บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด อาจจะยังไม่คุ้นหูคนไทยนัก แต่จากความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัว รถยนต์ไฟฟ้า VOLT City EV สองรุ่นใหม่ที่สร้างความฮือฮาให้กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไม่น้อยจากรูปลักษณ์ที่ทรงเสน่ห์ของรถ และโครงสร้างราคาที่จับต้องได้ ทว่า VOLT ไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้าที่ ‘อีวี ไพรมัส’ ทำตลาดเท่านั้น
หากแต่ยังเป็นผู้จัดจำหน่ายแบรนด์ DFSK หรือ DONGFENG (ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 2 ของจีน) แต่ผู้เดียวในประเทศไทย และได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่อีก 2 แบรนด์ คือ SERES และ VOLT City EV อย่างเป็นทางการในประเทศไทย
ปัจจุบันได้ขยายฐานธุรกิจสู่การเป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ามัลติแบรนด์แห่งแรกของไทย (Multi-Brand EV Distributor) ภายใต้คอนเซปต์ EV Marketplace
ภายใต้การนำทัพของ พิทยา ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด ตั้งเป้าจะทำยอดขายให้ได้ 5,000 คันภายในปี 2566 จากจุดแข็งที่ได้ Customize ให้เข้ากับตลาดไทย
มองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างไร เชื่อมั่นกับตลาดนี้แค่ไหน
เทรนด์การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ประกอบกับปัจจุบันเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนและปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องประเมินค่าใช้จ่ายของตนเองอย่างละเอียดรอบด้านมากขึ้น
ดังนั้น การตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ตอบโจทย์กำลังซื้อของผู้บริโภคในวันนี้ที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบเคียงกับตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มากที่สุดในโลกที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 3.3 ล้านคัน จากยอดขายรถยนต์โดยรวมกว่า 20 ล้านคันต่อปี ขณะที่ตลาดโลกมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 6.75 ล้านคัน และจากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนนั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (City EV) หรือที่คนจีนเรียกว่า ‘เซ็กเมนต์ A00’ (‘เอ ศูนย์ ศูนย์’ ซึ่งเป็นรถยนต์ที่มีความยาวของตัวรถไม่ถึง 4 เมตร) ประมาณ 1 ล้านคัน หรือราว 1 ใน 3 ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าโดยรวม ที่สำคัญ แบรนด์รถยนตไฟฟ้าในจีนที่สามารถเคลมว่าทำยอดขายได้มากกว่า Tesla คือ Wuling แบรนด์ของรถยนต์เซ็กเมนต์ A00 ที่มียอดขายเฉพาะรุ่น Wuling Hong Guang ก็เกือบ 8 แสนคันแล้วในตลาดจีน และล่าสุดเพิ่งเปิดตัวในอินโดนีเซีย
ผมก็เชื่อว่า ตลาดประเทศไทยก็จะเติบโตตามเทรนด์ของตลาดหลักอย่างจีนเช่นกัน เพราะนอกจากปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตแล้ว ยังมีนโยบายจากภาครัฐที่จะทำให้ตลาดนี้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ จากการส่งมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศเพิ่มขึ้น โดยให้งบอุดหนุนเงินส่วนลดตั้งแต่ 7 หมื่น – 1.5 แสนบาทต่อคันกับค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมด้วยมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริษัทฯ เองก็ขานรับตามนโยบายภาครัฐ และเพิ่งเข้าโครงการของกรมสรรพสามิตได้เป็นรายที่ 5 พร้อมทั้งจะปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนด และจัดส่วนลด 7 หมื่นบาทต่อคันอีกด้วย
นอกจากนี้ หากตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนจะทำให้เกิดระบบนิเวศ (ecosystem) ที่แข็งแรงทำให้การเข้าถึงสถานีชาร์จไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวก และสถานที่ตั้ง ซึ่งล้วนมีส่วนช่วยเร่งให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และยิ่งทำให้การเติบโตของดีมานด์ในตลาดเพิ่มขั้นในอัตราเร่งนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า กับสถานีชาร์จและอื่นๆ มีสภาพเหมือน ‘ไก่กับไข่’ แต่หากภาครัฐ และเอกชนจับมือกันสนับสนุนก็จะทำให้ตลาดเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด นอกเหนือจากการจ่ายเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ จนทำให้มีราคาใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป (รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน)
สำหรับการทำตลาด VOLT City EV ครั้งนี้คาดหวังการตอบรับจากคนไทยอย่างไร
คนไทยให้การตอบรับกับ City EV ดีและน่าพอใจมาก เช่นเดียวกับเทรนด์ในตลาดอื่นๆ ซึ่งดูได้จากผลการตอบรับ City EV ในบ้านเราที่ ‘อีวี ไพรมัส’ เปิดให้จองรอบแรกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ถล่มโควตายอดจองถึง 1,000 คัน ภายใน 24 ชั่วโมง ที่สำคัญ ปัจจัยหนุนอื่นๆ ที่จะทำให้การตอบรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ เมื่อมาคำนวณกันที่ ‘จุดคุ้มทุน’ ของการซื้อรถ City EV กับความคุ้มค่าต่อค่าเดินทางของคนเมืองซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 บาท/ต่อเดือน
ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ทำให้บริษัทฯ คัดสรรและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็น City EV ภายใต้แบรนด์ VOLT City EV ที่ส่งเข้ามา เพื่อเติมเต็มความต้องการของตลาด โดยเฉพาะเซ็กเมนต์รถยนต์ไฟฟ้า A00 ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับขับในเมือง (City EV) และเป็นเซ็กเมนต์ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด สอดคล้องกับตลาดรวมของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่เติบโตขึ้นถึง 48% เทียบกับปี 2564 โดยมียอด xEV ในไทย ที่มียอดจดทะเบียนเกิน 4 หมื่นคัน
นอกจากนี้ ในการทำตลาดของ ‘อีวี ไพรมัส’ นั้น เราเน้น Customize และปรับเปลี่ยนรถยนต์ไฟฟ้าให้ตอบโจทย์และเหมาะสมกับความต้องการของตลาดในประเทศไทย และสำหรับ VOLT City EV นี้เราได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่วงล่างทั้งหมด เพื่อการขับขี่ที่สบายมากขึ้น ลดแรงกระแทก พวงมาลัยควบคุมง่าย ดีไซน์สวยทันสมัย ในเซ็กเมนต์รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (City EV) เป็นรถยนต์เสริมที่มาพร้อมความประหยัด อำนวยความสะดวก
ที่สำคัญ VOLT City EV ถือเป็นเซ็กเมนต์ Entry Level EV ที่เหมาะสำหรับผู้ที่อยากมีประสบการณ์กับรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นรถที่เหมาะกับการเดินทางในระยะใกล้ ระดับการใช้งานอยู่ที่ 160 - 200 กม.ต่อการชาร์จ 1 ครั้งที่ระยะเวลา 6 ชั่วโมง ซึ่งจะตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ชื่นชอบรถยนต์ขนาดเล็ก และไลฟ์สไตล์ของคนเมืองโดยเฉพาะ โดยได้เตรียมงบการตลาดไว้ราว 40 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มดีลเลอร์ การตลาดและการโฆษณา งานจัดแสดงรถยนต์ต่างๆ รวมไปถึงผลักดันกิจกรรม Test Drive ทั่วประเทศ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
VOLT City EV ถือเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการตอบรับดีจากตลาดในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เปิดจอง VOLT City EV รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กแบบ 5 ประตู ดีไซน์สไตล์มินิมอลที่ได้รับการออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจำนวน 2 รุ่น คือ VOLT FOR – TWO (3 ประตู 2 ที่นั่ง) ราคาเริ่มต้น 3.25 แสนบาท และ VOLT FOR – FOUR (5 ประตู 4 ที่นั่ง) 3.85 แสนบาท
ตั้งเป้ากับการขายสองรุ่นใหม่นี้อย่างไร
สำหรับการเปิดขายพรีเซลรอบที่ผ่านมาเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ทางบริษัทจะเริ่มส่งมอบรถ VOLT City EV ได้ทั้งหมดกว่า 1,000 คัน ได้ตั้งแต่ปลายกันยายน 2565 และจะส่งมอบจำนวนทั้งหมดภายในปี 2565 นี้ ส่วนในภาพรวมเราก็ตั้งเป้าที่จะทำยอดขายให้ได้ 5,000 คันมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทภายในปี 2566 จากจุดแข็งที่ได้ Customize ให้เข้ากับตลาดไทย ซึ่งจะเอื้อให้ตลาดให้การตอบรับได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในการนำสินค้าจีนมาไทยจะต้อง Customize ให้เข้ากับตลาดไทยก่อน ต้องดูดีมานด์ก่อนแล้วค่อยเลือกแบรนด์ ‘มังกร’ ข้ามทะเล หรือจะสู้ ‘งู’ ในแพรกหญ้า เพราะฉะนั้น เราจะต้องแลนดิ้งก่อน ที่สำคัญ ความเล็กจะทำให้เราคล่องตัว และฐานลูกค้าที่มีราวๆ พันคนทำให้เราดูแลได้อย่างดีและทั่วถึง
ขณะเดียวกัน ในการทำตลาดครั้งนี้ เราได้จับมือกับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์หลายราย อาทิ
ว่ากันว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า Brand Loyalty ต่ำจริงหรือไม่
เป็นความจริง Brand Loyalty ของรถยนต์ไฟฟ้าต่ำกว่ารถยนต์แบบสันดาป ที่สำคัญ รถยนต์ไฟฟ้านั้นในสายตาของคนจีนมองว่า รถยนต์ไฟฟ้านั้นเสมือนเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบ ‘ของมันต้องมีไว้ติดบ้าน’ เหมือนกับไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ และในอนาคตอีกไม่เกิน 5 ปี ผมเชื่อว่า ทุกครัวเรือนจะมีรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน
‘อีวี ไพรมัส’ ตั้งเป้าแผนการดำเนินงานในอนาคตอย่างไร
บริษัทฯ ตั้งเป้าปั้น ‘อีวี มาร์เก็ตเพลส’ (EV Marketplace) แห่งแรกในประเทศไทย ด้วยคอนเซปต์ของการตั้งโชว์รูมแบบ Multi – Brand EV พร้อมวางตำแหน่งทางการตลาดเป็น ‘ห้างสรรพสินค้ารถยนต์ไฟฟ้า’ เพื่อนำเสนอรถยนต์จากหลากหลายแบรนด์และหลากหลายรุ่นที่มีความแตกต่างและโดดเด่นมากกว่าแบบ One Stop Shopping ในรูปแบบของ Product Mix ด้วยราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 3 แสนบาท - 3 ล้านบาท โดยจะส่ง โวลท์ (VOLT) นำร่องเป็นแบรนด์แรก และยังมีแผนที่จะเปิดตัวแบรนด์อื่นๆ ภายใต้บริษัทฯ ในปีหน้า
พร้อมตั้งเป้าขยายศูนย์บริการ 35 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2566 และเดินหน้าสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา บนพื้นที่กว่า 20 ไร่ โดยทุ่มงบลงทุนรวมกว่า 400 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จและเริ่มไลน์ผลิตแรกได้ในปลายปี 66 เพื่อประกอบขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และรองรับความต้องการของตลาดภูมิภาคอาเซียนในอนาคต พร้อมเดินหน้าลุยแผนส่งออกไปยังประเทศในอาเซียน โดยเบื้องต้นตั้งเป้าการผลิตอยู่ที่ 4,000 คันต่อปี