‘Change Before You Have to’ หรือ ‘เปลี่ยนก่อนถูกบังคับให้เปลี่ยน’ วรรคทองของ Jack Welch อดีตซีอีโอ General Electric ยังคงอมตะเหนือกาลเวลา โดยเฉพาะกับในยุค Digital Disruption ที่เกิดขึ้น และถ่างช่องว่างให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหลายๆ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับ ‘คนตัวเล็ก’ อย่างเอสเอ็มอี ดังนั้น ธุรกิจที่เข้ามาปิดช่องว่างตรงนี้นอกจากจะมีโอกาสทางธุรกิจแล้ว ยังจะมีส่วนช่วยเกื้อหนุนระบบเศรษฐกิจ และลดความเหลื่อมล้ำได้อีกด้วย
ซึ่งแนวคิดเกื้อหนุนระบบเศรษฐกิจและปั้นนักรบทางเศรษฐกิจนั้น คือ ปณิธานของ 'กร เธียรนุกุล' ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม MyWaWa เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์ม e-Marketplace สัญชาติไทยที่ทำธุรกิจ B2B แบบ End to End และมุ่งนำพาผู้ประกอบการไทยให้ขายสินค้าในต่างประเทศได้ พร้อมขยายฐานระบบนิเวศของ MyWaWa เพื่อมุ่งเป้าสู่การเป็น Trade Investment แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
MyWaWa ก่อนที่จะ Disrupt ตนเอง เราถูก Digital Disruption มาก่อนอย่างไร
ฐานเดิมของธุรกิจครอบครัวเป็นโรงพิมพ์ ชื่อ หจก.นิวไวเต็ก เดิมอยู่ตลาดน้อยและย้ายมาสี่พระยา แต่เดิมธุรกิจโรงพิมพ์ดีมาก ผมไม่เคยเห็นโรงพิมพ์หยุดเครื่องเลย คนทำงานกันวุ่นทั้งวัน แต่หลังจากที่ผมเข้ารับหน้าที่ดูแลลูกค้ารายใหญ่ของธุรกิจกงสีแทนคุณน้า ซึ่งเสียชีวิตนั้นเป็นจังหวะที่ผมเห็นสัญญาณว่า ตลาดโรงพิมพ์เริ่มเปลี่ยนแล้ว เพราะมีการลดงบการพิมพ์จากเดิมที่ใช้พิมพ์ 80% ออนไลน์ 20% เป็นพิมพ์ 20% ออนไลน์ 80% สลับกัน
ตอนนั้นจึงได้ปรึกษากับครอบครัวถึงการเสนอทางรอด ด้วยธุรกิจทางเลือก นั่นคือ
1) ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เพราะตอนนั้นอีคอมเมิร์ซเข้ามาบูมแล้ว
2)ธุรกิจซีเคียวริตี้พริ้นท์ติ้ง เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้โนวฮาว ทำให้มี Barrier สูง แต่ปัจจุบันธุรกิจนี้ก็ถูก Disrupt แล้วจากการใช้งานแอปพลิเคชันบนมือถือ
3) ธุรกิจที่มีอนาคตใหม่ หรือ New S-Curve ซึ่งต้องออกจากธุรกิจการพิมพ์ แล้วทำธุรกิจอื่น ผลคือเลือกทางที่ 3 แม้ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร จนเห็นโอกาสจากการที่เพื่อนมาถามถึงเรื่องแพคเกจจิ้ง เนื่องจากในปี 2557-2558 ตอนนั้นสืบค้นจากกูเกิ้ลไม่ได้ เพราะไม่มีธุรกิจแพคเกจจิ้งวางขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้เราเห็นโอกาสที่จะเป็นศูนย์รวมบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท โดยเริ่มจากแพลตฟอร์ม B2B ที่ชื่อ WaWa Pack
แต่ผมก็ต้องพิสูจน์ตนเองอย่างมาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับครอบครัวกับทางเลือกที่สามนี้ ที่สุด เมื่อ WaWa Pack ได้รับการคัดเลือกเข้าโปรแกรม S-Curve ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมช่วง ก.ค. 2562 และได้รับรางวัลชนะเลิศเป็น 1ใน 6 บริษัทที่ออกเดินสายโปรโมททั่วประเทศ และเม.ย. 2563 ก็ได้รับงบสนับสนุนโครงการด้วยคูปองนวัตกรรมจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มูลค่า 1.5 ล้านบาท และอีกหลายโครงการ ทำให้ครอบครัวก็สนับสนุนผมด้วยเงินทุนก้อนเล็กๆ ก้อนหนึ่ง และเราก็ได้ต่อยอดมาเป็นแพลตฟอร์ม mywawa.me เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา พร้อมตั้งเป้าให้ผู้ประกอบการภาคการผลิตไทยทุกอุตสาหกรรม ซึ่งมีจำนวน 4-5 แสนรายให้สามารถทรานส์ฟอร์มตนเองได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเดินหน้าต่อได้
ปัจจุบันสถานะ mywawa.me เป็นอย่างไร
การดำเนินงานของ mywawa.me ต้องถือเป็นการดำเนินงานในเฟสแรกที่เรามุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มให้เป็น Infrastructure e-Marketplace สำหรับ B2B แบบ End to End ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสมบูรณ์ที่สุดเพื่อให้ผู้ที่เคยทำธุรกิจแบบดั้งเดิมสามารถใช้งานได้ง่าย เข้าใจระบบได้อย่างรวดเร็ว โดยมีทีมงานคอยประกบเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด เมื่อดูจากผลการดำเนินงาน แพลตฟอร์มของเรามีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้ซื้อมากกว่า 2,000 ราย มีซัพพลายเออร์ในระบบกว่า 100 ราย มีสินค้ากว่า 3,000 รายการ (SKU) และมียอดการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มกว่า 1,700 ล้านบาท โดยมีสินค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์ม mywawa.me ในเบื้องต้นมี 8 กลุ่ม ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม, แบบเรียนและอุปกรณ์การศึกษา, ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์, บ้านและวัสดุก่อสร้าง, เคมี ยางและพลาสติก, สุขภาพและความงาม, การพิมพ์ บรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์สำนักงาน ในอนาคตก็ตั้งเป้าที่จะขยายกลุ่มสินค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
จากการทำงานกับ ‘คนตัวเล็ก’ อย่างเอสเอ็มอี พบความท้าทายอะไรบ้าง
ค้นพบความไม่พร้อมหลายๆ อย่าง ทั้งด้านเงินทุน ความรู้ทางด้านดิจิทัล ที่สำคัญ คนเหล่านี้ไม่เห็นประโยชน์ของการวางสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เนื่องจากคนเหล่านี้ยังยุ่งกับธุรกิจของตนเอง ยังวิ่งขายสินค้าเอง ดังนั้น จึงไม่เห็นประโยชน์ว่า ทำไมจะต้องวางสินค้าบนแพลตฟอร์ม ทำไมต้องถ่ายภาพสวยๆ เขียนบรรยายภาพให้โดนๆ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม จากการที่เรามีโอกาสร่วมงานกับธุรกิจรายใหญ่ที่มีทรัพยากร อย่างเงินทุน บุคลากรและมีความเข้าใจ เห็นถึงประโยชน์ของการวางสินค้าบนแพลตฟอร์มก็กลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่ทำให้เราบ่งชี้ได้ว่า เอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์อะไร เช่น สามารถขยายตลาดในต่างจังหวัดได้ เป็นต้น และจากการทำงานกับเอสเอ็มอี การดีลงานกับคนรุ่นลูกที่มีความเข้าใจโลกดิจิทัลมากกว่า ทำให้เราสามารถสื่อสารได้ง่ายขึ้น และคนรุ่นลูกนี้เองที่จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นพ่อแม่กับเราได้
นอกจากนี้ การทำงานกับเอสเอ็มอีก็ทำให้เราเรียนรู้เช่นกันว่า เราต้องปิดช่องว่างทางด้านการสื่อสาร ทำให้เราปรับเปลี่ยนจากศัพท์เทคนิคแบบจัดเต็มเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เช่น SKU เป็น รายการสินค้า, เชื่อม API เป็น เชื่อมระบบ, สร้าง Business Page เป็น หน้าร้านค้า, ฟังก์ชัน RFQ (Request for Quotation : ขอใบเสนอราคา) เป็น ฟังก์ชันถามหา เป็นต้น ศัพท์แสงยากๆ แบบเดิมแม้แต่องค์กรขนาดใหญ่ก็ไม่ต้องการ เขาก็อยากได้ภาษาที่เข้าใจง่ายๆ เหมือนกัน
องค์กรใหญ่ที่ว่านั้นทำไมต้องมาที่ mywawa.me ในเมื่อมีทรัพยากรมากพอ
บางครั้งคำว่า ‘ทรัพยากร’ ไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง เพราะองค์กรเหล่านี้ก็มีโฟกัสของตนเอง เนื่องจากต้องทุ่มงบกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประกอบกับองค์กรเหล่านี้จะมีโจทย์ซ้ำๆ ไม่ท้าทาย ทำให้ไม่สามารถดึงดูดบุคลากรด้านไอทีที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้เท่าที่ควร เนื่องจากมีเส้นทางเติบโต (Career Path) ที่ไม่ชัดเจน แตกต่างกับบริษัทที่เป็น Tech Company หรือธุรกิจแพลตฟอร์มอย่างของเราที่จะมีสินค้า/บริการเป็นโจทย์แปลกๆ เข้ามา ดังนั้น การใช้แพลตฟอร์มของเราเพื่อขยายตลาดจึงทำให้สะดวกกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน องค์กรใหญ่เองก็พยายามปรับตัวเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมงาน ทั้งปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบไฮบริดทั้งทำงานจากบ้าน ผสมผสานกับทำงานที่ทำงานด้วย, การปรับแต่งบรรยากาศในสำนักงานแบบยืดหยุ่นมากกว่าเดิม หรือเป็นสไตล์ลอฟท์ ฯลฯ
เป้าหมายในเฟสต่อๆ ไปของ mywawa.me จะเป็นอย่างไร
เป้าหมายของเราคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยองค์กรในการทรานส์ฟอร์มการทำธุรกิจจากรูปแบบ ออฟไลน์สู่ออนไลน์ เพื่อตอบสนองกับยุค Digital Transformation โดยการเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างผู้ซื้อ ผู้ผลิต และผู้ค้าส่ง
สำหรับเป้าหมายในระยะ 3-5 ปีนี้ เราตั้งเป้าที่จะขยายฐานตลาดในต่างประเทศให้ได้ เราอยากเป็น MyWaWa International เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายสูงสุด นั่นคือเป็น Trade Investment แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เราต้องการเป็นแพลตฟอร์มอันดับแรกในใจสำหรับผู้ที่ต้องการมองหาสินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทว่า ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ตอนนี้ เราต้องการนำพาผู้ประกอบการไทยไปเจาะตลาดในต่างประเทศให้ได้ก่อน เนื่องจากเราเห็นว่า นี่คือโอกาสทางธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ เนื่องจากปัจจุบันก็มีผู้ค้าจากกลุ่มประเทศแถบอินโดจีนอย่าง CLMV ที่ติดต่อเข้ามาแล้ว เพียงแต่ตอนนี้เรายังต้องเดินหน้าสร้างระบบนิเวศของตนเองให้ครอบคลุมการให้บริการดังกล่าว โดยขณะนี้เราอยู่ระหว่างการร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศ ด้วยการจับมือกับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อการรุกสร้างระบบเพย์เม้นท์ ซึ่งจะต้องมีบริการที่ครอบคลุมถึงการเปิดแอลซี รองรับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วย รวมทั้งการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ ซึ่งจะต้องมีบริการที่ครอบคลุมถึบริการคลังสินค้า (Cargo) ตลอดจนระบบโลจิสติกส์ที่สามารถส่งสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้านได้
