Vincent Li รองประธานฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์องค์กรของ Tencent บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของจีน ฉายภาพถึงแนวคิดเบื้องหลังของการใช้ความคิดสร้างสรรค์อันบรรเจิดผนวกเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล
เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของจีนให้แพร่หลาย ทลายอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ของจีนต้องปิดให้บริการ
ซึ่งเป็นการช่วยให้วัฒนธรรมอันล้ำค่าของประเทศไม่ถูกล็อกดาวน์ ด้วยการ เข้าชมได้อย่างง่ายดาย และสะดวกสบายผ่านสมาร์ทโฟนได้จากทั่วทุกมุมโลก ทำให้นอกจากจะทำให้คนรักประวัติศาสตร์ปลื้มปริ่มแลว ยังเป็นกุศโลบายชั้นดีที่ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่หันมาตกหลุมรักมรดกจากบรรพชนด้วย
เขาแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่ Tencent ทำงานในฐานะผู้ช่วยดิจิทัลที่สนับสนุนและเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนเป็นที่นิยมแพร่หลาย
"เราเน้นการผสมผสานระหว่างความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีที่สมจริงซึ่งหลอมรวมโลกจริงและโลกเสมือนจริงเข้าด้วยกัน ในรูปแบบ Immersive Virtual Tour ผ่านการสร้างแบบจำลองด้วยการสแกนภาพถ่าย ตลอดจนเกมเอนจิ้น (ซอฟต์แวร์เพื่อใช้สร้างวิดีโอเกม) และเทคโนโลยีการเรนเดอร์แบบเรียลไทม์ ในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงคนหนุ่มสาวเข้ากับสมบัติทางวัฒนธรรมอันเป็นมรดกตกทอดอันล้ำค่าจากความรุ่งเรืองในอดีตของจีน"
ด้วยความร่วมมือกับพระราชวังต้องห้าม (Forbidden City) และถ้ำมั่วเกา (Mogao Caves Vincent) ได้เปิดตัวโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือ เช่น Digital Forbidden City, Mogao Caves Cloud Museum, Digital Grotto และ Digital Library Cave of Dunhuang
โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืนและส่งต่อสู่สายตาประชาคมโลกได้โดยไม่ต้องเดินทางมาเยือนถึงที่ พิพิธภัณฑ์พระราชวังหรือที่รู้จักในชื่อพระราชวังต้องห้าม มีสิ่งล้ำค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย เป็นหนึ่งในพระราชวังที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในจีน
ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของแผ่นดินใหญ่ สำหรับใครก็ตามที่เดินทางไปปักกิ่ง นี่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญที่ต้องแวะเวียนมาเยี่ยมชมให้ได้ เฉพาะในปี 2562 เพียงปีเดียว มีนักท่องเที่ยวมากถึง 19 ล้านคน
จากนั้นพระราชวังต้องห้ามก็ตกอยู่ในความเงียบงัน เนื่องจากข้อจำกัดการเดินทางของโควิด-19 แหล่งมรดกโลกแห่งนี้จึงต้องปิดให้บริการโดยปริยาย
ขณะเดียวกันก็เพื่อปกป้องโบราณสถานแห่งนี้จากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทำให้ Tencent และพระราชวังต้องห้าม แปลงคอลเลกชั่นงานศิลปะและโบราณวัตถุที่จัดแสดงต่างๆ ให้เป็นดิจิทัลและมอบประสบการณ์เสมือนจริงให้กับผู้เยี่ยมชมผ่าน VR, AR และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ เช่น 5G
ที่เผยให้เห็นลวดลายอันวิจิตรบนผนัง เครื่องเซรามิก เครื่องเรือน และสิ่งทอจากพระราชวังต้องห้าม ด้วยความละเอียดสูง ซึ่งช่วยเพิ่มสีสันและความน่าตื่นตาตื่นใจกว่าการเที่ยวชมแบบเดิมๆ
โปรเจกต์สำคัญที่น่าสนใจ และเพิ่มมุมมองใหม่ในการเยี่ยมชมโบราณสถานแห่งนี้ คือ Glory of the Forbidden City ซีรีส์ออนไลน์แบบอินเทอร์แอคทีฟที่นำเสนอวิธีการสร้างพระราชวังต้องห้าม โดยใช้ประโยชน์จากการประมวลผลข้อมูลที่รวดเร็วและเวลาแฝงต่ำของ 5G เพื่อสร้างภาพความละเอียดสูงพิเศษ และประสบการณ์การรับชมแบบโต้ตอบ
(เวลาแฝง คือ ความล่าช้าระหว่างการส่งและรับข้อมูล เครือข่าย 4G สามารถทำเวลาแฝงได้ต่ำถึงประมาณ 200 มิลลิวินาที แต่จะลดลงเหลือเพียงหนึ่งมิลลิวินาทีเท่านั้นสำหรับ 5G ช่วยเปิดโอกาสในการสื่อสารแบบสองทิศทางมากได้ดีขึ้น)
ขณะเดียวกันยังบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนที่ปกครอง อาศัย และทำงานในพระราชวังต้องห้าม ไม่เพียงเท่านี้ยังมีการสร้างเกมออนไลน์ การ์ตูน และดนตรี เพื่อทำให้พิพิธภัณฑ์ที่มักถูกมองว่าคร่ำครึน่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่
ขณะที่ผลงานจัดแสดงที่สะดุดตาอีกชุดหนึ่งคือชุดภาพดิจิทัล 3 มิติขนาดใหญ่ของโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ซึ่งขยายได้ถึง 22 เท่า กลายเป็นวัตถุที่สูงตระหง่านกว่า 5 เมตร ทำให้ผู้ชมสามารถสังเกตรายละเอียดของการออกแบบได้ชัดเจนกว่าการเยี่ยมชมในสถานที่จริง
นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับระบบเสียงเซอร์ราวด์คุณภาพล่าสุดระดับโรงภาพยนตร์ชั้นนำ เพื่อเพิ่มอรรถรสและยกระดับการเยี่ยมชมให้สมจริงขึ้นไปอีกขั้น
อีกหนึ่งแนวทางที่น่าเอาแบบอย่างเพราะแสดงให้เห็นถึงแนวทางใหม่ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมแบบดิจิทัลสำหรับคนรุ่นหลัง คือการสร้างแค็ตตาล็อกดิจิทัลและสร้างภัณฑารักษ์ที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยี
โดย Tencent ใช้ AI และบริการคลาวด์เพื่อรวบรวม จัดเก็บ และแสดงภาพโบราณวัตถุประมาณ 100,000 ภาพ ในรูปแบบดิจิทัล
ส่วน Tencent Cloud ก็ให้บริการแพลตฟอร์มแบบเปิดเพื่อช่วยภัณฑารักษ์ของพระราชวังต้องห้ามในการจัดการและอัปเกรดแค็ตตาล็อกดิจิทัล ซึ่งช่วยปรับปรุงฟังก์ชันการค้นหา การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และการสร้างมาตรฐานดิจิทัลสำหรับพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ตลอดจนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง
ด้านโครงการ Digital Grotto ที่ ใช้การสแกนภาพถ่ายดิจิทัลความละเอียดสูง การเรนเดอร์เอ็นจิ้นเกม เพื่อสร้างฉากประวัติศาสตร์ของถ้ำที่จัดเก็บโบราณวัตถุล้ำค่าทางวัฒนธรรมมากกว่า 60,000 ชิ้น ด้วยคุณภาพของภาพระดับภาพยนตร์ 4K และโหมดอินเทอร์แอคทีฟ ด้วยรูปแบบ 3 มิติ ที่มีความละเอียดสูงได้
ทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกราวกับว่ากำลังเดินเข้าไปในถ้ำ และจะได้สัมผัสกับประสบการณ์การเดินทางผ่านเวลา เพื่อโต้ตอบกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ เรื่องราว และสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับถ้ำนี้ในช่วงเวลาต่างๆ ขณะเดียวกันยังสามารถตรวจดูต้นฉบับ เอกสาร และภาพวาดผ้าไหมกว่า 21 ชิ้นอย่างใกล้ชิด
ส่วนอีกหนึ่งโครงการที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ โครงการที่ ‘ตุนหวง’ เมืองที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นจุดแวะพักอันห่างไกล แต่มีความสำคัญตลอดเส้นทางสายไหมโบราณ รวมถึงมีถ้ำและภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีชื่อเสียงระดับโลก
โดยในช่วงการระบาดของโควิด-19 Tencent และ Dunhuang Academy China ได้เปิดตัวโครงการ The Mogao Caves Cloud Museum ผ่าน WeChat และ QQ แอปโซเชียลมีเดียที่ยอดนิยมของชาวจีนที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 1.2 พันล้านคน และ 647 ล้านคนต่อวัน ตามลำดับ
เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้สัมผัสกับเสน่ห์ของเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้โดยไม่ต้องย่างกรายออกจากบ้านแม้แต่ก้าวเดียว
ทั้งนี้ The Mogao Caves Cloud Museum เป็นมากกว่าพิพิธภัณฑ์ดิจิทัล เพราะพยายามที่จะผนวกตัวตนของตุนหวงเข้ากับชีวิตประจำวันของผู้คนผ่านปฏิทินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะส่งภาพจิตรกรรมฝาผนังดิจิทัลและนิทานพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ใช้เป็นประจำทุกวัน
‘ตุนหวง แอนิเมชัน’ ซึ่งเป็นฟังก์ชันหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ไฮเทคนี้ใช้ตัวละครจากภาพที่พบในถ้ำตุนหวง เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเลือกเรื่องราวและตัวละครที่ชื่นชอบ พากย์เสียงด้วยตนเองหรือร่วมกับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนๆ จากนั้นบันทึกและแบ่งปันบทบาทของการเป็นนักเล่าเรื่องผ่านโซเชียลมีเดีย
“ในขณะที่เทคโนโลยีกำลังขับเคลื่อนเราไปสู่อนาคตด้วยความเร็วสูง แต่เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชี่ยวชาญด้านการรังสรรค์เกมเพื่อสร้างโลกเสมือนจริงที่เหมือนมีชีวิตและการโต้ตอบที่สมจริง
ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถเดินทางย้อนเวลาไปสู่เหตุการณ์และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ตั้งแต่การทำสำเนาโบราณวัตถุ และภาพวาด ที่มีความละเอียดสูงไปจนถึงโถงนิทรรศการเสมือนจริงและแอนิเมชั่น จากโครงการต่างๆ ของ Tencent ที่กล่าวมา
จะเห็นได้ชัดเจนว่าเทคโนโลยีกำลังสร้างและฟื้นฟูสถานที่ทางประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุ และงานศิลปะให้กลับมารุ่งเรืองดังเดิม รวมถึงดึงดูดให้ชาวจีนรุ่นใหม่หันมาสนใจและให้ความสำคัญกับรากเหง้าของตัวเอง” Vincent Li กล่าว
สำหรับ Vincent Li เขาร่วมงานกับ Tencent ตั้งแต่ปี 2558 รับผิดชอบด้านการตลาดองค์กรและการประชาสัมพันธ์ รวมถึงหน่วยธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินของบริษัทฯ
บทความจากนิตยสาร MarketPlus Magazine Issue 156 May 2023