เมื่อสังคมทั่วโลกส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กฎหมายก็ควรมอบสิทธิที่จะอ่านให้กับพลเมืองเช่นกัน
ภายใต้แนวคิดนี้จึงไม่มีหนังสือเล่มใดที่ควรจะถูกแบน แต่ความจริงแล้วกลับพบว่าทั่วทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา หนังสือถูกแบนและถูกเผาทิ้งในอัตราที่น่าตกใจ เพื่อเตอบสนองต่อคลื่นแห่งการเซ็นเซอร์ที่ลุกลามอย่างต่อเนื่องนี้ Penguin Random House ผนึกกำลังกับทีมเอเจนซี่ และบริษัทโปรดักชั่นเพื่อสร้างหนังสือนวนิยายในตำนานเรื่อง The Handmaid's Tale ฉบับที่เผาไหม้ไม่ได้ซึ่งทำจากวัสดุกันไฟทั้งหมด และเรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลกผ่านการเปิดตัวโดย Margaret Atwood นักประพันธ์นวนิยายเรื่องนี้ที่มาสาธิตพ่นไฟเผา The Unburnable Book ใน YouTube
พึงทราบว่าในแดนเสรีชนอย่างสหรัฐอเมริกา มีกระแสสุมไฟทางการเมืองโหมกระหน่ำเกี่ยวกับหนังสือที่กลุ่มฝ่ายขวามองว่าไม่เหมาะสำหรับห้องสมุดโรงเรียน รวมถึงผู้อ่านทั่วไป
ทำให้เป้าหมายหลักของการเซ็นเซอร์คือวรรณกรรมเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติ เพศ และรสนิยมทางเพศ ซึ่งมักเขียนโดยนักเขียนผิวสีและนักเขียน LGBTQ+ เช่นเดียวกับบทเรียนในชั้นเรียนเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางสังคม ประวัติศาสตร์ และเรื่องเพศ
แต่ความจริงแล้วการเซ็นเซอร์นี้เหยียบย่ำสิทธิ์ในการอ่าน บ่อนทำลายการศึกษา จำกัดการไหลเวียนของความคิด รวมถึงสร้างความเสียหายอย่างแท้จริงต่อผู้คนและการดำรงชีวิต
บางส่วนในถ้อยแถลงของ Penguin Random House กล่าวว่า
"ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก หนังสือกำลังถูกแบน หรือแม้แต่ถูกเผา ดังนั้นเราจึงสร้างหนังสือฉบับพิเศษที่ถูกห้ามอ่านมานานหลายทศวรรษ ได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องเรื่องราวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์นี้ และ Margaret Atwood เป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังในการต่อต้านการเซ็นเซอร์”
โดยในวิดีโอเปิดตัวแคมเปญนี้บนแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง YouTube ได้เรียกเสียงฮือฮาและสร้างการรับรู้ได้เป็นอย่างดี เมื่อ Margaret Atwood ในวัย 82 ปี "ทดสอบ" ต้นแบบหนังสือนี้ด้วยเครื่องพ่นไฟ และผลที่เกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นหนังสือที่เผาไหม้ไม่ได้จริงๆ
The Handmaid's Tale ฉบับพิเศษซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ที่ไม่สามารถเผาไหม้ได้และเพียงชุดเดียวในโลกนี้ ผลิตโดย Rethink ซึ่งเป็นหน่วยงานสร้างสรรค์อิสระในโตรอนโต ประเทศแคนาดา
ประดิษฐ์ขึ้นโดย The Gas Company Inc. ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะภาพพิมพ์และปกหนังสือ ซึ่งทำหน้าที่วิจัยและทดสอบวัสดุ เช่น ลวดนิกเกิล รวมถึงกระบวนการกันไฟต่างๆ
จากนั้นส่งต่อให้ Jeremy Martin ช่างฝีมือระดับปรมาจารย์ด้านการพิมพ์และเย็บเล่มดำเนินการต่อ
The Unburnable Book เปิดตัวที่งาน PEN America Literary Gala ปี 2565 และสำเนาที่ไม่เหมือนใครนี้ได้รับการประมูลที่ Sotheby's New York ในราคา 130,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4.4 ล้านบาท)
โดยรายได้ทั้งหมดมอบให้กับสมาคมนักเขียนแห่งสหรัฐอเมริกา (PEN America) เพื่อสนับสนุนการแสดงออกทางความคิดอย่างเสรี และต่อต้านวิกฤตการเซ็นเซอร์ระดับชาติ
นี่จึงเป็นมากกว่าของสะสมที่ไม่เหมือนใคร เพราะ The Handmaid's Tale ฉบับกันไฟ มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังในการต่อต้านการเซ็นเซอร์และเป็นเครื่องเตือนใจถึงความจำเป็นในการปกป้องเรื่องราวที่สำคัญไว้ตราบนานเท่านาน
แคมเปญดังกล่าวจุดประกายการสนทนาทั่วโลกเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์และถูกนำเสนอโดยสำนักข่าวรายใหญ่ทั่วโลก โดยมี Media Impressions 12 พันล้านครั้ง และ Earned media (สื่อที่ผู้คนนำไปแชร์ หรือมาจากการบอกต่อกัน โดยที่เราไม่ต้องเสียเงินหรือจ้างแม้แต่นิดเดียว) มากกว่า 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,125 ล้านบาท)
Markus Dohle ซีอีโอของ Penguin Random House กล่าวว่า
"เสรีภาพในการคิดและความจริง ซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตยของเรา กำลังถูกโจมตี มีนักเขียนไม่กี่คนที่มีส่วนสำคัญในการต่อสู้เพื่อการแสดงออกอย่างเสรีเท่ากับ Margaret Atwood
การได้เห็นนวนิยายคลาสสิกของเธอเกิดใหม่ในฉบับนวัตกรรมที่เผาไหม้ไม่ได้นี้ เป็นการเตือนใจให้ทุกคนต่อสู้กับการเซ็นเซอร์
และเราภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนการประมูลของ Sotheby เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานที่สำคัญของ PEN America เพื่อต่อต้านการกระทำที่ไม่พึงประสงค์ดังกล่าว”
ด้าน Margaret Atwood กล่าวว่า “ฉันไม่เคยคิดว่าฉันจะพยายามเผาหนังสือของตัวเองสักเล่มและล้มเหลวแบบนี้
The Handmaid's Tale ถูกแบนหลายครั้ง บางครั้งถูกแบนทั้งประเทศ เช่น โปรตุเกสและสเปนในสมัยของซัลลาซาร์ช บางครั้งถูกแบนโดยคณะกรรมการโรงเรียน ห้องสมุด ฯลฯ”
Suzanne Nossel ซีอีโอของ PEN America กล่าวว่า "แคมเปญนี้เตือนใจทุกคนว่าพลังของหนังสือไม่สามารถทำลายได้ ท่ามกลางความพยายามอย่างแน่วแน่ที่จะเซ็นเซอร์และปิดปากให้เงียบงัน
หนังสือที่เผาไหม้ไม่ได้นี้เป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นร่วมกันของเราในการปกป้องหนังสือ เรื่องราว และแนวคิดจากผู้ที่หวาดกลัวและจากการประณามของพวกเขา
เรารู้สึกขอบคุณที่สามารถนำรายได้จากการประมูลครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างการต่อสู้เพื่อการคงอยู่ของหนังสือแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้”
ทุกวันนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังคงใช้การแบนหนังสือเพื่อยับยั้งความคิดเห็นที่ขัดแย้งและป้องกันไม่ให้หัวข้อต้องห้ามกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมของตน
การแบนหนังสือและการเซ็นเซอร์เป็นเรื่องปกติในประเทศต่างๆ เช่น จีน และฮ่องกง เพื่อปกป้องพรรคคอมมิวนิสต์จีนจากการวิพากษ์วิจารณ์
ขณะที่สื่อการอ่านที่ละเอียดอ่อนทางการเมือง ตลอดจนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เนื้อหาทางเพศ และหัวข้อต้องห้ามอื่นๆ มักจะหลีกเลี่ยงโดยผู้จำหน่ายหนังสือตั้งแต่แรก
ขณะที่ประเทศในยุโรป เช่น รัสเซียและฮังการี ก็มีประวัติการเซ็นเซอร์เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+
กรณีของฮังการีได้ออกกฎหมายในเดือนมิถุนายน 2564 โดยไม่รวมเนื้อหา LGBT ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนและโปรแกรมเพศศึกษา อีกทั้งยังเซ็นเซอร์เนื้อหาดังกล่าวในระดับชาติที่กว้างขึ้นอีกด้วย ส่วนนักการเมืองฝ่ายขวาจัดสั่งห้ามหนังสือหลายเล่มที่แสดงเรื่องราวของรักร่วมเพศ
ด้านรัสเซียก็แบนวรรณกรรมที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน รวมถึงสื่อลามกอนาจาร
ผลงานสร้างสรรค์โดย Rethink, Toronto/Montreal/Vancouver (ไม่ได้ส่งเข้าประกวด ADFEST 2023 แต่เพิ่งคว้ารางวัล Gold จาก CLIO AWARDS 2023 ประเภท Public Relations, Cause Related มาครอง) แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกระเบิดออกมาอย่างทรงพลัง
โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง YouTube เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ Key message อันทรงพลังของแคมเปญให้แพร่หลายไปทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะแค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง และมีบางส่วนของความคิดเห็นที่น่าสนใจจากบรรดานักอ่านตัวยง เช่น ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่ไม่ควรถูกทำลาย คือ Fahrenheit 451, Nineteen Eighty Four และ Brave New World เป็นต้น
สำหรับ Penguin Random House คือ หนึ่งในสำนักพิมพ์ที่นำเสนอเรื่องราวของนักเล่าเรื่อง ผู้นำทางความคิด และนักประดิษฐ์ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด
เผยแพร่นิยายต้นฉบับและสารคดีในทุกรูปแบบ โดยมีพันธกิจในการสร้างความบันเทิง ให้ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านในหลากหลายเจนเนอเรชั่น
หนึ่งในนั้น คือ The Handmaid's Tale นวนิยายไซไฟดิสโทเปีย (นวนิยายแนววิทยาศาสตร์ นำเสนอโลกที่โหดร้าย มืดมน) ของ Margaret Atwood นักประพันธ์เลื่องชื่อชาวแคนาดา ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2529 แต่เรื่องราวกล่าวถึงโลกอนาคตในปี 2738
ซึ่งท้าทายการรับรู้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และความศรัทธาต่อศาสนา ผ่านคำบอกเล่าของ "Offred" หญิงรับใช้นางหนึ่งใน "Gilead" อาณาจักรที่มีระบอบการปกครองแบบแบ่งแยกหน้าที่และชนชั้นอย่างชัดเจน
โดยมอบคุณค่าและบทบาทของสตรีจากความสามารถในการอุทิศร่างกายให้แก่การผลิตทรัพยากรที่เรียกว่าการให้กำเนิด "ทารก" เพื่อผดุงการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติตราบนานเท่านาน
"เรื่องเล่าของสาวรับใช้" ในนวนิยายเรื่องนี้ เปรียบเสมือนเรื่องราวจากปากคำของคนในที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้สภาวะไร้ชื่อ ไร้ตัวตน มีเสรีภาพอย่างจำกัดจำเขี่ย ตามแต่ที่ผู้ปกครองจะบัญชาการ
บทความจากนิตยสาร MarketPlus Magazine Issue 156 May 2023