‘ซีอาร์จี – โออิชิ’ เดินหน้ากลยุทธ์ Brand Portfolio สู้ศึกร้านอาหารญี่ปุ่น 25,000 ล้าน
23 Dec 2022

นอกจากอาหารไทยที่เป็นอาหารที่คนไทยรับประทานเป็นประจำแล้ว อาหารญี่ปุ่น ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าใหญ่ติดท็อป 3 รองจากร้านอาหารประเภท Quick Service Restaurant หรือ QSR โดยมีการประเมินกันว่า ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในปีนี้ น่าจะมีมูลค่าขยับขึ้นไปเป็น 25,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับตลาดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด–19 ที่ตลาดในช่วงก่อนหน้าปี 2019 นั้น ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นจะมีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านบาท ทำให้ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในปีนี้ถูกมองว่า จะกลับมาคึกคัก ทั้งในเรื่องของการแข่งกันขยายสาขาเพิ่มขึ้น และการนำแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด

 

 

ธีรวัฒน์ เลิศถิรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่ม Japanese Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (Central Restaurants Group) หรือ ‘ซีอาร์จี’ บอกว่า

ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ร้านอาหารญี่ปุ่นมีการปรับตัวค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องการนำโมเดลสาขาในรูปแบบใหม่ๆ ที่สามารถรองรับกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้า อย่างร้านในรูปแบบของ Hybrid Cloud ที่ผสมผสานการขายแบบเดลิเวอรี่ เทคโฮม เข้ามาใช้ และการปรับเมนูให้สามารถสอดรับกับช่องทางขายที่ปรับเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการปรับตัวของผู้บริโภค ที่กลับมาดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติ ในขณะที่เชนร้านอาหารรายใหญ่ เริ่มลงทุนเพื่อเร่งขยายสาขามากขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงการเร่งขยายพอร์ตโฟลิโอ ประกอบกับในปัจจุบันร้านอาหารมีหลายเซ็กเมนต์ จึงทำให้มีผู้ประกอบการแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้การแข่งขันสูงขึ้น

 


“ภาพรวมของกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วย 6 แบรนด์อาหารญี่ปุ่นชั้นนำ อาทิ เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch), ชาบูตงราเมน (Chabuton), โยชิโนยะ (Yoshinoya), โอโตยะ (Ootoya), เทนยะ (Tenya) และ คัตสึยะ (Katsuya)

ด้วยสถานการณ์วิกฤติโควิดเริ่มเบาบางลง ส่งผลให้แนวโน้มตลาดร้านอาหารที่กลับมาคึกคักขึ้น กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นจึงพร้อมเดินหน้าธุรกิจเต็มพิกัดด้วย กลยุทธ์สร้างการเติบโต การปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เพิ่มช่องทางการขายมากขึ้น พัฒนาเมนูใหม่ๆ รวมถึงเร่งขยายพอร์ตโฟลิโอ

โดยตั้งเป้าปี 2565 กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นจะสามารถสร้างการเติบโตมากกว่า 35%”


 

 

รุกด้วย Brand Portfolio Strategy

การกลับมาคึกคักของตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น ทำให้ซีอาร์จีสามารถทำยอดขายในปีนี้ได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของยอดขายรวมทั้งบริษัท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีประมาณ 1,400 ล้านบาท ส่วนในปีหน้า มีการมองว่า ยอดขายจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 2,300 ล้านบาท

การจะบรรลุเป้าหมายในการผลักดันยอดขายไปสู่ตัวเลข 2,300 ล้านบาทในปีหน้านั้น ซีอาร์จี จะรุกแบบครบเครื่อง ไล่ตั้งแต่การพัฒนาเมนูใหม่ๆ เพื่อส่งมอบความอร่อยหลากหลายเมนู และเข้าถึงทุกช่วงโอกาส เพิ่มความวาไรตี้ทางด้านเมนู เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทุกรูปแบบ ทุกกลุ่มอายุและทุกไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงการนำ Innovation ต่างๆ มาพัฒนา ต่อยอด และนำเสนอเมนูใหม่ๆ ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า สามารถสร้างความน่าสนใจ แปลกใหม่ ในขณะเดียวกัน ยังเพิ่มเติมในส่วนของสินค้าในกลุ่ม premium เพื่อเพิ่มทางเลือก และเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่เพิ่มมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (RTE) ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของร้านค้า ประกอบกับการขยายตัวของชุมชนเมือง ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเน้นการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบและต้องการความสะดวกสบาย สามารถซื้อทานหรือทำทานเองได้ที่บ้าน จึงพัฒนาและต่อยอดเมนูสินค้าอาหารพร้อมทาน และสินค้าอาหารพร้อมปรุง (Ready to eat / Ready to cook) โดยสามารถซื้อทาน หรือทำทานเองที่บ้านได้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนราคาย่อมเยา เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย แต่ยังคงได้ความอร่อยเสมือนรับประทานที่ร้าน

