ทีเอ็มบี หรือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการปี 2560 ซึ่งยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ 19,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% ทั้งนี้ ธนาคารยังคงเน้นความรอบคอบในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการตั้งสำรองฯ จำนวน 8,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน ขณะที่สัดส่วนหนี้เสียลดลงมาอยู่ที่ 2.35% จาก 2.53% ส่งผลให้สัดส่วนสำรองต่อ NPL (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 143% ซึ่งหลังจากตั้งสำรองฯ และภาษี ธนาคารรายงานกำไรสุทธิที่ 8,687 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6%
ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “ธนาคารยังคงเน้นการขยายธุรกิจผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการ (Need Base) และไม่ยุ่งยากซับซ้อน (Simple & Easy) ให้กับลูกค้า ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบ โดยในปี 2560 ธนาคารสามารถขยายฐานสินเชื่อเพิ่มขึ้น 8% จากปีที่แล้ว ซึ่งหลักๆ มาจากสินเชื่อลูกค้าบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นผลจากการที่ธนาคารปรับปรุงกระบวนการนำเสนอสินเชื่อให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเติบโตได้ดี ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอี แม้ภาพรวมทั้งปียังชะลอตัว แต่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในไตรมาส 4”
“ทางด้านเงินฝาก ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการขยายฐานเงินฝากลูกค้าบุคคลเป็นหลัก ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝาก All Free ที่ให้ประโยชน์ด้านการทำธุรกรรม และเงินฝาก No Fixed ที่ให้ประโยชน์ด้านการออม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นได้จากเงินฝาก “ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี” (TMB All Free) ที่เพิ่มขึ้นกว่า 51% หรือ 1.8 หมื่นล้านบาท จากปีที่แล้ว และเงินฝาก “ทีเอ็มบี โน-ฟิกซ์” (TMB No-Fixed) ที่ขยายตัว 16% หรือ 3.3 หมื่นล้านบาท โดยภาพรวมเงินฝากเติบโต 2% จากปีก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับการบริหารสภาพคล่องของธนาคาร”
อย่างไรก็ดี ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (Net Interest Margin) ลดลงเล็กน้อยจาก 3.17% มาอยู่ที่ 3.13% เนื่องจากสินเชื่อเอสเอ็มอีซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูง ในภาพรวมทั้งปียังคงชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 24,734 ล้านบาท คงที่จากปีก่อน สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย มีจำนวน 12,705 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% ปัจจัยหนุนหลักคือรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่ขยายตัว 32% โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมกลุ่มลูกค้าบุคคลจากค่าธรรมเนียมจากการขายกองทุนรวมและแบงก์แอสชัวรันส์ซึ่งเติบโตได้ 76% และ 71% ตามลำดับ
ปิติ กล่าวเสริมว่า “การเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้ค่าธรรมเนียมลูกค้าบุคคล สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และการพัฒนาบริการในทุกๆ ช่องทางของทีเอ็มบี อย่างเช่นในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ยกระดับการให้บริการด้านกองทุนรวมให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยนอกเหนือจาก TMB Open Architecture ที่คัดสรรกองทุนเด่นจาก บลจ.ชั้นนำ 8 แห่ง มานำเสนอให้กับลูกค้าแล้ว ธนาคารยังได้เพิ่มบริการที่ปรึกษาด้านการลงทุน (TMB Advisory) ผ่านระบบ VDO Conference รวมทั้งเพิ่มช่องทางการซื้อขายกองทุนผ่านแอพพลิเคชั่น TMB TOUCH เพื่อเพิ่มความสะดวกและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกค้าในยุคดิจิทัล”
โดยรวม ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 37,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปี 2559 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 17,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวทางธุรกิจเป็นหลัก ทำให้ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 19,736 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 6% ซึ่งเอื้อให้ธนาคารสามารถเพิ่มระดับการรองรับความเสี่ยง ด้วยการตั้งสำรองฯ สูงขึ้น แม้ NPL จะลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม
ในปี 2560 ธนาคารตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 8,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า ทำให้อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 143% ขณะที่ NPL หรือสินเชื่อด้อยคุณภาพจะลดลงเป็นจำนวน 84 ล้านบาท มาอยู่ที่ 17,521 ล้านบาท ทำให้สัดส่วน NPL หรือ NPL ratio ลดลงจาก 2.53% มาอยู่ที่ 2.35% ซึ่งหลังหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิเป็นจำนวน 8,687 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ ทีเอ็มบียังคงสถานะเงินกองทุนในระดับสูง สะท้อนได้จากอัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) ภายใต้เกณฑ์ Basel III ที่อยู่ที่ 17.3% และ 13.2% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งกำหนดไว้ที่ 9.75% และ 7.25% ตามลำดับ
ปิติ กล่าวสรุปว่า “ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในปี 2560 สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงภายใต้แนวทาง “Need-Based Bank” กับ “Simple & Easy” และสำหรับปี 2561 ทีเอ็มบีก็ยังคงเน้นการขยายฐานเงินฝากเพื่อการทำธุรกรรม (Transactional Banking) ทั้งจากลูกค้าบุคคลและเอสเอ็มอีขนาดเล็ก รวมทั้งพัฒนาช่องทางดิจิทัลเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของลูกค้า Digital Banking และแน่นอนว่าธนาคารก็จะยังคงรักษาระดับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับสูง พร้อมกับบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว”