ในวินาทีนี้คงไม่มีแอปพลิเคชันไหนที่สั่นสะเทือนโลกได้มากเท่า ‘Pokémon GO’ (โปเกมอน โก) เกมที่พัฒนาร่วมกันระหว่างค่าย ‘Nintendo’ (นินเทนโด), Pokemon Company (โปเกมอน คอมปานี) และ ‘Niantic Labs’ (เนียนติก แล็บส์) เป็นแน่แท้ เพราะเพียงชั่วข้ามคืนของการเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมาในสามประเทศแรก (สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) Pokémon GO ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม และทำลายทุกสถิติบนโลกออนไลน์ไปอย่างราบคาบ
เริ่มตั้งแต่การเป็นแอปที่มีคนดาวน์โหลดทั่วโลกรวมกันถึง 10 ล้านครั้งได้เร็วที่สุด โดยใช้เวลาเพียง 7 วัน แซงหน้า Clash Royale (9 วัน) และ Candy Crush Jelly Saga (12 วัน) ไปได้แบบชิลล์ๆ ในขณะเดียวกัน Pokémon GO ก็ยังขึ้นไปครองตำแหน่งเกมมือถือที่มีจำนวน Active user มากที่สุดในสหรัฐอเมริกาที่ 21 ล้านคน/วัน แซงหน้าเกมดังอย่าง Candy Crush Saga ซึ่งเคยมีจำนวน Active user ที่ 19 ล้านคน/วัน (ปี 2556)
นอกจากนี้ Pokémon GO ยังกลายเป็นแอปที่มีการใช้งานเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 33.25 นาที แซงหน้าแอปโซเชียลเน็ตเวิร์คสุดฮิตอย่าง Facebook (22.8 นาที) Snapchat (18.7 นาที) Twitter (17.56 นาที) และ Instagram (15.15 นาที)
อานิสงส์ของ Pokémon GO ก็ยังช่วยฉุดกระชากให้มูลค่าหุ้นของ Nintendo พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้มูลค่าของบริษัท (Market Cap) ของ Nintendo เพิ่มเป็น 4.5 ล้านล้านเยน (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) แซงหน้าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Sony ไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย
ทำความรู้จักกับ ‘Pokémon’
จริงๆ แล้ว Pokémon หรือ Pocket Monster ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกบนเครื่องเกมพกพา Gameboy ของ Nintendo ในรูปแบบเกมแนว Simulation RPG หรือเกมประเภทจำลองสถานการณ์ โดยให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นตัวละครหลักในเกม เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ภายในเกม ในฐานะ Pokémon Trainer (โปเกมอน เทรนเนอร์) เพื่อจับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า Pokémon (โปเกมอน) ซึ่งเราจะต้องฝึก Pokémon ให้แข็งแกร่งเพื่อจะนำไปต่อสู้กับ Pokémon Trainer คนอื่นในเกม รวมไปถึงภารกิจการรวบรวม Pokémon ให้ครบ เพื่อก้าวไปสู่การเป็น Pokémon Master
‘Pokémon GO’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวของ Nintendo ในการเดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ด้วยการเปลี่ยนจากเกมที่เล่นได้แค่บนเครื่องเกมพกพา มาสู่เกมบนสมาร์ทโฟนในรูปแบบของ AR (Augmented Reality) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผสมผสานโลกเสมือน (Virtual World) เพิ่มเข้าไปในโลกจริง (Physical World) เพื่อให้ผู้เล่นสามารถออกเดินทางตามจับ Pokémon ได้ตามสถานที่และสิ่งแวดล้อมจริงๆ ในชีวิตประจำวัน โดยใช้ข้อมูลตำแหน่งพิกัดจาก Google Map โดยมาพร้อม Pokémon GO Plus ซึ่งเป็นอุปกรณ์พิเศษที่จะแจ้งเตือนเวลาที่มี Pokémon อยู่ใกล้ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเฝ้าหน้าจอตลอดเวลา
การผจญภัยที่ไม่มีจุดสิ้นสุด
แน่นอนว่าจุดเด่นของเทคโนโลยี AR ทำให้ Pokémon GO กลายเป็นเกมที่ให้ผู้เล่นได้ออกผจญภัยกันจริงๆ ไม่ใช่แค่นั่งเล่นอยู่กับที่อีกต่อไป เพราะ Pokémon แต่ละตัวก็มีลักษณะพิเศษและแหล่งอาศัยที่แตกต่างกันไป เรียกง่ายๆ ว่าถ้าอยากจะจับ Pokémon ตัวใหม่ๆ หรือตัวที่หายาก ก็จะต้องออกเดินทางตามล่าไปในสถานที่ต่างๆ เช่น ถ้าไปแถวแม่น้ำก็อาจจะ Pokémon ประเภทปลา หรือหากไปในเวลากลางคืนก็อาจจะเจอ Pokémon ประเภทผี
นอกจากนี้ ตัวเกมยังกำหนดให้สถานที่สำคัญต่างๆ เช่น สถานีตำรวจ พิพิธภัณฑ์ หรือโบสถ์ กลายเป็นจุดแวะพัก (Poke Stop) ที่ผู้เล่นสามารถเข้าไปรับ Poké Ball ไว้สำหรับจับ Pokémon และบางครั้งก็อาจจะได้รับไข่ Pokémon ให้เราไปฟักเป็นตัว Pokémon ได้ด้วย รวมไปถึงระบบ Gym ที่ผู้เล่นแต่ละฝ่าย (สีแดง สีเหลือง และสีฟ้า) สามารถค้นหาได้ตามสถานที่สำคัญ ห้างสรรพสินค้า หรืออาคารสำนักงานต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งหาก Gym นั้นยังไม่มีเจ้าของเราก็สามารถเข้าไปครอบครองได้ทันที แต่ถ้ามีเจ้าของแล้วเราก็จะต้องเข้าไปต่อสู้แย่งชิง Gym มาเป็นของเรา เสมือนเป็นการขยายอาณาเขตของแต่ละสีนั้นเอง
ในขณะเดียวกัน ระบบของเกมก็ยังมีอีเวนต์ที่ให้ผู้เล่นเข้าร่วมต่อสู้กับ Pokémon หายาก และการแลกเปลี่ยน Pokémon ระหว่างผู้เล่นด้วยกันในอนาคต
เส้นทางผจญภัย = เส้นทางอาชีพ
Pokémon GO ถือเป็นหนึ่งในโปรเจกต์เฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีของซีรีส์ Pokémon ที่ยิ่งใหญ่แบบที่ผู้พัฒนาเกมก็คาดไม่ถึง เพราะแม้ว่าตัวเกมจะเป็น Free Game ที่เปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรี แต่มาจนถึงเวลานี้ Pokémon GO กลับสามารถสร้างรายได้จากระบบ In-App Purchase ถึงวันละ 2 ล้านเหรียญสหรัฐในระยะเวลาไม่ถึงเดือน
ในขณะเดียวกัน Pokémon GO ก็ได้กลายเป็นกระแสให้ทางร้านค้าและสถานที่ต่างๆ หยิบจับมาเป็นกิมมิคเรียกลูกค้ามากมาย รวมไปถึงเหล่านักธุรกิจหัวใสที่ผุดธุรกิจขึ้นมารองรับเหล่าเทรนเนอร์ เช่น ร้านค้าต่างๆ ที่ออกมาแปะป้ายว่าภายในร้านมี Pokémon ให้จับ เชิญเข้ามาได้เลย หรือกระทั่งร้านสตาร์บัคส์ในนิวซีแลนด์ก็ยังออกเมนูใหม่ 'Poke Ball' ที่มีหน้าตาคล้ายกับสัญลักษณ์ของเกมออกมาร่วมกระแสกับเขาด้วยเช่นกัน
เครดิตภาพ @kobamuraworld
ส่วนในอเมริกาก็มีหลายคนที่เริ่มลงประกาศรับจ้างขับรถพาไปจับ Pokémon ตามสถานที่ต่างๆ โดยมีราคาราว 20-25 เหรียญต่อเทรนเนอร์ 1 คน ในเวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งเหล่าคนขับก็มีออฟชั่นสำหรับเรียกลูกค้าต่างกันไป เช่น Wi-Fi ฟรี ที่ชาร์จโทรศัพท์ หรือกระทั่งขนมให้ทานกันฟรีๆ
ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันโมเดลรายได้ของ Pokémon GO จะยังอยู่ในลักษณะของการขายไอเทมในเกมเป็นหลัก แต่เชื่อว่าในอนาคตหลายแบรนด์จะเริ่มให้ความสนใจ และวิ่งเข้ามาเป็น Sponsored Location กันมากขึ้น อย่างเช่นล่าสุดในญี่ปุ่นที่ McDonald’s ได้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับทางเกม พร้อมกับเปลี่ยนร้าน McDonald’s กว่า 3,000 สาขาทั่วญี่ปุ่นให้กลายเป็น Gym เพื่อให้เหล่าเทรนเนอร์เข้ามาต่อสู้และสั่งอาหารกับทางร้าน
Koji Sasahara/Associated Press
อย่างไรก็ตาม Pokémon GO ก็ไม่ได้มีแค่ด้านดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีด้านลบที่เกิดขึ้นไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเหล่าผู้เล่นที่พากันบุกรุกเข้าไปยังสถานที่ส่วนบุคคล หรือผู้เล่นที่ฝ่าฝืนข้อห้ามในสถานที่ต่างๆ เพื่อเข้าไปจับ Pokémon รวมไปถึงผู้เล่นที่ก้มหน้าก้มตาอยู่กับเกมจนลืมระมัดระวังอันตรายรอบตัว จนบางสถานที่ถึงกับสั่งห้ามเล่น Pokémon เลยทีเดียว
มาถึงวันนี้ Pokémon GO ได้เปิดให้ดาวน์โหลดในไทยเรียบร้อยแล้ว ก็คงต้องรอดูกันไปอีกซักพักใหญ่ๆ ว่าเทรนเนอร์ชาวไทยจะเห่อกับกระแสนิยมนี้มากน้อยเพียงใด และภาคธุรกิจของไทยได้เตรียมตัวรับมือกับความฮิตนี้กันแล้วหรือยัง
แต่ที่แน่ๆ งานนี้ Power Bank ทั้งหลายคงจะขายดีกันทุกยี่ห้อ เพราะเจ้าโปเกมอนช่างกินแบตเหลือเกิน!
ต่ัวอย่างแบรนด์ที่ขออิงกระแส Pokémon GO