ประวัติศาสตร์ A&W (เอแอนด์ดับบลิว) แบรนด์ร้านอาหารจานด่วน สัญชาติอเมริกันอายุ 102 ปีถึงคราวสะดุดอีกครั้งหลังดำเนินธุกิจในประเทศไทยได้ราว 4 ทศวรรษ เมื่อ บมจ.โกลบอล คอนซูเมอร์ หรือ GLOCON (เดิมคือ บมจ. เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) หรือ NPPG) ประกาศปิดกิจการ เซ่นพิษโควิด-19 ที่ลากยาวจากปี 2563 หลังจากที่ GLOCON ทะยอยปิดธุรกิจร้านอาหารในพอร์ตของตนเองในช่วงก่อนหน้าทั้ง Kitchen Plus ในเดือนมกราคม 2565 และ Miyabi ปี 2563, ร้านขนมหวาน 'มิสเตอร์โจนออร์แฟเนจ' ในปี 2561
ทั้งนี้ GLOCON ได้มาซึ่งสิทธิแฟรนไชส์ของร้านอาหาร A&W ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียวเป็นระยะเวลา 20 ปี และทำสัญญาให้ บริษัท เอ็นพีพี ฟู้ด อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทย่อยของ NPP เป็นผู้บริหารงานต่อ รวมถึงการเข้าซื้อทรัพย์สินและสิทธิในการบริหารร้านอาหาร A&W ในประเทศไทยจาก บริษัท เอแอนด์ ดับบลิว เรสเตอรองต์ (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งหมด 21 สาขา ซึ่งจะทำให้บริษัทเป็นผู้บริหารร้านอาหาร A&W ทั้งหมดในประเทศไทย
แต่เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจร้านอาหาร A&W ในปี 2564 ขาดทุนถึง 70 ล้านบาท และตั้งสำรองสินทรัพย์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปิดกิจการอีก 90 ล้านบาท เช่นเดียวกับร้านอาหาร Kitchen Plus ที่ปิดสาขาที่เหลืออีก 2 สาขาในเดือนมกราคม 2565 ต้องตั้งสำรองอีก 68 ล้านบาท รวมทั้งหมด 160 ล้านบาท ส่งผลให้ปี 2564 GLOCON ขาดทุน 166 ล้านบาท จากรายได้รวม 1,193 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนเพิ่มขึ้น 189%
ก่อนหน้านี้ GLOCON ปรับกลยุทธ์ A&W ด้วยการเพิ่มช่องทางการขายนอกเหนือจากพื้นที่ขายในปั๊มน้ำมัน ด้วยการเข้าสู่ช่องทางร้านสะดวกซื้ออ่างเซเว่น-อีเลพเว่น หรืออยู่ใกล้ร้านสะดวกซื้อในย่านชุมชนที่มีความหนาแน่น และใกล้กับสถานศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก แต่กระนั้น A&W ก็ขาดทุนกว่า 40-50 ล้านบาทมาทุกปี โดยรายได้ในปี 2564 ขาดทุนกว่า 70 ล้านบาท และปี 2563 A&W มีรายได้ 98 ล้านบาท ลดลง 35.2% จากที่เคยทำได้ 53.2 ล้านบาทในปีก่อนหน้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากการลดจำนวนของสาขาที่ขาดทุนลง
อย่างไรก็ตามตำนาน A&W อาจได้ไปต่อ หากการเจรจาเพื่อรับช่วงบริหารต่อจาก GLOCON ประสบความสำเร็จเพราะ A&W ก็เป็นแบรนด์ QSR ที่มีจุดขายสำคัญจากวอฟเฟิลและรูทเเบียร์ ประเมินกันว่า ดีลซื้อแฟรนไชส์นี้จากผู้สนใจสามรายใหญ่น่าจะเสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้
สำหรับธุรกิจดาวรุ่งดวงใหม่ในพอร์ตโฟลิโอที่ GLOCON กำลังเตรียมปั้นต่อไปคือ ธุรกิจ Plant Based เมนูลาบทอด แบรนด์ EZYGO, ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันกัญชง (Hemp Seed Oil) และกลุ่มอาหารแช่เย็น (Chilled Food) และตั้งเป้าล้างขาดทุนสะสม ภายใน 1-2 ปีเพื่อให้สามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อีกครั้ง พร้อมตั้งเป้าการเติบโตในปี 2565- 2566 ปีละ 30% โดยเป็นแผนประมาณการที่รวมการซื้อกิจการ (M&A) เข้าไปด้วย
พร้อมกันนี้ GLOCON ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อออกและเสนอขายหุ้นกู้มีประกันของบริษัท ครั้งที่ 1/2565 มูลค่าไม่เกิน 300 ล้านบาท มีอายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 7.25% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ ระหว่างวันที่ 21-24 กุมภาพันธ์ 2565 ผ่านบล.บียอนด์ และบล.คิงฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ โดยไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้ เพื่อ นำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อใช้ลงทุนซื้อหุ้นสามัญของบริษัท พงษ์-ศรา ดิสทริบิวชั่น จำกัด และบริษัท พงษ์-ศรา แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด จำนวน 250 ล้านบาท และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท 50 ล้านบาท