ด้วยพันธกิจของ ‘พฤกษา’ ที่มุ่ง ‘เติบโตอย่างยั่งยืน’ ภายใต้แนวคิด ESG ทั้งมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจสองสายหลักของตนเองให้เคียงข้าง และสนับสนุนกันไปทั้ง ‘ธุรกิจเรียลเอสเตท’ ซึ่งเป็นธุรกิจเดิมของบริษัทฯ กับ ‘ธุรกิจสุขภาพ’ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้ บริษัท วิมุต เวลเนส เซอร์วิส จำกัด
ทั้งนี้ อุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง ได้คลี่เส้นทางยุทธศาสตร์ดังกล่าวของ ‘พฤกษา โฮลดิ้ง’ ทั้งธุรกิจเรียลเอสเตท และธุรกิจสุขภาพ ทั้งการขยายตัวทางกายภาพและด้วยแนวทาง Prop Tech และ Health Tech ตลอดจนการเดินทางสู่ความยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
‘วิมุต เวลเนส’ คือ หนึ่งในโฟกัสที่พฤกษาใช้ขับเคลื่อนคู่กับธุรกิจอสังหาฯใช่หรือไม่
ในฐานะที่เราเป็นธุรกิจพัฒนาที่ดิน เราต้องการกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุน โดยในส่วนของเฮลธ์แคร์ เรามุ่งพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มให้มากที่สุด และเราต้องการขยายโรงพยาบาลวิมุต และศูนย์สุขภาพให้มากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น สำหรับ ‘วิมุต เวลเนส’ ที่ ‘พฤกษา อเวนิว’ ย่านบางนา-วงแหวนนี้ เราต้องการทำให้เป็นโครงการนำร่อง โดยได้ลงทุนไปกว่า 100 ล้านบาท จากเดิมที่ในปีนี้ โรงพยาบาลวิมุต ในเครือพฤกษาโฮลดิ้งได้ร่วมมือกับ ‘เจเอเอส แอสเซ็ท’ (JAS) จัดตั้ง Serena ViMUT Health Service ซึ่งเป็นโครงการศูนย์ฟื้นฟูและดูแลสุขภาพสำหรับครอบครัวและผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและพึ่งพิงสูง และเป็นศูนย์ฯ ที่ตั้งติดกับคอมมูนิตี้มอลล์ JAS Green Village ที่ถนนคู้บอน
ขณะที่ ‘วิมุต เวลเนส’ นั้นตั้งขึ้นจากพื้นฐานความคิดที่ต้องการสร้างสถานพยาบาลเพื่อดูแลผู้สูงอายุในโครงการ แต่ Insight ของผู้สูงอายุ คือ ความกังวลว่าลูกหลานอาจจะทอดทิ้งตนเองหากนำไปฝากไว้ที่ใดที่หนึ่ง ดังนั้นการตั้งศูนย์ดังกล่าวที่หน้าโครงการจึงได้ผลตอบรับที่ดีมากๆโดยเฉพาะกรณีที่มีเคสฉุกเฉิน เนื่องจากลูกหลานสามารถรับ-ส่งได้สะดวกช่วงก่อน-หลังทำงาน ขณะเดียวกัน หากไม่สะดวกรับส่ง ทางศูนย์ฯ ก็มีบริการรับ-ส่งถึงบ้านด้วย นอกจากนี้ ผู้สูงอายุจะมีกิจกรรมในชีวิตประจำวันน้อย แต่
การดูแลผู้สูงอายุที่ศูนย์ฯ จะมีกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น ว่ายน้ำ เดินเป็นกลุ่มได้พูดคุยกันเป็นกลุ่ม สร้างความสนิทสนม เพื่อให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกว่าอยู่บ้านหรืออยู่คนเดียว แต่มีเพื่อน สร้างชุมชนของตนเอง และสร้างความสุขได้ นอกจากนี้ เราอยู่ระหว่างการพัฒนา ‘ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง’ (Caregiver) ถึงบ้าน ด้วยการใช้ Data Analytics เพื่อคัดเลือก Caregiver ที่มีจิตวิทยาสูง ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุคลายกังวลและได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ
มีแผนขยาย ‘วิมุต เวลเนส’ เพิ่มเติมอีกหรือไม่
ตั้งเป้าว่า ในปี 2566 จะขยายเพิ่มอีก 4 สาขาโดยจะเริ่มกับทำเลที่อยู่ในหมู่บ้าน และเราได้เตรียมงบลงทุนแต่ละสาขาไว้ประมาณ 90-100 ล้านบาท แต่เวลาทำจริงอาจไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากเช่นเดียวกับสาขาคู้บอนก็ได้ ถ้าผลการตอบรับจากตลาดภายในระยะเวลา 1.5 - 2 ปีดีก็จะขยายสาขาอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป
พฤกษามอง Smart Living ว่าเป็นอย่างไร เปลี่ยนไปแค่ไหน
สำหรับ ‘สมาร์ทโฮม’ นั้น กล่าวได้ว่า พฤกษาเป็นบริษัทแรกๆที่ออกมาเปิดตัวเรื่องสมาร์ทโฮมโซลูชั่น เพียงแต่ ณ วันนี้ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมากและรวดเร็วด้วย เราจึงต้อง ‘คิดใหม่ ทำใหม่ สร้างใหม่’ เพราะเป้าหมายของการพัฒนาสมาร์ทโฮมโซลูชั่นนั้นต่างจากในอดีตที่มักจะโฟกัสกับระบบอัตโนมัติ (Automation) ต่างๆ เช่น สั่งเปิด-ปิดประตู หรือ สั่งเปิดเครื่องปรับอากาศก่อนเข้าบ้าน ฯลฯ
แต่ปัจจุบันด้วยตัวแปรที่เปลี่ยนไป การสั่งเปิดเครื่องปรับอากาศก่อนถึงบ้านจะไม่ใช่แล้ว เพราะค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ดังนั้นในมุมของลูกค้า การเข้าบ้านแล้วค่อยเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นเรื่องที่รอได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องการจากระบบอัตโนมัติในวันนี้ อาทิ ต้องการให้เครื่องปรับอากาศตัดเองโดยอัตโนมัติหากเย็นเกินไป เพื่อใช้ไฟฟ้าน้อยลง หรือสำหรับตัวบ้านก็ต้องการให้บ้านสามารถเก็บความเย็นจากเครื่องปรับอากาศได้นานขึ้น
ฉะนั้น ถ้าใช้วัสดุก่อสร้างที่สามารถเก็บความเย็นได้ก็จะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 40-50% และสามารถปิดเครื่องปรับอากาศก่อนเวลาได้ ฯลฯ จะเห็นได้ว่า แนวคิดของ Smart Home Solution จึงเปลี่ยนจาก Automation มาเป็น Performance และ Smart Living Solution เพื่อการประหยัดค่าใช้จ่ายและความสะดวกสบาย ไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ
PropTech, HealthTech คือ จิ๊กซอว์ส่วนใดของพฤกษา
ในภาพรวม PropTech, HealthTech เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน เพราะเราพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ดังนั้น เราจึงต้องมี PropTech เพื่อเชื่อมต่อ แต่ด้วยว่า พฤกษา มีทั้งธุรกิจเรียลเอสเตท และธุรกิจเฮลธ์แคร์ จึงมีโจทย์ที่จะต้องเชื่อมสองส่วนนี้ เข้าด้วยกัน เช่น จะสามารถเอาบริการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีจากโรงพยาบาล และความสะดวกสบายจาก Performance ของบ้านมาให้ลูกบ้านได้แค่ไหน
นอกจากนี้ ในส่วนของสุขภาพนั้น เราเชื่อในพื้นฐานความคิดที่ว่า การดูแลรักษาสุขภาพเพื่อป้องกันมิให้เจ็บป่วยจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าค่ารักษาพยาบาลถึง 6 เท่า ดังนั้นพฤกษาจึงลงทุนทางด้าน Preventive Wellness เพื่อการดูแลเชิงป้องกันมิให้เจ็บป่วย ด้วยศูนย์ ViMUT Wellness ซึ่งเป็นการดูแลผู้คนในมิติสังคม
ที่ผ่านมา พฤกษาได้ขยายฐานทางด้านเฮลธ์แคร์อย่างไร
อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า พฤกษา ลงทุนทางด้าน Preventive Wellness ล่าสุดเราได้ร่วมทุนกับ AMILI (อามิลี่) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพด้านจุลชีพในลำไส้ที่มีความแม่นยำมากที่สุดแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อต่อยอดนำเทคโนโลยีมาใช้ ยกระดับบริการของโรงพยาบาลวิมุตและเทพธารินทร์ พร้อมศึกษาการร่วมก่อตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยไมโครไบโอ
ในระบบทางเดินอาหารแห่งแรกของประเทศไทย เพราะการตรวจเชื้อจุลชีพในลำไส้เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์แนวใหม่ที่จะช่วยไขความลับและป้องกันการเกิดปัญหาด้านสุขภาพเชิงรุกก่อนการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องรวดเร็วและแม่นยำ เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยนำเรื่องนี้เข้ามาศึกษา ตั้งแต่ปัญหาการนอนไม่หลับ น้ำหนักขึ้น ความดัน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ปัญหาสุขภาพจิต นั่นเพราะจุลชีพในลำไส้ขาดความสมดุล ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตกับภาครัฐ เพื่อนำเข้ามาบริการในประเทศไทยเป็นแห่งแรก คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการได้ปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า
นอกจากนี้ ก็เป็นการร่วมทุนกับ NALURI (นัลลูรี่) สตาร์ทอัพ HealthTech สัญชาติมาเลเซีย เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ พร้อมทั้งสามารถต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพ เพื่อยกระดับบริการแก่ลูกบ้านพฤกษาและโรงพยาบาลวิมุต
ส่วน บริษัทล่าสุด คือ บริษัท คลิก ซิ จำกัด บริษัทย่อยที่ทำหน้าที่เป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท โดยมี บริษัท ซินเนอร์จี โกรท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่พฤกษา ถือหุ้นโดยตรงในสัดส่วน 99.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
‘คลิก ซิ’ เป็นบริษัทที่ถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคิดบนมิติทางสังคมและเป็น Lifestyle Disruption ที่เราเชื่อว่าลูกบ้านอาจถูกเอาเปรียบด้วยระบบที่เป็นอยู่ ดังนั้น เราจึงนำระบบนี้มาให้บริการเพื่อเสริมสร้างรายได้ทั้งกับผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วย และเป็นกลยุทธ์ Localized Social Commerce Strategy
พฤกษา มีโครงการทางสังคม เพื่อตอกย้ำพันธกิจ ‘เติบโตอย่างยั่งยืน’ อย่างไรในปีนี้
โครงการที่เป็นมิติทางสังคมและเราได้ทำไปแล้วคือ ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ หรือ Social Enterprise เนื่องจากปกติ พฤกษา โฮลดิ้ง และ มูลนิธิวิจิตรพงศ์พันธุ์ ของ คุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง นั้นจะบริจาคต่อปีกว่า 50 ล้านบาท ให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อการศึกษา ศาสนา และสังคม
แต่ในปีนี้ เราได้ปรับแนวคิดของการมอบเงินบริจาคเพื่อ ‘ความยั่งยืน’ ด้วยการช่วยลด ‘ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้’ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่พอสมควรในประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือคนที่มีความรู้แต่รายได้ไม่พอ หรือคนที่มีความรู้แต่หาเงินได้ไม่พอ ซึ่งอาจจะเพราะตกงาน เนื่องจากโอกาสหรือสังคมเปลี่ยนทำให้ทักษะหรือความรู้ที่มีอยู่เดิมไม่เหมาะสม ด้วยการ Upskill / Reskill คนเหล่านี้ให้หางานได้และมีรายได้ให้ครอบครัว ด้วยการมอบเงินสนับสนุนโดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัด หรือ ‘ทุนให้เปล่า’ กับบริษัท ดังนี้
