'โลตัส' VS 'บิ๊กซี' ไม่ใช่แค่สงครามราคา แต่แข่งกันเป็น ‘New Smart Retail’
19 Dec 2022

ว่ากันว่า ในยุคแรกของไฮเปอร์มาร์เก็ต จะนำเสนอในเรื่องของราคาถูกเป็นหลัก แต่ปัจจุบันคนจะสนใจหรือตื่นเต้นกับสินค้าราคาถูกน้อยลง แต่ต้องการของที่ถูกใจ ขณะเดียวกัน ยังต้องการการนำเสนอสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เป็นสังคมเมืองมากขึ้น

 

เราจึงได้เห็นทั้งโลตัส และบิ๊กซี ต่างมีการเดินหน้าปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดกันขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น การนำเสนอประสบการณ์ในการช้อปปิ้งที่เป็น Omni channel หรือ O2O เพื่อทำให้การช้อปปิ้งเชื่อมโยงกันทั้งออฟไลน์และออนไลน์แบบไร้รอยต่อ โดยมีตัวซูเปอร์แอป ที่เปิดตัวมาเป็นตัวเชื่อมโยงการทำตลาดออนไลน์ และใช้ช่องทางออฟไลน์ในส่วนของสาขาให้เป็นเน็ตเวิร์กเพื่อส่งสินค้าถึงบ้าน

การปั้นซูเปอร์แอปขึ้นมานั้น เป็นการมองถึงการสร้างอีโคซิสเท็มที่จะดึงลูกค้าให้เข้ามาสู่อีโคซิสเท็มดังกล่าว ซึ่งจะตามมาด้วยการได้ดาต้าของลูกค้าที่จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ความต้องการ และทำให้เสามารถเลือกนำเสนอสินค้าให้เหมาะหรือตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละโลเกชั่นได้ โดยจะมีการปรับ สโตร์ เอ็กซ์พีเรียนซ์ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

 

 

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โลตัส มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่ Lotus’s SMART App แอปพลิเคชันรูปแบบใหม่หนึ่งกลยุทธ์สำหรับการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าของโลตัส สามารถช้อปปิ้งสินค้าต่างๆ ทั้งสินค้าสดและสินค้าทั่วไปผ่านรูปแบบออนไลน์ โดยสามารถจัดส่งสินค้าได้ภายใน 1 ชม. รวมไปถึงการสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งใหม่ๆ ทั้งที่ห้างและร้านสะดวกซื้อ Lotus’s Go Fresh ใกล้บ้าน

 

 

นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวระบบ Reward ใหม่ในชื่อ my Lotus’s ที่จะช่วยเสริมประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบ SMART ไปอีกขั้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะช่วยให้โลตัส สามารถพัฒนาและพลิกโฉมห้างค้าปลีกได้อีกในอนาคต ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของโลตัส ในการผลักดันตัวเองเพื่อก้าวเข้าสู่การทำตลาดในยุค New Smart Retail ได้อย่างเต็มตัว

ขณะที่ คู่แข่งอย่างบิ๊กซี ก็มีการเปิดตัวเปิดตัวแอป ‘Big C PLUS’ (บิ๊กซี พลัส) แอปพลิเคชันโฉมใหม่ ! ที่มาพร้อมประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่าย ช้อปสินค้าราคาประหยัด คุณภาพ สุดคุ้ม เพื่อยกระดับประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบไร้รอยต่อ เพื่อให้ลูกค้า เชื่อมต่อการช้อปที่สาขา (Shop Offline) ช้อปออนไลน์ (Shop Online) และลอยอตี้โปรแกรม (Loyalty Program) ในแอปเดียว

บิ๊กซี มองถึงการปั้นยอดผู้ใช้งาน 5 ล้านรายภายในปีนี้ จากเดิมที่แอปเก่าที่เปิดตัวไปในปี 2019 มียอดผู้ใช้งานประมาณ 3 ล้านราย โดยบิ๊กซี มีฐานผู้ถือบัตรบิ๊กการ์ด ซึ่งเป็นบัตรลอยัลตี้โปรแกรมในรูปแบบเดิมประมาณ 17 ล้านใบ ในอนาคต ฐานผู้ถือบัตรดังกล่าวจะถูกดึงเข้ามาอยู่ในอีโคซิสเท็มที่สร้างขึ้นนี้ด้วย

 

 

ดร.ปิยะวรรณ  ปิยะพงษ์ รองประธานบริหารเจ้าหน้าที่สายธุรกิจดิจิทัล บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี บอกว่า แอปพลิเคชันใหม่นี้เน้นไปที่การผสานการช้อปแบบไร้รอยต่อผ่านสาขาหรือออฟไลน์ ช้อปผ่านออนไลน์ และลอยอตี้โปรแกรมในแอปเดียว เพื่อให้ลูกค้าบิ๊กซีใช้แอปได้ทั้งอยู่ที่ห้างหรือที่ไหนก็ตาม โดยความแตกต่างและความเป็น  ‘พลัส’ อยู่ในรายละเอียดที่คิดค้นมาตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบแอปพลิเคชันรวมถึงระบบบิ๊กซีออนไลน์พร้อมกัน ส่งผ่านมาเป็นประสบการณ์การใช้ที่ลูกค้าจะรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง ช้อปง่ายขึ้น รวดเร็ว ลื่นไหล ในการใช้งาน  เราออกแบบโครงสร้างเทคโนโลยีดิจิทัลของแอปใหม่เทียบเท่ากับเทคโนโลยีที่บริษัทชั้นนำระดับโลกใช้กัน (Global Tech Stack) และการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่แบบเรียลไทม์ (Real Time Big Data)

บิ๊กซี มีการวางโรดแมปไปสู่การเป็นซูเปอร์แอปนั้น จะเริ่มจาก การดึงลูกค้าเข้ามาอยู่ในอีโคซิสเท็ม ผ่านการมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศน์ที่เป็นออมนิชาแนลรีเทล ที่เชื่อมโยงการช้อปปิ้งแบบ O2O โดยสาขาของบิ๊กซีทุกฟอร์แมตกว่า 1,500 สาขา จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นแวร์เฮาส์สำคัญในการให้บริการกับลูกค้าเพื่อเข้าถึงการบริการลูกค้าในแต่ละชุมชน ก่อนที่จะเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานในรูปแบต่างๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวันของลูกค้า โดยสิ่งที่แอป บิ๊กซี พลัส ทำไปแล้วนั้น จะประกอบไปด้วย การเชื่อมโยงสาขากับแอปเพื่อให้บริการแบบ O2O การทำเรื่องของสิทธิประโยชน์จากบิ๊กพ้อยท์ การช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านแอป ส่วนในปีหน้าจะเริ่มมีฟังก์ชันการให้บริการในเรื่องของอี วอลเล็ต หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

 

 

ส่วนในปีหน้าจะให้บริการเติมเงินผ่านแอป และในปี 2024 จะให้บริการในเรื่องของสุขภาพที่จะเชื่อมโยงมาสู่ค้าปลีกในเครืออย่างร้านยาเพรียว และสิริฟาร์ม่า ที่จะให้บริการ Telemedicine ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงไปสู่การทำตลาดแบบ O2O ที่ครอบคลุมค้าปลีกในทุกเซ็กเมนต์ที่บิ๊กซีมีอยู่

บิ๊กซี ต้องการให้คนซื้อผ่านแอป หรือเข้ามาในแอปทุกๆ วัน จึงมีแผนที่จะให้คูปองโปรโมชั่นผ่านแอปในทุกๆ วัน เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการช้อป ซึ่งถือเป็นภาพของการแข่งขันในอนาคต ที่การทำตลาดค้าปลีกไม่ได้อยู่ที่แค่การหาลูกค้าใหม่ แต่อยู่ที่จะทำอย่างไรให้เกิดการ Replete หรือซื้อซ้ำ มากกว่า

แน่นอนว่า ดาต้า จะเข้ามาเป็นบทบาทในเรื่องนี้ เพราะจะทำให้เราเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริง หรือรู้ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมการซื้อของพวกเขา

 

แข่งกันมุ่งสู่การเป็น Food Destination

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทั้งบิ๊กซี และโลตัส ต่างก็มุ่งมาที่การเติมเต็มจุดแข็งในเรื่องของการนำเสนอสินค้าในกลุ่มอาหาร ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นตัวช่วยในการสร้างความแตกต่างที่นำไปสู่การสร้าง Retail Destination ที่ลูกค้าจะนึกถึงเป็นรายแรกๆ ในการมาช้อปปิ้ง เท่านั้น แต่สินค้าในกลุ่มอาหาร ยังเป็นตัวช่วยสร้างความถี่ในการช้อปปิ้งของลูกค้าไม่ว่าจะผ่านทั้งที่สาขาหรือออนไลน์

ทำให้สโตร์ในรูปแบบใหม่ๆ ถูกส่งเข้ามารองรับหมุดหมายดังกล่าว อย่างในกรณีของบิ๊กซี ที่มีการปรับภาพพร้อมรีแบรนด์ฟอร์แมตที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพฯและปริมณฑลใหม่จากเดิมที่ใช้ชื่อบิ๊กซี มาร์เก็ต มาเป็น  ‘บิ๊กซี ฟู้ดเพลส’ ที่เน้นการนำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบคนเมือง

บิ๊กซีมีสาขาในรูปแบบของไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ 153 สาขาทั่วประเทศ แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล 65 สาขา สาชาขนาดกลางที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตใน 2 ฟอร์แมต คือกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในชื่อ บิ๊กซี ฟู้ดเพลส ที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ตอบโจทย์คนเมือง 11 สาขา

ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตในต่างจังกวัด บิ๊กซี ยังคงใช้ชื่อเดิมคือบิ๊กซี มาร์เก็ต  มีสาขาอยู่ที่ 38 สาขา ตามแผนที่วางไว้  ในปี 2566 บิ๊กซี จะขยายสาขาในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต เพิ่มขึ้นอีก 2 – 3 สาขา บิ๊กซี ฟู้ดเพลส 15 – 16 สาขา บิ๊กซีมาร์เก็ต 5 – 10 สาขา

 

 

ขณะที่โลตัสนั้น มีการเปิดตัวฟอร์แมตซูเปอร์มาร์เก็ตในรูปโฉมใหม่ภายใต้ชื่อ โลตัส โก เฟรช ที่ถูกวางไว้ให้เป็น  ‘ฟู้ด เดสติเนชั่น’ ทั้งที่ถนนสายไหม ซอยนวลจันทร์ และสุทธิสาร ที่นอกจากจะมีซูเปอร์มาร็เก็ตที่นำเสนอสินค้าในกลุ่มอาหารทั้งอาหารสด พร้อมปรุง พร้อมทาน แล้ว ยังมีกลุ่มสินค้านำเข้า ซึ่งการเข้าไปเป็นบริษัทในเครือของแม็คโคร ทำให้สามารถเพิ่มความแข็งแกร่งในเรื่องของการซัพพลายสินค้าประเภทอาหาร โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่เป็นจุดแข็งของแม็คโครมานาน

ไม่เพียงเท่านั้น การเปิดโลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์  ยังเป็นการสร้างสาขาแฟลกชิปต้นแบบที่เป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตแบบสมาร์ทของทุกคนในชุมชนเมืองรุ่นใหม่ ที่ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการต่อภาพให้โลตัสเป็น New Smart Retail ที่สลัดภาพไฮเปอร์มาร์เก็ตขายสินค้าราคาถูกออกจากภาพจำของผู้บริโภคชาวไทย

 

 

คุณสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวว่า “การเปิดตัว โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ นับเป็นการก้าวสู่ Chapter ใหม่ของโลตัส ตามพันธสัญญาของแบรนด์ ในการเป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตในแบบสมาร์ท ที่ส่งมอบความรู้สึกดีดีทุกวันให้กับชุมชน โดยมีเสาหลัก 4 ข้อคือ 1) Inspiring fresh & food destination การเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับอาหารและอาหารสดคุณภาพสูง 2) Smart life solutions ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตรอบด้าน ทั้งความบันเทิง กิจกรรม รวมถึงการให้บริการแบบ omni-channel กับชุมชนใกล้เคียง 3) Personalized value beyond price ความคุ้มค่าที่ตรงใจและมากกว่าราคาประหยัด ออกแบบมาให้เหมาะสมสำหรับลูกค้าในระดับปัจเจกโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และ big data และ 4) Everyday sustainability ความยั่งยืนในทุกมิติที่ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจในทุก ๆ วัน”

นอกเหนือจาก การนำเสนอสินค้าในกลุ่มอาหารที่ตอบโจทย์คนเมือง รวมถึงการมีพื้นที่ในส่วนของพลาซ่า และศูนย์อาหารที่สามารถรองรับการใช้ชีวิตประจำวันของคนเมืองรุ่นใหม่ในย่านราชพฤกษ์แล้ว

ไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้ ยังทำหน้าที่เป็น fulfillment center สามารถจัดส่งสินค้าที่มีจำหน่ายทั้งหมดที่มีการอัปเดตแบบเรียลไทม์ ให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Lotus’s SMART app บริการส่งในรัศมี 10 กิโลเมตรจากสาขา เพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าและประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านราชพฤกษ์และบริเวณใกล้เคียง

 

 

เป็นอีกการเติมเต็มภาพลักษณ์ใหม่ที่วันนี้ โลตัส ต้องการที่จะเป็น New Smart Retail ที่ไม่เพียงจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาขับเคลื่อนการทำตลาดค้าปลีกของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นเดสติเนชั่นค้าปลีกที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบของคนเมืองรุ่นใหม่ที่วันนี้จะแตกต่างจากในยุคแรกของการก่อกำเนิดไฮเปอร์มาร์เก็ตของบ้านเรา ซึ่งในช่วงเวลานั้นจะใช้ราคาเป็นใบเบิกทาง

แต่วันนี้ ต้องสู้กันด้วยเทคโนโลยี ที่เข้าถึงดาต้า เพื่อเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เป็นสงครามยุคใหม่ของไฮเปอร์มาร์เก็ตที่น่าจะแข่งกันสนุกไม่แพ้ยุคสงครามราคา....

[อ่าน 1,474]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ต้อนรับตรุษจีนปีมะเส็ง เต็มพื้นที่สยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่
ไฮเซ่นส์ นำเสนอ “Innovation In-Style” ยกระดับคุณภาพชีวิตในปี 2568
ยูนิโคล่ เดินหน้ามอบฮีทเทค 1 ล้านชิ้นทั่วโลก ตามพันธกิจ “The Heart of LifeWear”
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ฯ ส่งต่อโอกาสการเข้าถึงแหล่งโภชนาการในพื้นที่ห่างไกล
เคทีซี ประกาศผลประกอบการ 2567 กำไรต่อเนื่อง 7,437 ล้านบาท
ซัมซุง ส่งผลิตภัณฑ์ทีวีและเครื่องเสียง คว้า 6 รางวัล จาก Best of The Best TV Award โดย LCDTVTHAILAND
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved