Bridge Jewellery กับความท้าทายในการรุกตลาดประเทศผู้นำแฟชั่นในยุโรป
14 Feb 2018

 

         ยุโรปเป็นศูนย์กลางความเจริญทางศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาแห่งหนึ่งของโลกโดยหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ทั้งฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักร เยอรมัน และออสเตรีย ล้วนมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ขับเคลื่อนแนวความคิดเกี่ยวกับศิลปะและแฟชั่นไปยังทั่วทุกมุมโลก สำหรับพฤติกรรมการสวมใส่เครื่องประดับนั้น จัดเป็นองค์ประกอบที่ช่วยสะท้อนตัวตนของชาวยุโรปออกมาได้อย่างชัดเจน แต่ถึงกระนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาคชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องนำเสนอสินค้าเครื่องประดับให้มีความน่าสนใจและตรงต่อความต้องการของชาวยุโรปในช่วงวิกฤติถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ซึ่งเครื่องประดับแนว Bridge Jewellery น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกเครื่องประดับไปยังตลาดยุโรป


ทำความรู้จักกับ Bridge Jewellery


         Bridge Jewellery เป็นรูปแบบหนึ่งของเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมในยุโรป โดยดึงเอาจุดเด่นด้านความมีมูลค่าในตัวเองของเครื่องประดับแท้ ผสมผสานกับการออกแบบที่อิงตามแฟชั่นและราคาที่ถูกลง เกิดเป็นเครื่องประดับแฟชั่นที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยส่วนมากแล้ว Bridge Jewellery มักนำวัสดุประเภทเงิน เงินชุบทอง โรเดียมทองโรสโกลด์ และโลหะเงินผสม (Alloys Silver) จำพวก Silvadium หรือ Argentium Silver มาทำเป็นตัวเรือนแล้วตกแต่งด้วยพลอยเนื้ออ่อน อาทิ แอเมทิสต์ ซิทริน โทแพซ การ์เนต โอปออะความารีน เทอร์คอยส์ รวมถึงอัญมณีประเภทหยก และมุกน้ำจืดด้วย

 


         ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายในยุโรปที่ประสบความสำเร็จจากการผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับ แนว Bridge Jewellery โดยการนำเอาแรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆ รอบตัวทั้งด้านศิลปะ สถานที่ ตลอดจนความเชื่อในท้องถิ่นมาใช้สร้างสรรค์เป็นชิ้นงานออกวางจำหน่ายในหลายประเทศทั่วทั้งภูมิภาคยุโรป เกิดเป็นแบรนด์เครื่องประดับท้องถิ่น อาทิ Links of London, Carat London, Jette, Roberto Coin ฯลฯ นอกจากนี้ ด้วยความน่าสนใจของ Bridge Jewellery ที่มีโอกาสทำตลาดได้ในช่วงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจย่ำแย่ ทำให้แบรนด์เครื่องประดับระดับโลกบางรายหันมาผลิตสินค้าดังกล่าวออกวางจำหน่ายด้วย อาทิ Forevermark, Thomas Sabo, Swarovski และ DelfinaDelettrez by Fendi เป็นต้น 


ทำไมต้องเป็น Bridge Jewellery


         ในช่วงเศรษฐกิจยุโรปอยู่ในภาวะชะลอตัว Bridge Jewellery มีความได้เปรียบในการทำตลาดมากกว่าเครื่องประดับแท้ที่มีมูลค่าสูงโดยทั่วไป เนื่องจากสินค้านี้พยายามรักษาระดับราคาให้อยู่ในเกณฑ์ปานกลางประมาณ 100-400 ยูโร (หรือประมาณ 4,000-16,000 บาท) จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคในตลาดยุโรป ประกอบกับเมื่อพิจารณาในแง่ทัศนคติของผู้บริโภค พบว่า Bridge Jewellery ได้รับการยอมรับในเชิงคุณค่ามากกว่าเครื่องประดับแฟชั่นเพราะนอกจากจะนำเสนอชิ้นงานด้วยดีไซน์ที่โดดเด่นแล้วการเลือกใช้วัสดุในการทำตัวเรือน และการนำเอาอัญมณีประเภทต่างๆ เข้ามาตกแต่งบนตัวเรือนก็ช่วยเพิ่มคุณค่าในตัวชิ้นงานได้มากขึ้น


         สำหรับผู้ประกอบการไทยแล้ว ตลาดยุโรปถือเป็นตลาดเครื่องประดับขนาดใหญ่ที่เปิดกว้างให้ผู้ค้าชาวต่างชาติได้นำสินค้าเข้ามาจำหน่าย ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยลองนำเอาแนวคิดของ Bridge Jewellery มาประยุกต์ใช้กับการผลิตเครื่องประดับ ควบคู่ไปกับการดึงเอาข้อได้เปรียบทางด้านคุณภาพของสินค้าและศักยภาพการออกแบบเครื่องประดับมาใช้ จึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะสามารถสร้างมูลค่าการค้า และมีโอกาสเติบโตต่อไปได้ในตลาดยุโรป