1) เป็นธุรกิจที่จะเข้าโครงการนั้นจะต้องยั่งยืนได้ด้วยตนเอง และมีโมเดลธุรกิจจะต้องพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งเงินบริจาค และธุรกิจที่มุ่งมั่นที่จะสร้างคุณค่าให้กับสังคมเป็น ‘ผลประโยชน์ทางด้านสังคม’ (Social Profit) ที่ทำให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ เมื่อได้รับเงินบริจาคไปแล้วบริษัทเหล่านี้ย่อมจะขยายผล หรือสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าที่พฤกษาจะทำเอง เพราะห่วงโซ่จะยาวกว่า แต่เนื่องจากข้อจำกัดของธุรกิจดังกล่าวที่อาจมีหลายปัจจัย เช่น ปัญหาทางด้านทุนทรัพย์ เทคโนโลยี บุคลากร หรือแม้แต่การขาดความพร้อมทางด้านเครือข่าย ฯลฯ จึงทำให้ ‘ไปต่อ’ ได้ลำบาก สำหรับส่วนที่ขาดเหล่านี้ พฤกษาจะนำพนักงานจิตอาสาเข้าไปช่วยเติมเต็มให้เดินหน้าต่อได้ และสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้สามารถเดินหน้าสร้างคุณค่าให้สังคมได้ ถ้าหากโครงการนำร่องนี้ได้ผลตอบรับดีช่วยสังคมได้จริงก็อาจมีการขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับพันธมิตร
2) เป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีพันธกิจมุ่งพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ด้วยการพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) ให้กับกลุ่มคนในการแก้ไขปัญหาทักษะที่ไม่ตรงกับงาน รวมถึงธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ (Elderly Care) ที่ดูแลผู้สูงอายุทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต การใช้นวัตกรรมโซลูชั่น การจ้างงาน หรือ โซลูชั่นเชิงรุกในด้านการดูแลผู้สูงวัย เพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยมีจุดมุ่งหมายในชีวิตใหม่ได้ (Renewed Purpose in Life) เนื่องจากโดยทั่วไป ผู้สูงอายุและคนที่อยู่ในวัยเกษียณมักจะขาดเป้าหมายในชีวิต (Purpose in Life) และมักกังวลว่าจะถูกทอดทิ้ง ลูกหลานไม่มีเวลาให้ และคิดว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน รู้สึกขาดเพื่อน ประกอบกับเคลื่อนไหวร่างกายไม่ค่อยสะดวก ฯลฯ ทำให้กลายเป็นความเครียดของผู้สูงอายุ พฤกษาจึงต้องการส่งเสริมธุรกิจกลุ่มนี้ ขณะเดียวกัน ธุรกิจกลุ่มนี้ยังช่วยสร้างอาชีพ สร้างความสุขให้ผู้สูงอายุอีกด้วย
ทั้งนี้เงินบริจาคที่ พฤกษา และมูลนิธิฯ ให้นั้นเราต้องการสร้างคุณค่าทางสังคมไทยให้ถึงตัวผู้รับจริงๆ ที่สำคัญ เพื่อความโปร่งใส เราได้เชิญกรรมการจากภายนอกมาเป็นผู้พิจารณาการมอบทุนดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ บริษัทฯ ก็มีโครงการ Pruksa Pass ภายใต้แนวคิด ‘จบง่าย จ่ายเบา ย้ายเข้าเลย’ กับโครงการมูลค่า 1.5 – 5 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วน 30% ของพอร์ตฯ ที่อยู่อาศัย และลูกบ้านบางส่วนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องการเอื้อให้ลูกค้ามีโอกาสได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของตนเองได้ง่ายขึ้น ด้วยรูปแบบ Rent 2 Own โดยสามารถเปลี่ยนค่างวดที่จ่ายให้กับบริษัทฯ นำมาเป็นส่วนลด ณ วันโอนกรรมสิทธิ์ได้
ในมุมธุรกิจ พฤกษาตั้งเป้าหมายและมีมุมมองอย่างไร นับจากครึ่งหลังของปีนี้ และในอีก 3 ปีข้างหน้า
ในมุมของที่อยู่อาศัย เรามีโครงการกำลังพัฒนากว่า 140 โครงการ มูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อดูสต๊อกของโครงการขณะนี้ก็เพียงพอสำหรับ 3 ปีข้างหน้า อีกทั้งมีแลนด์แบงก์มูลค่า 7 - 8 หมื่นล้านบาท เพียงพอกับการดำเนินธุรกิจได้เกิน 5 - 6 ปี แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจังหวะของตลาด หรือขึ้นกับความต้องการของบริษัทฯ ว่า จะผลักดันให้ยอดขายเติบโตได้เร็ว หรือกระจายยอดขายออกไปในระยะเวลา 5 - 6 ปี
อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจหลักการดำเนินธุรกิจของพฤกษาด้วยว่า เรามุ่งสร้างมาร์จิ้น เพื่อทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ไม่ได้มุ่งสร้างส่วนแบ่งตลาด และเน้นความพอดี ดังนั้น จะเห็นว่า งบดุลของบริษัทฯ หนี้สินต่อทุนจะต่ำมาก เพราะเราไม่ต้องเร่งระบาย และไม่ต้องถูกบังคับขาย ต่างจากผู้เล่นรายอื่นๆ ที่เพดานหนี้สูง ทำให้ต้องเร่งปล่อยของออกมา
เมื่อเราต้องการมาร์จิ้นและรักษากำไร แต่เรายังมีความท้าทายในปีหน้าที่เรียกได้ว่า ‘ปราบเซียน’ นั่นคือ ต้นทุนพลังงาน ค่าน้ำมัน ค่าแรงงานขั้นต่ำ ราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้น ยิ่งกว่านั้น ก็ปัจจัยภายนอกที่มีการวิเคราะห์ว่า สหรัฐอเมริกาจะมี 'ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค' (Technical Recession) เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ติดลบของ GDP 2 ไตรมาสติดต่อกัน ความขัดแย้งระหว่าง จีน – ไต้หวัน ฯลฯ
ดังนั้น บริษัทฯ ก็ต้องใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม เช่น สมาร์ทโฮม, แอปพลิเคชัน Health2Home ฯลฯ เพื่อส่งมอบคุณค่าที่นอกเหนือจากการซื้อบ้าน ด้วยบริการที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ และการลดค่าใช้จ่ายทั้งด้านพลังงาน สุขภาพ การเยียวยาทางด้านสุขภาพ หรือการดูแลผู้สูงอายุ ขณะเดียวกัน เราก็ปรับกลยุทธ์ด้วยการ Re-Design ทั้งการออกแบบที่อยู่อาศัยใหม่ การปรับกระบวนการทำงานต่างๆ ใหม่ อาทิ ปรับวิธีการผลิต ตลอดจนการใช้บล็อกเชนในการทำงาน อาทิ ระบบจัดซื้อในบล็อกเชนที่ประกอบด้วย การวางบิล จ่ายเช็ค ฯลฯ
เราเปลี่ยนเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด ทำให้สามารถประหยัดทั้งกระดาษได้มาก และประหยัดเวลาของผู้รับเหมาวัสดุก่อสร้าง ได้มากกว่า 1 หมื่นชั่วโมงการทำงาน นอกจากนี้ในแง่ของการก่อสร้าง บริษัทได้ปรับใช้โปรโตคอลและพรีคาสท์ เพื่อให้สามารถประกอบใช้งานได้เลย ลดความสูญเสีย (Waste) หน้างาน ทำให้สามารถลดต้นทุนหน้างาน และก่อสร้างได้รวดเร็ว, รวมทั้งการปรับเปลี่ยน ‘การไหลของงาน’ (Workflow) ฯลฯ ทั้งนี้ เราประเมินกันว่า จะสามารถลดต้นทุนการจัดการได้ 1.6% ของยอดขายบริษัทฯ หรือกว่า 500 ล้านบาท
ในส่วนของการปรับอัตราดอกเบี้ยนั้น เนื่องจากพฤกษาไม่ได้มีจำนวนหนี้มากนัก ดังนั้น จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้พฤกษาได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่มากเท่ากับผู้เล่นรายอื่นๆ ขณะที่ตัวแปรจากค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องนั้นมีผลกระทบอยู่พอสมควร เนื่องจากวัตถุดิบบางอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เราใช้วิธีล็อกราคาล่วงหน้าจากซัพพลายเออร์ถึงสิ้นปีนี้ แต่สำหรับปีหน้าอาจได้รับผลกระทบถ้าราคายังขึ้นต่อ แต่ขณะนี้ราคาเหล็กเดือนกรกฎาคมในประเทศไทยลดลง ตรงนี้ยังโชคดี เพราะอสังหาฯของจีนชะลอการก่อสร้างไปมาก ทำให้เหล็กของจีนต้องส่งออกนอกประเทศ ดังนั้น ในปีหน้าจึงต้องจับตาดูกันต่อไป