สร้างความเซอร์ไพรส์ไปทั่วโลก เมื่อจู่ๆ Toyota ได้ตัดสินใจเปลี่ยน 'แม่ทัพคนใหม่’ จากทายาทสายตรง มาเป็นวิศวกรลูกหม้อที่อยู่มายาวนาน
คำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า ทำไมถึงต้องเปลี่ยน แต่สิ่งที่คนทั่วไปตั้งคำถามคือ แม่ทัพคนใหม่นี้จะช่วยให้ Toyota สามารถเร่งเครื่องบนสนามยานยนต์ไฟฟ้าได้เร็วขึ้นหรือ
เพราะวันนี้ยักษ์ใหญ่จากแดนซามูไร กำลังถูกตั้งคำถามว่า ช้าไปหรือไม่ กับยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกคนกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
ลูกหม้อของ Toyota ที่อยู่มานานสามทศวรรษ
"ฉันชอบทำรถยนต์ นั่นเป็นเหตุผลที่ฉันอยากเป็นประธานาธิบดีที่สร้างสรรค์รถยนต์ต่อไป เพื่อแสดงให้เห็นว่า Toyota ควรอยู่ในรูปของรถยนต์อย่างไร" โคจิ ซาโตะ ผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งประธานและซีอีโอของ Toyota Motor กล่าว
ซาโตะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Waseda University ในปี 1992 ด้วยสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งเขาสร้างรถยนต์ของ Toyota มาเป็นเวลากว่าสามทศวรรษ รวมถึง Prius ซึ่งเป็นรถยนต์ไฮบริดรุ่นเรือธงของ Toyota และ Corolla ที่ใช้ไฮโดรเจน
ปัจจุบันเขารั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิศวกรรมและประธานของ Lexus ซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์หรูในเครือของ Toyota Motor วิศวกรมากประสบการณ์คนนี้ได้รับการยกย่องจาก 'อากิโอะ โตโยดะ’ ซึ่งเป็นผู้ส่งต่อตำแหน่งว่า เป็นบุคคลที่ "ทำงานอย่างหนักในในการดูแลการผลิตรถยนต์เพื่อให้ได้มาซึ่งปรัชญา เทคนิค ธรรมเนียมปฎิบัติของ Toyota”
Nikkei Asia รายงานว่า ลูกหม้อของ Toyota คนนี้ "ไม่เคยแสดงอาการเดือดร้อนใดๆ" และยังคงรักษา "บุคลิกที่กระฉับกระเฉงและแนวทางปฏิบัติจริง" อยู่เสมอ ตามคำกล่าวของผู้บริหารที่รู้จักวิศวกรคนนี้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ เขาปฏิบัติตามความเชื่อที่ว่าไม่มีสิ่งใดใหม่ที่สามารถสร้างขึ้นได้โดยไม่ผลักดันสิ่งต่างๆ ให้ถึงขีดจำกัด
ความเป็น ‘เด็ก’ จะได้เปรียบ
การเปลี่ยนแม่ทัพในรอบ 14 ปีของ Toyota เกิดขึ้นในขณะที่ยักษ์รถยนต์ต้องรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีการเคลื่อนที่อื่นๆ
Toyota กำลังเผชิญกับคำวิจารณ์ว่า ‘ช้าเกินไป’ ที่จะปรับตัวให้เข้ากับผู้ท้าชิงสนามในยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังแข็งเกร่งขึ้นอย่างมาก เช่น Tesla และ BYD ของแดนมังกร
โตโยดะ ซึ่งเป็นสมาชิกของครอบครัวผู้ก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะขึ้นเป็น Chairman ในการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง เขาเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่บริษัทจะต้องมีทีมผู้บริหารชุดใหม่ที่มีผู้นำอายุน้อยเพื่อรับมือกับความท้าทายข้างหน้า
โดยอายุที่ค่อนข้างน้อยของซาโตะถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาได้รับเลือก "เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในยุคที่ยังไม่ทราบคำตอบที่ถูกต้อง ทำให้ผู้บริหารระดับสูงจำเป็นต้องอยู่ในแนวหน้าต่อไป ในการทำเช่นนั้นความแข็งแกร่งทางร่างกาย พลังงาน และความหลงใหลเป็นสิ่งสำคัญ ผมคิดว่าการที่ยังเด็ก เป็นแรงดึงดูดที่ยิ่งใหญ่ในตัวเอง"
การเปลี่ยนแปลง ‘ครั้งใหญ่ในศตวรรษ’
อุตสาหกรรมยานยนต์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่โตโยดะเรียกว่าการเปลี่ยนแปลง ‘ครั้งใหญ่ในศตวรรษ’ ผู้ผลิตรถยนต์ในขณะนี้ไม่เพียงแต่แข่งขันกันที่ความสามารถทั่วไป เช่น ความเร็ว ความทนทาน และความปลอดภัย แต่ยังแข่งขันกับกฎเกณฑ์ใหม่ เช่น ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและฟังก์ชันการทำงานที่ล้ำสมัย ตั้งแต่ปัญญาประดิษฐ์ไปจนถึงการขับขี่อัตโนมัติและความบันเทิง
สถานการณ์ดังกล่าวได้เปิดประตูสู่ผู้มาใหม่เช่น Tesla, BYD และล่าสุด Sony Honda Mobility ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น 2 แห่ง
"ผมเป็นคนหัวโบราณ" โตโยดะกล่าว โดยบอกเป็นนัยว่าความหลงใหลในรถยนต์ของเขาเป็นตัวขัดขวางแนวทางของบริษัทในการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ยุคหน้า เช่น การแปลงเป็นดิจิทัล การใช้พลังงานไฟฟ้า และการเชื่อมต่อ
ดังนั้นการลาออกของโตโยดะจะทำให้ Toyota เดินทางสู่เส้นทางใหม่ๆ ซึ่งโตโยดะยังกล่าวอีกว่าผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นควร ‘เป็นอิสระและเติบโต’ โดยยอมรับว่าในขณะที่ความเป็นผู้นของเขาอาจเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จก่อนหน้านี้ของบริษัท แต่ตอนนี้ก็ไม่เพียงพออีกต่อไป
โตโยดะ กล่าวว่าเขาได้บอกกับแม่ทัพคนใหม่ว่า ไม่ควรพยายามจัดการบริษัทเพียงลำพังแต่ควรทำร่วมกับทีม โดย ‘ภารกิจของทีมงานใหม่ซึ่งนำโดย โคจิ ซาโตะ คือการปรับโฉม Toyota ให้เป็นบริษัทแห่งการขับเคลื่อน (Mobility Company)’
เดินหน้าสู่พลังงานสีเขียว
เหตุผลที่ Toyota ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพราะเวลานี้ธุรกิจทั่วโลกกำลังเดินหน้าสู่พลังงานสีเขียว โดยบริษัทต่างๆ นักลงทุนและรัฐบาลบางแห่งกำลังผลักดันการก้าวกระโดดไปสู่พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสีเขียวโดยอ้างว่าผู้บริโภคและโครงสร้างพื้นฐานจะตามทันการเปลี่ยนแปลง
ในขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐบาลและนักลงทุนต่างจูงใจให้บริษัทต่างๆ หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยการอุดหนุนและการลดหย่อนภาษี อย่างเครดิตภาษีรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ในกฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อว่า Inflation Reduction Act ใช้ไม่ได้กับรถยนต์ไฮบริด แต่ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% เท่านั้น
ด้านสหภาพยุโรปได้กำหนดให้มีการขายรถยนต์ใหม่ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2035 ส่วนรัฐแคลิฟอร์เนียจะอนุญาตให้การขายรถยนต์ใหม่ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์เซลล์ไฮโดรเจนเท่านั้น ซึ่งกฎใหม่นี้จะเริ่มในปี 2578 2035
ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโตในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา และหนึ่งในห้าของตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือจีนได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว
เทคโนโลยีที่ยังไม่สมบูรณ์
แม้ผู้คนจะตื่นเต้นกับรถยนต์ไฟฟ้า แต่โตโยดะเขาต้องการตัดสินใจเกี่ยวกับบทบาทของรถยนต์ไฟฟ้าในเส้นทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่ตื่นเต้นกับสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็น 'เทคโนโลยีที่ยังไม่สมบูรณ์’
สำหรับโตโยดะเขามองว่า สิ่งที่เหมาะสมตอนนี้คือการมีรถยนต์ที่หลากหลายซึ่งรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าด้วย เพราะแทบจะไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเลย ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ได้ผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ขับเคลื่อนรถยนต์บนท้องถนน และในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียก็ไม่น่าจะสามารถสร้างพลังงานหมุนเวียนได้อย่างรวดเร็ว
โดยโตโยดะยังคงยึดมั่นในนโยบาย ‘แนวทางแก้ปัญหาหลายทาง’ ต่อวิกฤติสภาพอากาศ ซึ่งไม่ได้ฉายแสง เฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนด้วย
แม่ทัพคนใหม่ของ Toyota ได้สะท้อนปรัชญานี้ในวิดีโอคลิปที่เปิดในงานแถลงข่าวว่า "การใช้ไฟฟ้าไม่ใช่วิธีเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ ... คุณต้องใช้วิธีการแบบ 360 องศาเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นกลางทางคาร์บอน"
ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ายังน้อยนิด
The Wall Street Journal รายงานว่า ตัวเลขล่าสุดนั้น Toyota ยังคงเป็นผู้นำในการขายรถไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งเป็นรถสองรุ่นที่มีสัดส่วนเกือบ 30% ของยอดจัดส่งทั่วโลกในปี 2022 จนถึงเดือนพฤศจิกายน แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 100% ยังถือว่าน้อยนิด
ในสหรัฐอเมริกาซึ่ง Tesla ครองตลาดรถยนต์ไฟฟ้านั้น Toyota ไม่ได้ติดอันดับ 1 ใน 10 อันดับแรกของผู้ขายรถยนต์ไฟฟ้าในปีที่แล้ว ตามรายงานของบริษัทวิจัยข้อมูล Motor Intelligence
ทั่วทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์มากกว่า 1 ใน 10 ที่ขายในยุโรปในปี 2022 และเกือบ 1 ใน 5 ในประเทศจีนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ตามข้อมูลของ LMC Automotive ขณะที่ในสหรัฐอเมริการถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็น 5.8% ของยอดขายรถยนต์ในปีที่แล้ว
แม้โตโยดะจะยังไม่เห็นด้วยที่จะบุกรถยนต์ไฟฟ้าเต็บสูบ แต่ที่ผ่านมาก็มีความเคลื่อนไหวในเส้นทางใหม่นี้มาอย่างเรื่อยๆ โดยในเดือนธันวาคม 2021 โตโยดะกล่าวว่า Toyota ตั้งเป้าที่จะขายรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 3.5 ล้านคันต่อปีภายในปี 2030 ซึ่งเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่จากเป้าหมายเดิม
มองหาพิมพ์เขียวของรถยนต์ไฟฟ้า
ขณะเดียวกันภายในบริษัทเองได้มีการตั้งทีมศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยการศึกษานี้รวมถึงการตรวจสอบอย่างรอบคอบเกี่ยวกับกลยุทธ์ของ Tesla ที่ได้ด้เขย่าแนวปฏิบัติในอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมต่างๆ เช่น วิธีการขายตรงถึงผู้บริโภคและการอัปเดตซอฟต์แวร์ผ่านทางอากาศ
บทเรียนหนึ่งจาก Tesla คือการใช้จ่ายจำนวนมากล่วงหน้ากับชิ้นส่วนทั่วไปและกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแม้ช่วงแรกต้องลงทุนสูง แต่จะสร้างผลตอบแทนได้เป็นกอบเป็นกำเมื่อมียอดขายมากขึ้น ซึ่ง Toyota กำลังพิจารณาใช้เงินจำนวนมากในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่คล้ายกับ Tesla ซึ่งจะทำให้ต่อไป Toyota สามารถสร้างรถจำนวนมากจากพิมพ์เขียวชุดเดียวกันซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว
อย่างไรก็ตามเมื่อต้นเดือนมกราคม 2023 โตโยดะกล่าวว่าเขากังวลว่านโยบายของรัฐบาลที่กำหนดเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้จุดประกายการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตรถยนต์เพื่อนำรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ท้องถนนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“นั่นไม่ใช่แนวทางของ Toyota” เขากล่าว “นโยบายด้านพลังงานมีลักษณะเฉพาะในแต่ละประเทศ และผู้คนมีการใช้งานรถยนต์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นทำไมจึงต้องแก้ปัญหาเพียงแนวทางเดียว”
ท่าทีดังกล่าว ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง แต่ผู้สังเกตการณ์ของ Toyota กล่าวว่าการที่มีแม่ทัพคนใหม่น่าจะทำให้สามารถกำหนดทิศทางใหม่เกี่ยวกับ EV ได้ง่ายขึ้น ซึ่งโตโยดะกล่าวว่ามันเป็นงานของคนหนุ่มสาวที่จะ "หาคำตอบว่าการเดินทางในอนาคตควรเป็นอย่างไร"