สสว.เปิดโครงการยกระดับผู้ประกอบการรายย่อย ปีงบประมาณ 2565 ผลักดันเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบภาครัฐ ด้านมาตรฐานสินค้าและเทคโนโลยีดิจิทัล ตั้งเป้ากว่า 1,300 รายทั่วประเทศ ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในยุค New Normal และ Next Normal ผสาน 5 หน่วยร่วม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สถาบันอาหาร และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ณ ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ มทร.ธัญบุรี บางซื่อจังชั่น จตุจักร
รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศไทย ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และการเข้าสู่ระบบของภาครัฐ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ประกอบการ และดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในยุค New Normal และ Next Normal โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องอาศัยเงินหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับโครงการยกระดับผู้ประกอบการรายย่อย หรือ MSME Step up ปีงบประมาณ 2565 จะมุ่งเน้นผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องการการส่งเสริมและยกระดับในด้านต่างๆ โดยให้ความรู้และสร้างทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ การเลือกใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำการตลาดยุคดิจิทัล การยกระดับมาตรฐานสินค้า การทำบัญชีที่ถูกต้อง เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยโครงการดังกล่าว มีด้วยกันทั้งหมด 2 กิจกรรมหลัก และมีหน่วยร่วมดำเนินการดูแลเป็นการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ กิจกรมแรกเป็นการยกระดับ SME ด้านมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน อย.กฎระเบียบ ข้อบังคับ ขั้นตอนการขอมาตรฐาน อย. การทำฉลากโภชนาการ การประเมินสถานที่ผลิต และให้คำปรึกษาในการเตรียมยื่นขอมาตรฐาน อย. โดยสถาบันการอาหารเป็นผู้ดูแลจำนวน 200 ราย ทั่วประเทศ
ส่วนอีกกิจกรรมคือกิจกรรมส่งเสริมการประกอบการเพื่อเข้าสู่ระบบของภาครัฐ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ดำเนินการ 4 พื้นที่ คือ (1) กรุงเทพมหานคร ภาคกลางและภาคตะวันออก 19 จังหวัด โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (2) ภาคเหนือ 17 จังหวัด โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (3) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ (4) ภาคใต้และภาคตะวันตก 21 จังหวัด โดยสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นกิจกรรมที่มุ่งให้ความรู้ และสร้างทักษะในการนําเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสื่อสาร การปฏิบัติงาน และการทำงานร่วมกัน หรือใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน หรือระบบงานในองค์กรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ จากนั้นจะมีการคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อสร้างประสบการณ์ในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในการประกอบการ พร้อมกิจกรรมส่งเสริมการขาย และผลักดันเข้าสู่ระบบภาครัฐ
ด้าน รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ในฐานะหน่วยร่วมดำเนินการฯ กล่าวว่า ในส่วนของ มทร.ธัญบุรี จะดูแลผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ซึ่งเราได้รับความเชื่อมั่นจาก สสว.ให้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2560 ที่ถือเป็นการให้บริการวิชาการหรือนวัตกรรม แก่ภาคประกอบการเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม ชุมชม และสังคม สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของ มทร.ธัญบุรี ในการเคียงข้างชุมชน สังคมและผู้ประกอบการ และเชื่อมั่นว่าโครงการ MSME Step up ปีงบประมาณ 2565 นี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจและยืนหยัดต่อไปในท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19
ขณะที่ นายนิติ วิทยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.ธัญบุรี ในฐานะผู้แทนหน่วยร่วมดำเนินการฯ กล่าวเสริมว่า กิจกรรมยกระดับเอสเอ็มอีด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและมาตรฐานสินค้านี้ มุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามายกระดับการประกอบธุรกิจ พร้อมทั้งเพิ่มกระบวนการสร้างประสบการขายผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้มียอดขายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมการเข้าสู่ระบบการค้าภาครัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการซื้อขายกับหน่วยงานภาครัฐได้ตามมาตรการ SME-GP ของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ โดย มทร.ธัญบุรี รับผิดชอบดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาคกลางและภาคตะวันออก รวมทั้งหมด 19 จังหวัด คือ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว
ทั้งนี้ จากประสบการณ์การดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญจากคณาจารย์ ทีมวิทยากรมืออาชีพ จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมเห็นภาพชัดเจน ก่อให้เกิดแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะตัว สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้รับการยอมรับ และที่สำคัญสร้างยอดขายอย่างต่อเนื่อง
ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดและสมัครได้ที่