ขณะเดียวกัน ยังรุกหาลูกค้า เดินหน้าเปิดสาขาใหม่ด้วย New Format / New Sale Model เพื่อเร่งสร้างยอดขาย และตอบเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค จึงเร่งขยายสาขาเพิ่มในหลากหลายโมเดล ทั้งที่เป็นโมเดลร้านขนาดเล็ก และในรูปแบบ Hybrid Cloud รวมถึงยังเน้นการมองหาพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อให้สามารถขยายสาขาได้คล่องตัว และครอบคลุมพื้นที่ และรองรับธุรกิจเดลิเวอรี่ โดยปัจจุบันกลุ่มธุรกิจอาหารญี่ปุ่นมีจำนวนสาขารวม 211 สาขา (ข้อมูล ณ 31 ต.ค. 65) โดยในจำนวนนี้เป็นร้านแบบ Hybrid Cloud จำนวน 16 สาขา แบ่งเป็น
สัดส่วนในกทม. 68% และต่างจังหวัด 32%

สิ่งที่น่าสนในการรุกตลาดปี 2566 นั้น จะอยู่ที่การเติมเต็มกลยุทธ์ Brand Portfolio Strategy ด้วยการเติมแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาในพอร์ตร้านอาหารญี่ปุ่น จากเดิมที่มีอยู่ 6 แบรนด์ มีการมองถึงการเพิ่มแบรนด์เข้าไปอีกอย่างน้อย 2 – 3 แบรนด์ ซึ่งเป็นการเพิ่มแบรนด์ใหม่ในรอบ 8-9 ปีของผู้เล่นรายนี้

 

 

แบรนด์ล่าสุดที่มีการเปิดตัวก็คือ ‘ราเมน คาเก็ตสึ อาราชิ (Ramen Kagetsu Arashi)’ ร้านราเมนยอดนิยมของญี่ปุ่นที่มีมานานกว่า 30 ปี เป็นราเมงชื่อดังที่มีเอกลักษณ์ที่คนไทยรู้จักกันดีด้วยจำนวนสาขากว่า 200 สาขาทั่วประเทศ และมากกว่า 290 สาขาทั่วโลก อาทิ  ไต้หวัน, จีน และเซี่ยงไฮ้

ราเมน แบรนด์ใหม่นี้ จะจับกลุ่มลูกค้าที่แมสกว่าในราคาที่เข้าถึงง่าย ประมาณ 120 บาท ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับร้านอาหารในพอร์ตที่เป็นเซ็กเมนต์ราเมนของซีอาร์จี จากเดิมที่มีแบรนด์ชาบูตงที่จับกลุ่มพรีเมียมแมส ขายในราคา 200 บาทต้นๆ

ราเมน คาเก็ตสึ อาราชิ ถูกส่งเข้ามาทำตลาดด้วยคอนเซปต์ ‘Ramen คือความบันเทิงระดับโลกของญี่ปุ่น!!’ เจ้าแรกในญี่ปุ่นที่ลูกค้าสามารถเลือกเมนู และสั่งซื้อโดยตรง ผ่านทางตู้สั่งอาหาร (Ordering Machine) ที่เสิร์ฟราเมนสูตรต้นตำรับ ราคาไม่แพง ด้วยวัตถุดิบคุณภาพสูง น้ำซุปกระเทียมทงคตสึ และส่วนผสมที่ผ่านการเคี่ยวอย่างพิถีพิถัน นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น 100% โดยมี Brand Character ที่ชัดเจน มีเมนูที่หลากหลายและน่าสนใจในเรื่องของความเป็น Product innovation จะสร้างความประทับใจ ทั้งในด้าน รสชาติ คุณภาพ และสไตล์ ที่กินได้ทุกวัน ประกอบกับทิศทางการขยายตัวของอาหารเอเชียในไทยที่เพิ่มมากขึ้น

จึงมองเห็นโอกาสในการนำเข้ามาสู่ตลาดประเทศไทย และมั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโต และความแข็งแกร่งให้กับซีอาร์จีได้ สำหรับแผนการขยายสาขาตั้งเป้าเปิด 1 สาขาภายในปี 2565 และ เปิดเพิ่มอีก 5 สาขา ภายในปี 2566

 

 

ส่วนอีก 2 แบรนด์ที่เหลือ จะเปิดตัวในปีหน้า เป็นอาหารประเภทปิ้งย่าง และร้านอาหารประเภท อิซากายะ ซึ่งจะยังคงรูปแบบการทำตลาดที่เป็นกลยุทธ์หลักของซีอาร์จี นั่นคือ การซื้อแฟรนไชส์ที่เป็นแบรนด์ระดับท็อป 3 ของญี่ปุ่น เข้ามาทำตลาดแทนที่การสร้างแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งธีรวัฒน์ บอกว่า มาจากเหตุผลของการสามารถคอนโทรลคุณภาพของอาหารและบริการได้ในระดับเดียวกับที่ญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักกับคนไทยนานนัก เพราะหลายแบรนด์เป็นแบรนด์ที่คนไทยรู้จัก และเคยมีประสบการณ์การใช้บริการมาแล้วจากการเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น

        เป็นอีกการรุกตลาดที่น่าจะเพิ่มสีสันให้กับตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นไม่มากก็น้อย

 


 

โออิชิ มาแบบครบพอร์ต

การขยับตัวของ ‘โออิชิ’ แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนให้เห็นถึงการทำตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น ที่ต้องสู้กันด้วยความหลากหลายของแบรนด์ในพอร์ต เพราะการมีแบรนด์ที่ครบพอร์ตนั้น จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้

โออิชิ กรุ๊ป มีแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นในพอร์ตด้วยกันทั้งหมด 11 แบรนด์ ครอบคลุมในทุกเซ็กเมนต์ ไล่ตั้งแต่กลุ่ม Premium ที่มีระดับราคาตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไปคือ แบรนด์ ซาคาเอะ (SAKAE)  โฮว ยู (HOU YUU) โออิชิ แกรนด์ (OISHI GRAND)

  • กลุ่ม Premium Mass ระดับราคา 700+ บาทขึ้นไป คือ โออิชิ อีทเทอเรียม (OISHI EATERIUM) โออิชิ บุฟเฟต์ (OISHI BUFFET) นิกุยะ (NIKUYA By OISHI) ชาบู บาย โออิชิ (SHABU By OISHI) และ
  • กลุ่ม Mass ระดับราคา 500 บาทลงมา คือ ชาบูชิ (Shabushi By OISHI) โออิชิ ราเมน (OISHI RAMEN) คาคาชิ (KAKASHI By OISHI) โออิชิ บิซโทโระ (OISHI Biztoro)

  

     

 

ช่วงที่ผ่านมาโออิชิ มีการเปิดร้าน ‘โฮว ยู’ สาขาแนวคิดใหม่ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นสาขาลำดับที่ 4 ชูจุดเด่นด้านคุณภาพของวัตถุดิบที่คัดสรรมาอย่างดี และรสชาติอาหารตามมาตรฐานชั้นสูงของอาหารญี่ปุ่น โดยนำเสนอผ่านเมนูอาหารญี่ปุ่นต้นตำรับ อาทิ ซูชิ ซาชิมิ ดงบุริ อุด้ง/ราเมน ฯลฯ ด้วยบริการ อะ ลา คาร์ท ในราคาที่สมเหตุสมผล อีกทั้งยังมีเมนูที่พัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยเฉพาะ ได้แก่ อาหารญี่ปุ่นชุดพิเศษ เมนูชุดโกเซ็นและเมนูชุดไคเซกิ ซึ่งจะเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับสาขา โฮว ยู - ศูนย์ฯ สิริกิติ์ เท่านั้น ตอบโจทย์สำหรับคนรักอาหารญี่ปุ่นต้นตำรับที่มีความละเมียดละไมในการรับประทานอาหาร

ล่าสุดก็มีการเปิดร้านโออิชิ แกรนด์ สยามพารากอน โฉมใหม่ ไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ปิดรีโนเวทไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม

 

 

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โออิชิ ในฐานะผู้นำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นที่ไม่เคยหยุดนิ่งในการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เดินหน้าพัฒนาและยกระดับมาตรฐานบริการให้ดียิ่งขึ้นมาโดยตลอดกับแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือ

ซึ่งล่าสุดได้มีการเปิดตัวโฉมใหม่ภัตตาคารบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นระดับตำนานอย่าง ‘โออิชิ แกรนด์’ (OISHI GRAND) ที่ปิดรีโนเวทไปตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยรูปโฉมใหม่ของ ‘โออิชิ แกรนด์’ สยามพารากอน เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา และมาภายใต้แนวคิด ‘THE ULTIMATE EXPERIENCE OF ALL-TIME FAVORITE AND REAL JAPANESE TASTE’ หรือ ‘ให้ทุกคำ...ผสานรสชาติต้นตำรับญี่ปุ่นแท้ๆ พร้อมสัมผัสประสบการณ์ความอร่อยครั้งใหม่...ไม่มีที่สิ้นสุด’

 

 

โดยโฉมใหม่ของโออิชิ แกรนด์ จะมาพร้อมกลยุทธ์สำคัญ คือ

  1. มุ่งส่งมอบประสบการณ์อาหารญี่ปุ่นต้นตำรับ วัตถุดิบคุณภาพ สะอาด สดใหม่ ที่ครบครัน และหลากหลายกว่าที่เคย จัดเต็มทั้ง ของคาว-ของหวาน-เครื่องดื่ม เรียกได้ว่า อร่อย ครบรส จบในร้านเดียว !
  2. ผสานการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นส่วนหนึ่งของการบริการอย่าง ระบบการสั่งอาหารอัตโนมัติผ่านคิวอาร์โค้ดด้วยแท็บเล็ต ณ จุดให้บริการภายในร้าน หรือโทรศัพท์มือถือส่วนตัว เป็นต้น
  3. ประกอบกับการปรุงประกอบอาหารแบบจานต่อจาน (ในลักษณะ Made-to-Order) ด้วยความพิถีพิถัน และใส่ใจ เพื่อคุณภาพและความสดใหม่ของอาหาร และ
  4. ซึ่งมีส่วนช่วยลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) และขยะอาหาร (Food Waste) โดยเปล่าประโยชน์ รับเทรนด์การบริโภคอาหารแบบยั่งยืน

 

 

โดยโออิชิ แกรนด์ รูปโฉมใหม่นั้น จะมีความเป็นญี่ปุ่นมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของเมนูใหม่ มีเมนูอาหารญี่ปุ่นที่ครบครัน และหลากหลายมากขึ้น บนพื้นที่ใหม่ สยามพารากอน ชั้น 4 เหมือนเดิม แต่มีขยับไปที่โซนที่เป็นศูนย์รวมร้านอาหารญี่ปุ่น

รวมถึงมีการปรับกลยุทธ์ด้านราคา ที่จะให้บริการใหม่ ผ่านบุฟเฟต์ 3 ระดับราคา ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าในรูปแบบของการเป็นบุฟเฟต์ + อะ ลา คาร์ท

โดยจะมีระดับราคาให้เลือกทั้งหมด 3 ระดับ ไล่ตั้งแต่ 1. PREMIUM Buffet 1,059++ 2. PLATINUM Buffet 1,659++ ไปจนถึง 3. PRESTIGE Buffet 2,659++ ซึ่งเป็นการนำเสนอในรูปแบบใหม่ที่เพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าที่ต้องการเลือกเมนูระดับพรีเมียมมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการปรับกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การบริโภคของลูกค้าที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การนำเสนอบุฟเฟต์ในรูปแบบเดิมๆ โดยมีการนำดิจิทัลเข้ามาใช้ในการสั่งอาหารที่สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดในเมนูที่ต้องการ

ขณะที่ลูกค้ายังสามารถมีประสบการณ์กับการเลือกตักเมนูบุฟเฟต์ที่หลากหลายกว่า 200 เมนู สามารถรองรับและตอบโจทย์ความต้องการของคนรักอาหารญี่ปุ่นได้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นอีกการส่งมอบประสบการณ์ใหม่ในการใช้บริการร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียมที่โออิชิ แกรนด์ โฉมใหม่ นำเสนอให้

 

การเปิดตัวโออิชิ แกรนด์ โฉมใหม่ในครั้งนี้ จะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นในพอร์ตพรีเมียมของโออิชิ


“การรีโนเวทในครั้งนี้ เป็นการยกระดับและส่งมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า ขณะเดียวกันก็ตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็นผู้นำตลาดของโออิชิ ที่ไม่หยุดนิ่งในการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า”


 

 เป็นอีกการขยับตัวที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ในพอร์ตพรีเมียมได้เป็นอย่างดี...

 

[อ่าน 3,254]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ต้อนรับตรุษจีนปีมะเส็ง เต็มพื้นที่สยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่
ไฮเซ่นส์ นำเสนอ “Innovation In-Style” ยกระดับคุณภาพชีวิตในปี 2568
ยูนิโคล่ เดินหน้ามอบฮีทเทค 1 ล้านชิ้นทั่วโลก ตามพันธกิจ “The Heart of LifeWear”
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ฯ ส่งต่อโอกาสการเข้าถึงแหล่งโภชนาการในพื้นที่ห่างไกล
เคทีซี ประกาศผลประกอบการ 2567 กำไรต่อเนื่อง 7,437 ล้านบาท
ซัมซุง ส่งผลิตภัณฑ์ทีวีและเครื่องเสียง คว้า 6 รางวัล จาก Best of The Best TV Award โดย LCDTVTHAILAND
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved