การเดินหน้าขยายสาขาทั้งในส่วนของ 'ร้านซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต' และ 'ร้านถูกดี' มีมาตรฐาน ร้านเครือข่ายโชห่วยของคาราบาว กรุ๊ป เป็นอีกภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีเส้นแบ่งระหว่างการเป็นซัพพลายเออร์เจ้าของสินค้ากับเจ้าของธุรกิจร้านค้าปลีก
เพราะวันนี้ ซัพพลายเออร์ ได้เข้ามารับบทบาทของการเป็นร้านค้าปลีกอีกตำแหน่งหนึ่ง นอกเหนือจากการเป็นเจ้าของสินค้า
โดยเทรนด์ในเรื่องของซัพพลายเป็นเจ้าของร้านค้าปลีก ขณะที่เจ้าของร้านค้าปลีกก็หันมาเป็นเจ้าของสินค้าเอง ด้วยการนำสินค้าไพรเวท แบรนด์ หรือเฮาส์แบรนด์ เข้ามาทำตลาดเองนั้น เกิดขึ้นมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว และเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ ซึ่งการแปลงร่างในรูปแบบดังกล่าว นอกจากจะสามารถคอนโทรลตั้งแต่ต้นทาง คือการผลิตไปจนถึงปลายทาง คือร้านค้าปลีกที่เป็นส่วนสำคัญในการเข้าถึงตัวลูกค้าโดยตรงแล้ว ยังเป็นตัวเชื่อมต่อสำคัญที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงดาต้าการซื้อจริงของลูกค้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อการทำตลาดไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสินค้าหรือเจ้าของธุรกิจค้าปลีก
นั่นคือเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้คาราบาว กรุ๊ป หันมาให้ความสำคัญกับการปั้นธุรกิจค้าปลีกที่มีร้านค้าปลีกอย่าง ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต ค้าปลีกโมเดิร์นเทรดในรูปแบบของซูเปอร์คอนวีเนียนสโตร์ และร้านถูกดี มีมาตรฐาน เครือข่ายร้านโชห่วยที่กระจายเข้าถึงชุมชนทั่วประเทศ
'เสถียร เสถียรธรรมะ' ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด บริษัทในเครือคาราบาว กรุ๊ป ที่ดูแลธุรกิจร้านถูกดี พูดไว้อย่างน่าสนใจในงานแถลงข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า
ก่อนหน้าที่จะมีร้านค้าปลีกเอง ข้อมูลจากการขายจะมาจากเอเย่นต์เป็นหลัก ทำให้รู้เพียงแค่ว่า ภาคไหน หรือจังหวัดไหนขายดี ไม่ดีอย่างไร แต่เมื่อมีร้านค้าปลีกเอง จะรู้ได้ทันทีว่า ตำบลหรือชุมชนไหนขายดีเป็นอันดับหนึ่ง หรือเป็นรองคู่แข่งขัน ข้อมูลที่ได้มานั้น ทำให้สามารถนำมาปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดเพื่อที่จะเสริมจุดแข็ง หรือส่งทีมส่งเสริมการตลาดเข้าไปปิดจุดอ่อนเพื่อกระตุ้นยอดขายได้ทันที โดยไม่ต้องรอรายงานจากเอเย่นต์ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำตลาดของสินค้าในเครือ
ในปีที่ผ่านมา คาราบาว กรุ๊ป สามารถเปิดร้านถูกดี ไปแล้วกว่า 5,000 สาขา กระจายอยู่ในภาคอีสาน ซึ่งถือเป็นภาคที่มีประชากรและจำนวนครัวเรือนหนาแน่นสุดของประเทศประมาณ 60% ที่เหลือกระจายไปยังภาคเหนือ ภาคกลาง ตะวันออก และกรุงเทพฯ - ปริมณฑล ขาดพื้นที่ภาคใต้ที่คุณเสถียร บอกว่า ต้องใช้เวลาศึกษาตลาดสักระยะก่อน เพราะเป็นตลาดที่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมากนัก
ส่วนในปีนี้ มีเป้าหมายที่จะเปิดสาขาของร้านถูกดีเพิ่มเป็น 8,000 สาขา ตามเป้าหมายในระยะยาว มองว่า ต้องการมีร้านถูกดี อย่างน้อยๆ 20,000 สาขา ซึ่งจะทำให้กลายเป็นอีกเครือข่ายร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่ทรงพลัง เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกที่เจาะเข้าถึงชุมชนทั่วประเทศแล้วเท่านั้น แต่ยังเป็นเครือข่ายที่สามารถต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจอื่นๆ ตามมาอีก
โดยคุณเสถียรบอกว่า เมื่อถึงเวลานั้น ร้านถูกดี จะก้าวขึ้นไปเป็น ‘Point of Everything’ ที่เป็นทั้งช่องทางขาย บริการอื่นๆ รวมถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐที่จะเข้ามาใช้ร้านถูกดี เป็น 1 ในจุดให้บริการอีกด้วย
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การมีพันธมิตรอย่างธนาคารกสิกรไทย ที่เข้ามาลงทุนร่วมในร้านถูกดีกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเสมือนการติดปีกให้สามารถเดินหน้าขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ติดปัญหาเงินลงทุน ซึ่งแน่นอนว่า ร้านถูกดี จะเข้ามาเป็นอีกเครือข่ายสำคัญในการให้บริการทางการเงินของธนาคารกสิกรไทยให้กับกลุ่มคนที่อยู่ในชุมชนทั่วประเทศ
ขณะที่ร้านซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต สามารถปิดตัวเลขจำนวนสาขาทะลุหลัก 1,000 สาขา ในปีนี้ มีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มอีก 240 สาขา ในจำนวนนั้น ครึ่งหนึ่ง จะเป็นการขยายสาขาในรูปแบบของ 'ซีเจ มอร์' ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ ขนาดเล็ก ในชุมชุนที่มีพื้นที่รวมประมาณ 3 ไร่
โมเดลการขยายสาขาในรูปแบบดังกล่าว จะเป็นอีกไฮไลต์ที่น่าสนใจ เพราะจะเป็นตัวช่วยในการนำร้านค้าปลีกในเครืออื่นๆ อาทิ นายน์ บิวตี้ (Nine Beauty) ร้านขายเครื่องสำอาง และความงามมัลติแบรนด์ (Multi-brand) บาว คาเฟ่ (Bao Café) ร้านกาแฟสดใกล้บ้าน ร้านอูโนะ (UNO) ร้านสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าแฟชั่น เครื่องเขียน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ร้านเอ-โฮม (A-Home) โซนสำหรับคนรัก บ้านกับคอนเซปต์ ‘เรื่องบ้าน เรื่องง่าย’ ร้านเพ็ทฮับ (PET HUB) ร้านขายอาหาร และอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงครบวงจร และบาว วอช (Bao Wash) มุมบริการซัก-อบผ้าด้วยเครื่องอัตโนมัติ โดยร้านกาแฟบาวคาเฟ่ และบาว วอช จะมีการนำโมเดล ของแฟรนไชส์มาใช้เพื่อช่วยในการขยายสาขา เป็นต้น
การรุกของค้าปลีกในเครือทั้ง 2 แบรนด์ จะสอดประสานกัน โดยจะเข้ามาช่วยเสริมให้ธุรกิจในเครือตัวอื่นๆ โดยเฉพาะกับการทำสินค้าประเภทต่างๆ ทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง ภายใต้แบรนด์คาราบาวแดง ฟังก์ชันนัล ดริ๊งก์ สปอร์ตดริ๊งก์ กาแฟ หรือแม้แต่สินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่นอกจากจะมีสินค้าในกลุ่มเหล้าขาว ภายใต้แบรนด์ตะวันแดง และข้าวหอมที่แบรนด์หลังมียอดขายออกมาค่อนข้างดีแล้ว
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาราบาว กรุ๊ป ยังมีแผนที่จะเปิดสินค้าในกลุ่มเบียร์เข้าตลาดอย่างน้อยๆ อีก 2 ตัว เหตุผลสำคัญของการเข้าตลาดเบียร์นั้น มาจาก ต้องการจะใช้เบียร์เข้ามาเป็นตัวช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับสินค้าในพอร์ตสุราที่ทำตลาดอยู่ โดยการเข้าตลาดเบียร์มันเป็นเสมือนไฟต์บังคับ เพราะถ้าไม่ทำ ก็จะส่งผลให้ตลาดสุราที่ทำอยู่เติบโตได้ยาก
“การขายเหล้าสี หลักๆ แล้ว ต้องขายในช่องทางออนพรีมีส ที่เป็นร้านอาหาร ผับ บาร์ ซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าที่แน่นอนว่า จะส่งต่อมายังการขายในช่องทางออฟเทรดที่เป็นร้านค้าปลีก การมีสินค้าในกลุ่มเบียร์ จึงเป็นเสมือนตัวช่วยทำให้สินค้าในพอร์ตมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยเฉพาะในมุมของการช่วยผลักดันสินค้าในกลุ่มสุราให้สามารถเข้าช่องทางออนพรีมีสได้ง่ายขึ้น”
ก่อนหน้านั้นบริษัทในเครืออย่าง บริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด มีสินค้าในกลุ่มสุราหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นตัวสุราข้าวหอม ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ขายดีของบริษัท หรือ ‘เทนโดะ’ (Tendo) สุราสีที่มี คาแรกเตอร์ โดยเป็นวิสกี้วิถีญี่ปุ่น 40 ดีกรีผลิตในประเทศไทยแบบครบวงจร โดยวางโพสิชั่นนิ่งเป็นวิสกี้ระดับพรีเมียม ซึ่งเป็นตัวที่มีการขายหลักๆ ในช่องทางออนพรีมีส เช่นเดียวกับ เครื่องดื่มโซจู ภายใต้แบรนด์ ‘แทยัง’ (TAE YANG) สุราพร้อมดื่มหรือ RTD สไตล์เกาหลี ที่พัฒนาขึ้น เพื่อตอบโจทย์นักดื่มไทยที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเกาหลีทั้งจากภาพยนตร์ และดนตรี รวมถึงตัวบรั่นดี อย่างแบรนด์ Galaxy เป็นต้น
“จากข้อมูลการขายของร้านถูกดี พบว่า 1 ใน 4 ของสินค้าที่ลูกค้าซื้อจากร้านจะเป็นสินค้าในกลุ่มเหล้า เบียร์ ซึ่ง การมีเครือข่ายร้านค้าปลีกของตัวเอง น่าจะเป็นตัวช่วยเพิ่มแรงส่งให้กับสินค้าที่จะเปิดตัวมาใหม่นี้ไม่มากก็น้อย”
สำหรับเบียร์ที่จะเปิดตัวนี้จะมีอย่างน้อยๆ 2 – 3 ตัว ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ โดยใช้ฐานการผลิตจากโรงงานที่ จ.ชัยนาท ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 400 ล้านลิตรต่อปี โดยในช่วงแรกคาดว่า จะเดินเครื่องผลิตประมาณ 200 ล้านลิตร
การเข้าตลาดเบียร์ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกบทพิสูจน์ของผู้เล่นรายนี้ ถึงแม้ว่า ตลาดเบียร์จะมีผู้เล่นรายใหญ่ที่ค่อนข้างแข็งแกร่งอย่างกลุ่มไทยเบฟและสิงห์ แต่จากบทพิสูจน์แรกที่คุณเสถียร ทำสำเร็จมาแล้วจากการเข้าตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง จึงน่าจับตามองไม่น้อย
เป็นอีกโอกาสทางการตลาดที่มีเครือข่ายร้านค้าปลีกที่ปั้นขึ้นมาเป็นตัวสนับสนุนชั้นดี....
บทความจาก MarketPlus Magazine Issue 154 March 2023