทศไทย ซึ่งกำลังร่วมกันหาแนวทางการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก และโจทย์ของโครงการ IDC 2021 นี้ถือได้ว่าจะมีประโยชน์กับสังคมในวงกว้าง “ถ้าไอเดียการออกแบบสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของน้องๆ จะช่วยส่งเสริม และทำให้คนอยากหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาด และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศให้กับโลกได้ นั่นคือประโยชน์ที่น้องๆ สามารถสร้างให้กับโลกใบนี้” คุณวฤต กล่าว
ผลงานของผู้เข้าแข่งขันทั้ง 6 ทีมที่ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบสุดท้าย ได้แสดงถึงศักยภาพ ทั้งแนวคิดในการตอบสนองต่อปัญหาที่เป็นอยู่และความความคิดสร้างสรรค์ในออกแบบนวัตกรรม “สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station)” ซึ่งตอบโจทย์เกณฑ์การตัดสินได้เป็นอย่างดีเยี่ยม รวมถึงรูปแบบการนำเสนอผลงานของแต่ละทีมที่มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน สร้างความความประทับใจให้กับคณะกรรมการตัดสินเป็นอย่างมาก โดยผลงาน “KMUTT CHARGING STATION” ของที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง โดยได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษามูลค่า 80,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตร
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน DENOTOL จาก ทีมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตร พร้อมทุนการศึกษาจำนวน 50,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน Camellia Charging Station จาก ทีมมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตร พร้อมทุนการศึกษามูลค่า 30,000 บาท
นอกจากนี้ รางวัลชมเชยอีก 3 รางวัล ประกอบด้วย ผลงาน ECO-FRIENDLY MINI EV CHARGING STATION จาก ทีมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง, ผลงาน Power Treecharge จาก ทีมมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผลงาน Green Tower Station จาก ทีมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้รับทุนการศึกษา รางวัลละ 5,000 บาท และรางวัล Popular Vote ทีมที่มีผู้ชื่นชอบได้รับการโหวตมากที่สุด คือผลงาน DENOTOL จาก ทีมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รับทุนการศึกษาพิเศษ 10,000 บาท