สำหรับระบบเครือข่ายโลจิสติกส์นั้น เราอยู่ระหว่าง Soft Launch กับ Flash ด้วยบริการส่งแบบเหมาที่เรียกว่า Flash Bulky โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกการขนส่งได้แบบเหมาขนส่งทั้งคัน หรือเหมาขนส่งแบบครึ่งคัน โดย Flash Bulky จะรับสินค้าให้จากโรงงานถึงลูกค้า ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้กำหนดจุดรับสินค้าเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน ส่วนจุดส่งปลายทางก็เป็นจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และบริการนี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้
รูปแบบการเปิดตลาดในต่างประเทศจะเป็นอย่างไร
จะใช้รูปแบบของการเปิดรับซัพพลายเออร์ในประเทศนั้นๆ เพื่อเปิดให้บริการ โดยจะเป็น Facilitator มากกว่า ไม่ใช่แค่รูปแบบ ‘ซื้อมา-ขายไป’ เท่านั้น ซึ่งโจทย์นี้เราได้เจรจากับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แล้ว เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ซัพพลายเออร์ต่างๆ ที่สนใจมาวางโปรไฟล์ที่แพลตฟอร์มของเรา เพื่อเป็นช่องทางติดต่อกับคู่ค้าในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ หากมีการขยายตลาดในประเทศใดเราก็จะประสานงานกับทูตพาณิชย์ในประเทศนั้นๆ ต่อไป
เป้าหมายในอนาคตนี้หนักใจตรงไหนหรือไม่
จริงๆ แล้ว เป้าหมายในอนาคตนี้เป็นเป้าหมายที่เราอยากช่วยเกื้อกูลระบบเศรษฐกิจและสร้างนักรบทางเศรษฐกิจ แม้ว่า ณ จุดแรกจะมาจากความพยายามหาทางรอดให้กับธุรกิจกงสีก็ตาม แต่ที่สุด เราเห็นว่า นี่เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจในภาพรวม ส่วนที่กังวลคือ การที่ผู้ประกอบการอาศัยแพลตฟอร์มต่างประเทศมากๆ นั้นทำให้แพลตฟอร์มต้นทางของประเทศนั้นๆ ได้ข้อมูล (Data) จากการใช้งานของไทยไป ทำให้สามารถวิเคราะห์พฤติกรรม ความต้องการตลาด เทรนด์ตลาด ฯลฯ แล้วผลิตสินค้าดักหน้าผู้ประกอบการไทยได้ จากเดิมที่ผู้ประกอบการไทยจะขึ้นหน้าฟีดอันดับต้นๆ ของแพลตฟอร์ม ปัจจุบันก็ไม่ใช่แล้วผู้ประกอบการอันดับต้นๆ กลายเป็นผู้ประกอบการจีน หรือจากภาวะสงครามการค้าที่ทำให้ระบบโลจิสติกส์มีปัญหา
นี่จึงเป็นสิ่งที่อยากให้ภาครัฐเห็นความสำคัญของ Data Security & Logistics Security (ความมั่นคงทางด้านข้อมูลและความมั่นคงทางด้านโลจิสติกส์) นอกเหนือคีย์เวิร์ดที่เคยพูดถึง Food Security & Power Security (ความมั่นคงทางด้านอาหาร และและความมั่นคงทางด้านพลังงาน) เนื่องจากขณะนี้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ B2C เราเจอปัญหานี้ไปแล้ว ดังนั้น การปิดช่องว่างสำหรับความมั่นคงทางด้านข้อมูลของ B2B จึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ และเราต้องการช่วยปิดช่องว่างตรงนี้ด้วย