รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การได้เห็นเครือข่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพาเวอร์กรีนเติบใหญ่แผ่กิ่งก้านจนกลายเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของการร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นับเป็นความสำเร็จอีกหนึ่งขั้นที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับบ้านปูและผู้อยู่เบื้องหลังทุกภาคส่วน เพราะบ้านปูเชื่อว่า “การเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคน ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบ้านปูตลอด 40 ปีที่ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สำหรับการออกแบบกิจกรรมของค่ายเพาเวอร์กรีนในทุกรุ่นมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชน โดยนำวิทยาศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือหาโซลูชันใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับโลกและหากเยาวชนที่ได้รับโอกาสเหล่านั้นนำองค์ความรู้ไปส่งต่อให้แก่ชุมชนของพวกเขา และสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้คนรอบข้างลุกขึ้นมาร่วมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ไปด้วยกัน นั่นย่อมเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจสำหรับค่ายเพาเวอร์กรีน
ณภัทร ปรุงศรีปัญญา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” (Power Green Camp) รุ่นที่ 17 กล่าวว่า พ่อเป็นต้นแบบที่ทำให้สนใจและใส่ใจสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็ก พ่อเป็นผู้นำชุมชนที่ผลักดันให้บ้านหัวถนน ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ กระตุ้นให้คนในชุมชนกว่าสามร้อยครัวเรือนเริ่มต้นแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และส่งขยะมาให้ทางศูนย์ฯ ช่วยจัดการอย่างถูกต้อง คือกระบวนการลดขยะ 4-re ได้แก่ Reduce, Reuse, Recycle, Repair รวมถึงการ Upcycle
สำหรับค่ายเพาเวอร์กรีนเป็นค่ายแรกที่ได้มาร่วมเปิดประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมกับเพื่อนต่างโรงเรียน โดยเข้าร่วมเพาเวอร์กรีนปี 2565 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บ้านปู และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล การได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 50 เยาวชน คือ โอกาสที่ทำให้ได้มาเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในโลกที่กว้างขึ้น พบเจอกับเพื่อนต่างโรงเรียนที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน
ทั้งนี้การได้ลงพื้นที่ไปทำกิจกรรมตามชุมชนต่างๆ ทำให้เขารู้ว่าโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย จากเด็กอีสานที่ไม่เคยรู้ว่าการกัดเซาะชายฝั่งคืออะไร ทั้งหมดนี้จุดประกายให้พัดอยากมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมมากขึ้น นอกจากนี้ค่ายเพาเวอร์กรีนยังช่วยสร้างคอนเนคชัน เชื่อมโยงให้เขาได้รู้จักกับพี่น้องในเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นอื่นๆ ที่พร้อมมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันอยู่เสมอ
นอกจากความรู้ที่ได้จากค่ายนี้แล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกศึกษาในคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานนวัตกรรมชิ้นแรกที่กำลังดำเนินการคือ เครื่องย่อยสลายน้ำมันเพื่อลดการเกิดปัญหาน้ำเสีย