‘Incense of Memories’ ช่วยตอกย้ำสายสัมพันธ์อันกลมเกลียวของคนในครอบครัวที่แม้อยู่ต่างภพต่างภูมิ แต่สำหรับคนที่ยังหายใจอยู่บนโลกมนุษย์ ก็ได้รำลึกถึงผู้วายชนม์ ผ่านธูปหอมที่ออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยการสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนรักที่จากไป
ก่อนเทศกาลโอบง ประเพณีทางพุทธศาสนาของญี่ปุ่นจะเริ่มขึ้น ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากจะตรวจสอบสต๊อกธูปหอมของตน เพื่อให้แน่ใจว่าพร้อมสำหรับใช้งานในเทศกาลนี้
ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เชื่อกันว่า วิญญาณของบรรพบุรุษจะมาเยี่ยมแท่นบูชาที่ตั้งอยู่ภายในบ้าน และบริเวณหน้าหลุมฝังศพ
ดังนั้นห้วงเวลาดังกล่าว ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่ย้ายถิ่นฐานไปพำนักอาศัย ร่ำเรียนหรือทำงานที่อื่น จะเดินทางกลับบ้านของครอบครัวหรือบ้านของต้นตระกูล เพื่อเยี่ยมเยียนและทำความสะอาดหลุมฝังศพของบรรพบุรุษและจุดธูปหอมเพื่อสักการะ
กระนั้น แม้ว่าเทศกาลโอบง จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดที่อุทิศให้กับการเคารพบรรพบุรุษ แต่ชาวญี่ปุ่นจะจุดธูปบูชาบนแท่นบูชาในบ้านและหลุมฝังศพของบรรพบุรุษตลอดทั้งปี และถึงแม้ธูปหอมจะมีหลายสี และหลายกลิ่นก็ตาม แต่จนถึงขณะนี้ ธูปหอมรูปทรงเดียวที่ออกแบบมาเพื่ออุทิศแด่ดวงวิญญาณของบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วคือ รูปทรงแท่งตรงที่เราคุ้นตากันเป็นอย่างดี
แต่ Kameyama แบรนด์เครื่องหอมชั้นนำเก่าแก่ของญี่ปุ่น ได้เปิดตัวธูปหอมแบบแรกของโลกในรูปทรงของมนุษย์ที่กำลังทำกิจกรรมต่างๆ ความท้าทายอย่างยิ่งของทีมครีเอทีฟจาก Wunderman Thompson Tokyo ที่อยู่เบื้องหลังไอเดียนี้ คือ
แม้ชาวญี่ปุ่นจะถือธรรมเนียมในการจุดธูปเพื่อคารวะบรรพบุรุษหรือคนรักที่ล่วงลับมาแต่บรรพกาล แต่อย่างไรก็ตาม การออกแบบเครื่องหอมก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมานานกว่า 400 ปี
ดังนั้นจะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงธรรมเนียมปฏิบัติในการให้เกียรติผู้ล่วงลับอย่างไร เพื่อให้ผู้ที่จากไปสามารถโอบกอดความทรงจำอันหอมหวานและแสนสุขให้ยังคงส่องสว่างกระจ่างในใจพวกเขาต่อไป
เดิมทีผลิตภัณฑ์นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดที่จะเปลี่ยนรูปทรงของธูปหอมซึ่งไม่เคยเปลี่ยนจากรูปทรงตรงที่เราคุ้นเคยกันมาเป็นเวลา 4 ศตวรรษ ให้เป็นรูปแบบใหม่ที่ทำให้ระลึกถึงคนที่เรารักที่จากไปได้
ทีมครีเอทีฟจึงได้เสนอแนวคิดที่จะร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แปลก แตกต่าง และตราตรึงใจนี้กับ Kameyama
โดยออกแบบธูปหอมในรูปทรงใหม่ผ่านกิจกรรมและไลฟ์สไตล์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า ปีนเขา อ่านหนังสือ ร้องคาราโอเกะ เล่นกีตาร์ ตีกอล์ฟ เล่นสกี วาดภาพ ถ่ายภาพ ปั่นจักรยาน เล่นกระดานโต้คลื่น เต้นรำ ฯลฯ
เพื่อยึดโยงกับงานอดิเรกของคนที่เรารักซึ่งจากไป ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ช่วยให้ผู้คนสัมผัสได้ถึงการมีอยู่ของคนที่ตนรักในแง่บวก ขณะที่พวกเขาแสดงความเคารพจากที่บ้านหรือที่หลุมฝังศพ และหวนรำลึกถึงความสุข ความทรงจำที่เคยมีร่วมกัน ไม่ใช่ในแง่มุมของความเศร้าโศกเสียใจเพียงอย่างเดียว นี่คือสาระสำคัญของ ‘ธูปแห่งความทรงจำ’
ทั้งสองบริษัททำงานร่วมกันเป็นเวลาหลายปีในการพัฒนาต้นแบบ ส่วนที่ยากที่สุดก็คือการหาสมดุลที่เหมาะสมของความหนา มุม ความหนาแน่น และการควบคุมปริมาณควันของธูปหอม
เพื่อสร้างรูปร่างมนุษย์ในขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยท่วงท่าที่ถูกต้อง และรับรู้ได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการตีความ และที่สำคัญคือเมื่อจุดไฟแล้วต้องมอดไหม้ได้หมดจดเหมือนธูปหอมที่มีรูปทรงปกติ นี่จึงเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานกว่าหนึ่งปีครึ่งเลยทีเดียว
โดยปกติแล้วธูปหอมมักจะถูกเผาในกระถางธูปพิเศษที่บรรจุขี้เถ้าที่แท่นบูชาในบ้าน แต่เนื่องจากรูปทรงที่ไม่ธรรมดา ธูปหอมแห่งความทรงจำจึงเหมาะกับการจุดที่อื่นในบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องวางไว้ในแท่นบูชา ตัวอย่างเช่น สามารถวางไว้บนโต๊ะหรือบนตู้พร้อมกับกรอบรูปของผู้เสียชีวิต เป็นต้น
หลังจากเปิดตัว ผลลัพธ์ที่ได้คือนอกจากจะเรียกเสียงฮือฮาในโซเชียลมีเดียแทบทุกช่องทางและเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ แล้ว ในฐานะแนวทางใหม่ในการไหว้ผู้ล่วงลับ ผลิตภัณฑ์นี้เปิดตัวล่วงหน้าแบบมีจำนวนจำกัด และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี
โดยมีคำสั่งซื้อมากกว่าปริมาณการผลิตถึง 10 เท่า และนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งผลิตภัณฑ์ได้วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการทั้งในร้านและทางออนไลน์ทั่วประเทศก็ปรากฏว่า ‘หมดเกลี้ยง’ อย่างรวดเร็ว และยังขึ้นแท่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดใน Amazon ญี่ปุ่น รวมถึงมียอดสั่งซื้อซ้ำสูงถึง 94% ซึ่งแสดงถึงความพึงพอใจอย่างยิ่งของลูกค้า
โดยธูปหอมแต่ละแบบจะมีธูป 5 ชุด และมาพร้อมกับแท่นวางธูป จำหน่ายในราคาชุดละ 2,750 เยน รวมภาษี (ราว 685 บาท)
ข้อดีอย่างหนึ่งของผลิตภัณฑ์นี้คือ สามารถดึงดูดผู้คนได้ทั่วโลก แม้ว่าจะไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นก็ตาม และไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดหรือไม่นับถือศาสนาเลยก็ตาม เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อเป็นเกียรติแก่วิญญาณของบรรพบุรุษ
ตัวอย่างเช่น หากเราชื่นชอบเล่นกระดานโต้คลื่น เดินป่า เล่นกอล์ฟ หรืออ่านหนังสือ หรือมีครอบครัวหรือเพื่อนที่ชอบเล่น ก็ถือเป็นความคิดที่ดีที่จะซื้อมาใช้เอง หรือเป็นของขวัญให้กับคนอื่น ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสในการขายและขยายตลาดของ Kameyama ให้กว้างขึ้น
ด้วยความคิดสร้างสรรค์อันเป็นเลิศ ที่ช่วยพลิกมุมมองในการสักการะผู้ล่วงลับ ผ่านดีไซน์ที่แหวกแนว ทว่าสร้างรอยยิ้ม กอปรกับยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์แบบถล่มทลาย
ส่งผลให้ล่าสุด ‘Incense of Memories’ ได้รับรางวัล Bronze ในประเภท Media Lotus, Use of Ambient: Small Scale ที่งาน ADFEST 2023
ทั้งนี้ ธูปหอมได้รับการบันทึกเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นในปี 595 ในรัชสมัยของจักรพรรดินีซุยโกะ จากที่ไม่นานก่อนหน้านั้น ในช่วงกลางศตวรรษที่ 6 ศาสนาพุทธได้ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในแดนอาทิตย์อุทัย พร้อมกับพระพุทธรูปและพระสูตร ธูปและเครื่องใช้อัฐบริขารต่างๆ ก็ถูกนำเข้าด้วยเช่นกัน
ตั้งแต่ปลายยุคนารา (ค.ศ.710 - 794) ข้าราชบริพารในราชสำนักที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการใช้ธูปหอมในพิธีกรรมทางพุทธศาสนาในวัดก็เริ่มจุดธูปหอมในบ้านของตนเองด้วย
ธูปที่พวกเขาใช้ถูกนวดและผสมกันเป็นก้อน ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เกิดกลิ่นหอมในห้องเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวบ่งชี้ถึงรสนิยมอันดีเลิศอีกด้วย
โดยชุดเครื่องหอมทั่วไปจะมีกล่องด้านนอกที่บรรจุกล่องขนาดเล็กสำหรับเก็บวัตถุดิบเครื่องหอม เช่น ว่านหางจระเข้ กานพลู ไม้จันทน์ โป๊ยกั๊ก อำพัน และสมุนไพร รวมถึงไม้พายขนาดเล็กสำหรับเตรียมส่วนผสม
ในช่วงสมัยมุโรมาจิ ( ค.ศ. 1392–1573) ธรรมเนียมของ ‘วิธีจุดธูป’ ได้พัฒนาขึ้นควบคู่กับพิธีชงชา ควบคู่ไปกับการสะสมชิ้นส่วนไม้กำยานก็เฟื่องฟูเช่นกัน
การเผาไม้กำยานราคาแพงและหายากในโอกาสพิเศษช่วยเพิ่มมูลค่าและทำให้เป็นประสบการณ์ ‘ครั้งหนึ่งในชีวิต’
ปัจจุบันไม้กฤษณาเป็นไม้หอมที่นำเข้าญี่ปุ่นจากจีนผ่านทางเกาหลี ใช้เป็นเครื่องหอมในพิธีทางศาสนา พิธีกรรม จิตวิญญาณและการทำสมาธิ และธูปญี่ปุ่นได้กลายเป็นหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมญี่ปุ่น
บทความจากนิตยสาร MarketPlus Magazine Issue 156 May 2023