ข้อควรรู้เกี่ยวกับ Bridge Jewellery ในตลาดยุโรป


         การส่งออก Bridge Jewellery ไปยังตลาดยุโรป ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเข้าใจถึงสภาพตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมถึงต้องปฏิบัติตามการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของสินค้าดังนี้

 

  • ผู้บริโภคนิยมซื้อ Bridge Jewellery ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งนอกจากการส่งออกทางตรงแล้ว การค้าผ่านระบบออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เติบโตค่อนข้างเร็วและเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคยุโรป ด้วยเทคโนโลยีที่ครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ ทำให้การชอปปิงออนไลน์จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต ชาวยุโรปที่บริโภคเครื่องประดับแนว Bridge Jewelleryมีพฤติกรรมเปิดรับการซื้อสินค้าประเภทนี้ผ่านระบบออนไลน์ เพราะมองว่าไม่ได้มีความเสี่ยงจากมูลค่าของสินค้าเท่าใดนัก โดยจะเลือกสินค้าจากความน่าสนใจของรูปแบบและวัสดุที่ใช้ไม่ได้เจาะจงในเรื่องประเทศผู้ผลิตเท่าใดนัก เพียงแต่ผู้ผลิตเองก็ต้องมีความจริงใจและแสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงความน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง 

 

  • การออกแบบถือเป็นจุดขายสำคัญของ Bridge Jewellery ซึ่งนอกเหนือจากความโดดเด่นของชิ้นงานแล้ว ยังต้องออกแบบโดยคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งานด้วย เพราะเครื่องประดับแนวนี้เหมาะแก่การสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกทางรสนิยมแฟชั่น มากกว่านำไปใช้ในโอกาสสำคัญของชีวิต เช่น การแต่งงาน หรือมอบให้แก่ผู้ที่อาวุโสมากกว่า ทั้งนี้ การออกแบบสินค้าให้น่าสนใจนั้น หากสามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ อาทิ ที่มาของวัตถุดิบ สัญลักษณ์ ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ผ่านทางชิ้นงานได้ จะช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกได้ถึงคุณค่าและต้องการเข้าถึงสินค้ามากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ ควรติดตามเทรนด์แฟชั่นและเลือกออกแบบสินค้าให้ตรงตามรสนิยมของชาวยุโรปในแต่ละประเทศอาทิ ชาวเยอรมันและอังกฤษชอบเครื่องประดับสไตล์คลาสิคและสง่างามหรือชาวอิตาลีชอบเครื่องประดับที่นำเอาลูกปัด (Beads) เข้ามาตกแต่งอาจช่วยให้สินค้าที่ผลิตมีโอกาสจำหน่ายออกเร็ว เป็นที่รู้จักและมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

 

  • Bridge Jewellery ที่นำเข้าไปจำหน่ายในตลาดยุโรป ต้องสอดคล้องตามมาตรฐานและกฎระเบียบทางด้านสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม ทั้งข้อบังคับตามกฎหมาย RECH ซึ่งจำกัดปริมาณสารต่างๆ ที่ผสมอยู่ในเครื่องประดับอาทิ นิกเกิล ตะกั่ว แคดเมียม เป็นต้น รวมถึงระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการติดฉลากสินค้าที่อาจอยู่ในรูปแบบของบาร์โคดที่นำมาผูกไว้กับตัวสินค้า ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า น้ำหนัก แหล่งผลิต และหมายเลขทางการค้า 

 

          ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะผลิตและค้า Bridge Jewellery จะต้องให้ความสนใจตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุทำตัวเรือน ไปจนถึงการเลือกอัญมณีตกแต่งซึ่งต้องพยายามควบคุมต้นทุนเอาไว้ให้ดี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับต้องใส่ใจทางด้านการออกแบบให้มาก โดยพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์ถ่ายทอดลงบนชิ้นงาน เน้นการพัฒนารูปแบบเครื่องประดับให้ก้าวทันตามเทรนด์แฟชั่น แสวงหาโอกาสทางการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ควบคู่ไปกับการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของสินค้าอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างโอกาสทางการค้าเพิ่มขึ้นและประสบความสำเร็จได้ในตลาดยุโรป

 


ข้อมูลจาก : ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ 
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

[อ่าน 1,860]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Jobsdb by SEEK เผยผลสำรวจการเลือกปฏิบัติในกระบวนการจ้างงานยังขาดความเท่าเทียม
ประเทศไทยคาดว่า จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 4 ล้านคนต่อปี หลังบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม
ส่องรายได้ - กำไร 9 เดือน (บริษัทอสังหาฯ บางราย) ของปี 2567

Kantar เผย มีเพียง 56% ของคนทั่วโลกที่รู้สึกว่ามีสุขภาพกายและใจที่ดี
5 พิกัดชมวิวหิมะสุดตระการตาในญี่ปุ่น
แสนรู้ เปิดเดต้า หลังฟรีวีซ่าจีน คนไทยแห่เที่ยวฉ่ำทะลุ 1.8 พันล้านเอ็นเกจเมนต์
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved