ปัจจุบัน เรามักเห็นการก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของผู้ประกอบการหญิงในหลากหลายธุรกิจ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ไม่ได้เอื้อให้ทุกคนเติบโตได้ตามความตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะและความรู้ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนตามไม่ทัน กอปรกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่คาดเดาไม่ได้ และที่สำคัญยังขาดการสนับสนุนจากคนรอบข้าง จนทำให้ผู้ประกอบการหญิงเกิดความกลัว ท้อ และหมดความมั่นใจจนล้มเลิกไปในที่สุด
Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) ได้เล็งเห็นปัญหานี้ของผู้ประกอบการหญิงกว่า 70% ในประเทศไทยขาดความมั่นใจและกลัวความล้มเหลว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตทางธุรกิจและการสร้างนวัตกรรมในธุรกิจของตน จึงได้จับมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ จัดทำโครงการ Women Made เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการหญิงเปิดใจเอาชนะความกลัว ก้าวข้ามอุปสรรคเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีทางสังคมผ่านธุรกิจของตน
คุณนก-มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ได้เล่าว่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ Women Made ว่า
“โครงการ Women Made เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2022 เปรียบเสมือนพื้นที่การเรียนรู้และสนามทดลองให้ผู้ประกอบการผู้หญิงได้ลงมือทำอะไรใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจ ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อยอดธุรกิจและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ โดยมีเป้าหมายที่จะนำธุรกิจไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ในแบบที่ไม่ต้องกลัวความผิดพลาด”
โครงการ Women Made ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการหญิงในประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยมีผู้สมัครร่วมโครงการกว่า 100 แบรนด์ ต้องผ่านคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการอย่างเข้มข้นด้วย 3 ข้อหลัก คือ
1. Business Performance: มีประสบการณ์การขายสินค้าหรือทำธุรกิจและสินค้ามีความโดดเด่น
2. Online Scale Potential: ธุรกิจมีศักยภาพในการเติบโตบนโลกออนไลน์
3. Social Impact: ธุรกิจมีความตั้งใจและเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม จนได้ผู้ร่วมโครงการทั้ง 10 แบรนด์
และเมื่อผ่านการคัดเลือกแล้ว ทั้ง 10 แบรนด์ได้เข้าร่วมอบรมมาสเตอร์คลาสพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์จากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำทั้งด้านการทำธุรกิจออนไลน์ การตลาดและแบรนดิ้ง การออกแบบและต่อยอดผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม โดยได้รับเงินสนับสนุนในการพัฒนาสินค้าแบรนด์ละ 25,000 บาท ซึ่งในระยะเวลา 2 เดือนเต็ม แต่ละแบรนด์ต้องนำความรู้ทางเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดแบรนด์และผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยมีผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายนักสร้างสรรค์คอยให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำตลอดทั้งการดำเนินโครงการ จนได้ผลลัพธ์เป็นผลิตภัณฑ์คอลเลคชั่นพิเศษที่ผลิตขึ้นเพื่อวางขายจริงบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างช้อปปี้เมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา
และนี่เป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการหญิงในโครงการ Women Made ที่ผ่านการอบรมจนได้ผลงานสุดสร้างสรรค์ มาวางจำหน่ายในช้อปปี้และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี
ภญ.ชัญญานุช พันธุ์ประเสริฐ เจ้าของแบรนด์ Mediherbtea จำหน่ายชาจากดอกไม้ เล่าว่า
“การได้เข้าร่วมโครงการนี้จึงมีประโยชน์อย่างมาก เพราะเราได้ผู้เชี่ยวชาญและนักสร้างสรรค์มาช่วยให้คำแนะนำในการออกแบบผลิตภัณฑ์ แพคเกจ โลโก้ กอปรกับการได้เรียนรู้เรื่องการขายออนไลน์มากขึ้น ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์ความพิเศษของสินค้าเราได้แตกต่างไปจากเดิม โดยเราได้รังสรรค์รสชาติใหม่เพื่อโครงการนี้โดยเฉพาะ โดยผสมผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความรู้ด้านแพทย์ทางเลือก ประกอบไปด้วยชาเบลนด์ 3 สี 3 รสชาติ ที่สามารถดื่มได้ตั้งแต่เช้าถึงเย็น ทำจากธรรมชาติ 100% ปราศจากคาเฟอีน น้ำตาลและสีสังเคราะห์ เหมาะสำหรับการบำบัดร่างกายและจิตใจของผู้ดื่มในทุกวัน ซึ่งการได้ขายในช้อปปี้ทำให้มียอดการสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น และมีการกลับมาซื้อซ้ำ ทั้งยังนำไปเป็นของฝากตามโอกาสต่างๆ ด้วย ซึ่งโครงการนี้เป็นการทำให้เห็นว่ายังมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง ฉะนั้นถ้าเราขวนขวายหาโอกาสเรื่อยๆ ไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง สักวันโอกาสจะเป็นของเราค่ะ”
คุณชลธิชา ทองบริสุทธิ์แท้ เจ้าของแบรนด์ Ales Thailand จำหน่ายสกินแคร์ดูแลผิว เล่าว่า
“การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้ด้านการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น เพราะปกติวางขายออฟไลน์เป็นหลัก โครงการนี้เป็นการสร้างความมั่นใจในเรื่องการทำธุรกิจมากขึ้น เปิดโอกาสและช่วยผลักดันผู้ประกอบการเล็กๆที่ไม่มีประสบการณ์ทำธุรกิจมาก โดยได้วิทยากรที่มีประสบการณ์ตรงมาคอยช่วยแนะนำ ให้ความรู้เรา ทำให้เราทำธุรกิจได้อย่างมั่นใจ มีมุมมองในการทำธุรกิจได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น สอนให้เราสามารถคิดและวางแผนต่อยอดในการทำธุรกิจต่อไปในอนาคต ทำให้ตอนนี้มียอดการติดตามเพิ่มขึ้น ยอดการสั่งซื้อออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นมากค่ะ”
คุณอัมภานุช บุพไชย เจ้าของแบรนด์ "ทันจิตต์ "จำหน่ายขนม ตะแกรงเผือกกรอบ เล่าว่า
“การได้เรียนรู้เรื่องการทำตลาดออนไลน์จากโครงการนี้ ทำให้เรารู้จักการวัดผลของการขาย การทำคอนเทนต์ รวมถึงการออกแบบหน้าร้านให้น่าสนใจ เนื่องจากเราได้ร่วมงานกับนักสร้างสรรค์ และมีวิทยากรให้ความรู้ ทำให้แบรนด์ดิ้งของสินค้าชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าผลิตภัณฑ์ขนมทันจิตต์จะมีมากว่า 40 ปี แต่เราเพิ่งจะเริ่มวางจำหน่ายทางออนไลน์ ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่มั่นใจในสินค้าของเราว่าจะถูกใจผู้บริโภคหรือเปล่า แต่เมื่อได้ร่วมโครงการทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์ของเราแตกต่างจากเผือกฉาบทั่วไป มีความพิเศษ สวย แปลกใหม่ และมีหลายรูปแบบ ได้แก่ เผือกกรอบรูปตะแกรง เผือกกรอบแบบเส้น เผือกแท่งอบกรอบสูตร Vegan / มังสวิรัติ ดังนั้นการขายบนออนไลน์จึงทำให้คนรู้จักสินค้าเรามากขึ้น ส่งผลให้ยอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมาเกือบ 100% ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา”
“จากความสำเร็จครั้งนี้ ทาง Sea (ประเทศไทย) รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความมั่นใจให้กลุ่มผู้ประกอบการหญิงในประเทศไทยในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้สินค้าและบริการของตนเอง และใช้เทคโนโลยีในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจและความยั่งยืนทางสังคม ทั้งยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถจุดไฟแรงบันดาลใจและส่งต่อความรู้ เพื่อเสริมความมั่นใจและสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงให้ประสบความสำเร็จได้ เพราะเราเชื่อว่าผู้หญิงมีพลังและจะเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต” คุณมณีรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย