‘บราเดอร์ ประเทศไทย’ ภายใต้การนำของ ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการบริษัทบราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้สร้างปรากฏการณ์แห่ง ‘การริเริ่ม’ ให้กับบราเดอร์ในหลากหลายประเทศในฐานะ ‘โชว์เคส’ ของภูมิภาคอาเซียน ยังคงเดินหน้าพัฒนาและเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยยุทธศาสตร์ CSB 2024 (Challenge Strategy Brother 2024) ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2565-2567 เพื่อคงบทบาทของการเป็น Regional Super-Hero ในด้านต่างๆ ด้วยแคมเปญที่สร้างสรรค์และท้าทายให้ได้สิ่งใหม่ที่ดีกว่าภายใต้ปรัชญาการดำเนินธุรกิจ ‘at your side’
ทิศทางยุทธศาสตร์ CSB 2024 ของบราเดอร์จะเป็นอย่างไร มีแผนดำเนินการเฉพาะประเทศไทยหรือไม่
ยุทธศาสตร์ CSB 2024 เป็นแผนที่ครอบคลุมระยะเวลา 3 ปี โดยมีแนวคิดหลักในการดำเนินงาน ประกอบด้วย
การดำเนินธุรกิจขณะเดียวกันก็พยายามดูเทรนด์ธุรกิจว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรและนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนให้เติบโตในทิศทางเดียวกับตลาด ตลอดจนการปรับกระบวนการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กรเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบราเดอร์และคู่ค้า
ปี 2566 เราโฟกัสกับยุทธศาสตร์ CSB 2024 ด้านใดเป็นพิเศษหรือไม่
Sustainability และ Driving DX คือสิ่งที่บราเดอร์มุ่งเน้นมาโดยตลอด แต่ความท้าทายในส่วนของ Re-Energizing Business ก็เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญและใส่ใจในรายละเอียดไม่แพ้กัน แน่นอนว่า เรามีโจทย์ที่จะต้องทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงโควิดที่ผ่านมาจะได้รับผลบวกจากการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมาทำงานที่บ้านและการเรียนออนไลน์ แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามดีมานด์ของตลาด ส่งผลให้สินค้าขาดตลาดไปช่วงหนึ่ง แต่ต่อมาเมื่อสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย เราก็เริ่มมีสินค้าเข้ามาเติมเต็มความต้องการมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าในปี 2566 สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
อย่างไรก็ตาม เพื่อการเติบโตทางธุรกิจที่มั่งคงบราเดอร์ก็ได้ริเริ่มนำสินค้าใหม่ๆ เข้ามาเสริม อาทิ เครื่องพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัล Brother GTX (Direct to Garment) และระบบเครื่องเสียง BMB ที่บราเดอร์ ประเทศไทยเข้ามาดูแลในฐานะตัวแทนจำหน่าย บราเดอร์ประเทศไทย และเราก็ไม่ได้ทำให้บริษัทแม่ผิดหวังโดย Brother GTX สามารถสร้างอัตราการเติบโตได้แบบก้าวกระโดดตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ BMB ที่ล่าสุดได้นำเข้าสินค้ากว่า 24 รุ่นจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาจำหน่ายในไทยรับการเปิดประเทศของไทยหลังโควิดคลี่คลาย
ที่ผ่านมา 2-3 ปี บราเดอร์ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเราสามารถทำตลาดได้และเราก็จะรุกตลาดสินค้าทั้งสองนี้ให้เข้มข้นยิ่งขึ้นในปีหน้า แม้ว่า ปัจจุบันพรินเตอร์ก็ยังมีสัดส่วนในพอร์ตโฟลิโอมากถึง 90% ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ เช่น จักรเย็บผ้า เครื่องพิมพ์เสื้อระบบดิจิทัล เครื่องพิมพ์ฉลาก ฯลฯ ยังมีสัดส่วนน้อยอยู่ แต่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยตัวเลขสองหลักมาโดยตลอด โดยเฉพาะเครื่องเสียงที่มีโอกาสทางการตลาดหลังสถานการณ์โควิดผ่อนคลาย เนื่องจากสินค้าของเรา เป็นกลุ่ม Middle to High อยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มแมสที่เป็นสินค้าจากในประเทศไทยและจีนกับสินค้าระดับไฮเอนด์ที่เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ราคาสูง และเมื่อดูจากตลาดระดับกลางนั้นมีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่ก้าวสู่ตลาดกลุ่มนี้ จึงนับว่า BMB มีโอกาสที่จะแทรกตัวเพื่อครองส่วนแบ่งทางการตลาดของกลุ่มดังกล่าวได้ไม่ยากนัก
ถือว่า บราเดอร์ ประเทศไทยเป็น ‘พระเอก’ ในระดับภูมิภาคหรือเปล่า
เนื่องจากที่ผ่านมา บราเดอร์ประเทศไทยมักจะครองบทบาทความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคเสมอ บ่อยครั้งที่เราได้รับเกียรติจากสำนักงานใหญ่และบราเดอร์ในประเทศต่างๆ ให้ร่วมแชร์ Best Practice และสิ่งใหม่ๆ ที่เราได้ริเริ่มขึ้นและประสบความสำเร็จอยู่เสมอ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างขององค์กรให้พร้อมขับเคลื่อนสู่การเติบโตที่แข็งแกร่ง ซึ่งเปรียบเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้องเสียก่อน อะไรที่เป็นพื้นฐานของธุรกิจก็ควรต้องกำหนดอย่างถูกต้องชัดเจน การรวมข้อมูลให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อทำ Data Analytics สำหรับการใช้งานด้านต่างๆ แล้วค่อยๆ ต่อยอดไป
ในส่วนของรายได้กล่าวได้ว่า บราเดอร์ประเทศไทยเป็นเบอร์ 1 ที่สามารถสร้างรายได้ถึง 42% ในระดับภูมิภาคอาเซียนจากทั้งหมด 7 ประเทศ ดังนั้น สำนักงานใหญ่บราเดอร์จึงให้ความสำคัญกับเราค่อนข้างมาก เพราะหากเราสามารถทำยอดขายได้ดีก็จะทำให้ยอดขายในภูมิภาคนี้เติบโตไปด้วยกันเช่นกัน
โฟกัสกับแง่มุมใดที่เกี่ยวข้องกับ Driving DX และ Sustainability ในปีหน้าบ้าง
บราเดอร์ทุ่มงบประมาณการตลาดในส่วนของ Driving DX ค่อนข้างมากเพราะเราเชื่อว่าจะเป็นกุญแจสำคัญเพื่อเปิดประตูสู่ความสำเร็จในยุคปัจจุบัน เราไม่เคยหยุดพัฒนาศักยภาพ ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้กระบวนการทำงานรวดเร็วขึ้น และล่าสุดในปีนี้เราได้นำระบบ HRIS ใหม่มาใช้โดยรวมกระบวนการต่างๆ ในภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้อยู่ในระบบเดียวกัน ทำให้เราสามารถเห็นทุกขั้นตอนที่ต้องปรับต้องเสริมอย่างเหมาะสม การเสริมศักยภาพและประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่พนักงานด้วยการเรียนรู้การดำเนินงานในต่างแผนก เพื่อให้องค์กรพร้อมก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอทั้งยังช่วยให้ระบบการทำงานเป็นไปอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาลมากขึ้นด้วย เนื่องจากทุกแผนกจะทราบ KPI ซึ่งกันและกัน จากเดิมที่ KPI คือเรื่องเฉพาะของแต่ละแผนกเท่านั้น แต่การที่ทุกคนต้องวาง KPI บน HRIS จะทำให้ทุกแผนกสามารถให้ความเห็นได้ว่า KPI ของแผนกนั้นๆ สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กรหรือไม่ หรือการจะทำให้เกิดการพัฒนาในเนื้องานต้องได้รับการสนับสนุนจากแผนกอื่นๆ หรือไม่ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน Driving DX ก็ยังเป็นการขับเคลื่อนผ่านการสร้างความเข้มแข็งให้กับช่องทางออนไลน์ด้วยการบริหารฐานข้อมูลและรวมศูนย์ฐานข้อมูล และ Big Data ให้อยู่แพลตฟอร์มเดียวกันเพื่อทำData Analytics สำหรับการใช้งานด้านต่างๆ ได้อย่างแม่นยำขึ้น แล้วค่อยๆ ต่อยอดไป ซึ่ง บราเดอร์ประเทศไทย เป็นประเทศแรกที่นำเรื่องนี้เข้ามาใช้และถือเป็น ‘โชว์เคส’ ที่เราจะมีโอกาสนำเสนอให้กับบราเดอร์ในประเทศต่างๆ ในฐานะ Best Practice ของภูมิภาค
ส่วน Sustainability เราไม่ได้มองเป็นเพียงแค่สิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากแต่เรามองถึงการสร้างความยั่งยืนจากการสร้างความแข็งแกร่งภายในองค์กร (Internal Strength) ดังเช่นในช่วงโควิดที่ผ่านมาแม้เราต้องเผชิญภาวะสินค้าขาดตลาดแต่เราก็ยังต้องเดินหน้าไปให้ได้ ต้องปรับกระบวนการทำงาน ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ปรับหน้าที่ของพนักงานในบางจุด เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และโฟกัสกับการพัฒนาทักษะบุคลากรด้วย ทั้ง Re-Skill และ Up-Skill ด้วยงบฝึกอบรมที่มอบให้พนักงาน 1.2 หมื่นบาท/คน/ปี ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำให้พนักงานติดตามความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและตลาดในภาพรวม ให้รู้เท่าทันว่าเกิดสิ่งใหม่ๆ ในตลาดอย่างไร แล้วนำข้อมูลที่ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน ตลอดจนนำเสนอโครงการที่ตนเองสนใจให้แก่บริษัทพิจารณาได้ เพื่อเสริมศักยภาพขององค์อยู่เสมอ นอกจากนี้ บราเดอร์ยังคำนึงถึงความสุขในการทำงานของบุคลากรเป็นสำคัญ โดยในช่วงโควิดที่ผ่านมาเราให้งบกับพนักงาน 1 หมื่นบาท/คน สำหรับซื้ออุปกรณ์สำนักงานให้เหมาะสมกับการทำงานที่บ้านของพนักงานแต่ละคน อีกทั้งยังเพิ่มสวัสดิการค่าโทรศัพท์มือถือในช่วงโควิดเพราะต้องใช้ติดต่อเรื่องงานเพิ่มมากขึ้น
อะไรคือ ‘ความท้าทายในอนาคต’ ที่บราเดอร์ให้ความสำคัญ
แม้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2565 (เมษายน - กันยายน 2565) บราเดอร์ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 20% แต่ความท้าทายด้านภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังก็คือเป็นความท้าทายไม่น้อยสำหรับบราเดอร์ และการจะก้าวผ่านโจทย์ยากดังกล่าวนั้นไปให้ได้ การเข้าใจสถานการณ์ตลาด การวิเคราะห์เชิงลึก การระดมความคิดเห็นเพื่อให้เกิดแผนการตลาดที่เฉียบคมที่สุดจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในมุมมองของบราเดอร์ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการพัฒนาระบบงานในรูปแบบ bottom up ขึ้นเพื่อให้เกิดการระดมสมองในรูปแบบการทำงานเป็นทีมเวิร์ค ไม่กลัวที่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง และรู้สึกสนุกกับการได้พบได้ทำสิ่งใหม่ๆ ในโลกของการทำงาน ซึ่งนี่คือค่านิยมขององค์กรที่เราปลูกฝังให้พนักงานของเราทุกระดับเห็นถึงคุณค่าและร่วมขับเคลื่อนอย่างเต็มใจและตั้งใจ
ส่วนความกังวลที่มีต่อกรณีค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงในปัจจุบัน ทำให้บราเดอร์มองเห็นถึงความกังวลที่จะเกิดขึ้นในมิติของผู้บริโภค และพยายามประคองราคาเดิมให้ได้นานที่สุดเพื่อแบ่งเบาภาระผู้บริโภคในไทย ส่งผลให้เราเป็นพรินเตอร์แบรนด์สุดท้ายของตลาดที่ปรับราคาขายขึ้นหลังจากที่แบกรับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นมายาวนาน เพื่อให้เราได้อยู่เคียงข้างผู้บริโภคชาวไทยอย่างเข้าใจที่สุดตลอดไป