"อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการ" เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญและมีพลวัตมากที่สุดในโลก มีบทบาทหลักในการสนับสนุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จัดหางานและบริการแก่ผู้คนหลายล้านคน
โดยการเดินทางและการท่องเที่ยวช่วยสร้างงาน 300 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ในขณะที่อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง การติดตามสถานการณ์ แนวโน้ม และสถิติล่าสุดของอุตสาหกรรมนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เบาบางลง "อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการ" กลับฟื้นคืนตัวมาอย่างแข็งแกร่ง แต่เผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ จึงต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายโดยการปรับสิ่งอำนวยความสะดวก
การว่าจ้างบุคคลภายนอกให้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการจ้างงานประจำที่มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ และเพิ่มการพึ่งพาเทคโนโลยีให้มากขึ้น
การบริการสามารถนิยามได้กว้างๆ ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมยามว่าง
ไม่ว่าจะเป็นการเข้าพักในโรงแรมหรือรับประทานอาหารในร้านอาหาร ครอบคลุมและเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น การขนส่ง สายการบิน สวนสนุก สายการเดินเรือ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
โดยอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ บริการด้านที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม
รายงานจาก ReportLinker ระบุว่า ตลาดการบริการทั่วโลกเติบโตจาก 4,390.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 เป็น 4,699.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 ที่อัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) 7.0%
โดยความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และประเทศพันธมิตรตะวันตกทำลายโอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อย่างน้อยก็ในระยะสั้น
และนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น และเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อในสินค้าและบริการซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก
ส่วนรายงานผลการวิจัยผลกระทบทางเศรษฐกิจประจำปี 2023 (EIR) ของสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel & Tourism Council: WTTC) แสดงให้เห็นว่าภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวกำลังเข้าใกล้จุดสูงสุดในปี 2562 โดยฟื้นตัวมากกว่า 95% ในปี 2566
ภาคส่วนนี้คาดว่ามีมูลค่า 9.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2562 เพียง 5% ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเดินทางสูงสุด
โดยมี 34 ประเทศ ได้เกินระดับปี 2562 แล้ว ขณะที่การจำกัดการเดินทางที่ยืดเยื้อจากมาตรการของหลายประเทศ เช่น จีน มีผลกระทบอย่างมากต่อการฟื้นตัวของโลก
แต่การตัดสินใจล่าสุดของรัฐบาลจีนในการเปิดพรมแดนอีกครั้งตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา คาดว่าจะขับเคลื่อนภาคส่วนนี้และเห็นการฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ในปีหน้า
Julia Simpson ประธานและซีอีโอของ WTTC กล่าวว่า
"ภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของภาคส่วนนี้และความต้องการที่จะเดินทางอย่างแน่วแน่ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ภายในสิ้นปีนี้ จะกลับมาเทียบเท่ากับปี 2562 และคาดว่าปี 2567 จะเดินหน้าแซงสถิติเดิมได้สำเร็จ และทำให้การเดินทางและการท่องเที่ยวจะเป็นภาคส่วนที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้า
ขณะที่หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวทั่วโลกคาดการณ์ว่าภาคส่วนนี้จะเพิ่มสัดส่วนของจีดีพีโลกเป็น 15.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2576
ซึ่งคิดเป็น 11.6% ของเศรษฐกิจโลก และจะจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 430 ล้านคนทั่วโลก โดยมีเกือบ 12% ของประชากรโลกที่ทำงานในภาคส่วนนี้"
ด้านเอินส์ทแอนด์ยัง หรือ EY ทำการสำรวจ CFO ในอุตสาหกรรมการบริการ 20 แห่ง พบว่าวันหยุดพักผ่อนมีอิทธิพลเหนือการจองโรงแรม เนื่องจากบริษัทต่างๆ ยังคงลดการเดินทางเพื่อทำธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ความต้องการเดินทางขององค์กรก็กลับมาเช่นกัน แม้ว่าจะชะลอตัวลงก็ตาม
การเติบโตอย่างรวดเร็วของการเดินทางเพื่อการพักผ่อนนั้นสอดคล้องกับการสำรวจผู้บริโภคด้านการบริการของ EY เมื่อปี 2565
ซึ่งพบว่า 89% ของผู้ตอบแบบสอบถาม วางแผนที่จะเดินทางพักผ่อนอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีที่ผ่านมา และ 24% ตั้งใจที่จะเดินทางเพื่อการพักผ่อนปีละ 3 ครั้ง หรือมากกว่านั้น
โรงแรมฟื้นตัวเหนือความคาดหมาย
แบบสำรวจ CFO ของอุตสาหกรรมการบริการในปี 2022 ของ EY ได้รวบรวมคำตอบจาก CFO ของบริษัทท่องเที่ยวและการบริการชั้นนำ 20 แห่ง ระบุว่า
เมื่อเกิดโรคระบาดในต้นปี 2563 อุตสาหกรรมโรงแรมทั้งหมดได้ปิดตัวลง นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจเป็นปี 2566 หรือแม้แต่ปี 2567 ก่อนที่รายได้ต่อห้องว่าง (RevPAR) จะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม CFO บริษัทชั้นนำ 16 ใน 20 แห่ง ที่ทำการสำรวจเชื่อว่า อุตสาหกรรมการบริการจะไปถึงเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวภายในปี 2566
ขณะที่ CFO 9 แห่งในจำนวนนี้มองโลกในแง่ดีขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะกลับมาที่ระดับในปี 2562 ภายในสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา
ในปี 2565 แบรนด์โรงแรมชั้นนำทั่วโลกได้รับการจัดอันดับตามมูลค่าแบรนด์ ฮิลตัน เป็นแบรนด์โรงแรมที่มีมูลค่าสูงสุดในปีนั้น โดยมีมูลค่าแบรนด์ทั่วโลกประมาณ 12.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แบรนด์โรงแรมหลักอื่นๆ ในการจัดอันดับนี้ ได้แก่ แมริออท, ฮอลิเดย์อินน์ และ ไฮแอท
การเดินทางเพื่อธุรกิจยังคงล่าช้า
การสำรวจของ EY นี้ยังเผยให้เห็นถึงการขาดความมั่นใจอย่างมากในความสามารถของการเดินทางเพื่อธุรกิจที่จะช่วยฟื้นฟู RevPAR
ในขณะที CFO 16 ใน 20 คนกล่าวว่าการเดินทางเพื่อพักผ่อนจะเป็นปัจจัยอันดับ 1 ในความพยายามนี้ แต่มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่อ้างถึงการเดินทางเพื่อธุรกิจ และอีก 2 คนระบุว่าการเดินทางเป็นกลุ่มเป็นผู้นำ
เมื่อถามถึงประเด็นเฉพาะที่มีผลกระทบในทางลบต่อ RevPAR ผู้ตอบแบบสอบถามอ้างถึงความกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์
บริษัทต่างๆ ลดการใช้จ่ายตามอำเภอใจ และความล่าช้าในการเดินทางทางอากาศ การเดินทางเพื่อธุรกิจที่ลดลงนี้ทำให้การประชุมขนาดใหญ่ไม่เกิดขึ้นหรือลดขนาดลงอย่างมากจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา
ความกังวลระยะยาวทำให้การมองโลกในแง่ดีของอุตสาหกรรมสงบลง
หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดที่โรงแรมเผชิญอยู่ตอนนี้คือการขาดแคลนแรงงาน โดย CFO จำนวน 12 คนจาก 20 คนในแบบสำรวจของ EY อ้างถึงความท้าทายนี้ว่า ทำให้รายได้จากการดำเนินงานสุทธิของโรงแรม ตึงเครียดมากที่สุด มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขากำลังปรับเปลี่ยนสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะกับลูกค้าและว่าจ้างฟังก์ชันต่างๆ จากภายนอกเพื่อพยายามลดต้นทุน
นอกจากนี้ โรงแรมยังเพิ่มค่าจ้างเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ โดย CFO จำนวน 17 ใน 20 คน ที่ทำแบบสำรวจอ้างว่าพวกเขาวางแผนที่จะทำเช่นนี้
ขณะเดียวกันผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่งยังพึ่งพาเทคโนโลยีมากกว่าแต่ก่อนเพื่อทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จและเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น
ในขณะที่ผู้บริโภคเผชิญกับอัตราเฉลี่ยรายวัน (ADRs) ที่สูงขึ้น และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีราคาถูกลง แต่ดูเหมือนว่าจะมีความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง