ชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยนั้น ต้องเริ่มจากการสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่อง BCG ให้กับผู้ประกอบการเป็นอันดับแรก เนื่องจากต้องยอมรับว่าการนำแนวคิด BCG มาใช้ในธุรกิจย่อมมีการลงทุนในบางส่วนของการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้มีการจัดการในส่วนนี้อย่างมีระบบและเข้าใจกระบวนการเป็นอย่างดี แต่ในธุรกิจการผลิตที่ไม่ใหญ่มากนัก อาจมองเป็นเรื่องของการลงทุนที่ยังไม่เห็นผลลัพธ์
ทั้งนี้มองว่าหากมีการสนับสนุนให้เกิดแนวคิดการหมุนเวียนในการผลิตของกลุ่มนี้ เปลี่ยนการทิ้งมาเป็นการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าแบบใหม่ให้กับสินค้าและช่วยลดการปล่อยของเสียจากการผลิตเป็นการสร้างมูลค่าระยะยาวและตอบรับกับเทรนด์ของการใส่ใจสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้ภาพของ BCG Model ของไทยเกิดได้เร็วขึ้น
โดยล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำงานวิจัยที่มีอยู่มาต่อยอดกับความต้องการของผู้ประกอบการไทยในการคิดค้นสินค้านวัตกรรมจากยางพารา โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อความร่วมมือคือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้ “โครงการส่งเสริมการตลาดสินค้านวัตกรรมยางพารา” ทำให้พบว่ามีผู้ประกอบจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการทำธุรกิจบนแนวคิด BCG และได้ใช้งานวิจัยพัฒนาเป็นสินค้านวัตกรรม เช่น บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด และ บริษัท โนวาเทค เฮลธ์แคร์ จำกัด เป็นต้น
ยางพารา คือ พืชเศรษฐกิจของไทยที่สร้างมูลค่าในการส่งออกและนำไปผลิตเป็นสินค้าต่างๆ มากมาย ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกยางแปรรูปอันดับ 1 ของโลก เฉลี่ยมูลค่าปีละ 590,000 ล้านบาท โดยในปี 2565 ที่ผ่านมามีการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 658,000 ล้านบาท และในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท ซึ่งตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น
ทั้งนี้คุณสมบัติของยางพาราได้ถูกนำมาวิจัยและพัฒนาออกมาเป็นสินค้านวัตกรรมจำนวนมาก โดยสินค้าจากยางพาราจัดเป็นวัสดุธรรมชาติสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ 100% ดังนั้นยางพาราจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจในมุมของการพัฒนาสินค้านวัตกรรมเพื่อสอดรับกับแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วย BCG Model
รศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มีการค้นคว้าและทดสอบคุณสมบัติของยางพาราจนเป็นงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้พัฒนาเป็นสินค้าได้อย่างหลากหลาย แต่ที่ผ่านมานั้นนักวิจัยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในห้องทดลองปฏิบัติการ ทำให้ไม่สามารถรับรู้ความต้องการของตลาดได้ทำให้งานวิจัยไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย การเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการตลาดสินค้านวัตกรรมยางพาราทำให้นักวิจัยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการค้นคว้าเพื่อนำไปผลิตสินค้านวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการมากขึ้น
อัยยพร ขจรไชยกูล ที่ปรึกษารองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรร มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ ให้ข้อมูลเสริมว่า คุณสมบัติของยางพาราที่สำคัญคือเป็นวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ 100% ซึ่งส่งผลดีกับสิ่งแวดล้อมและในบางสินค้าที่มีการพัฒนาเป็นนวัตกรรมแล้ว มีความอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าวัสดุสังเคราะห์หลายประเภท ยางพาราจึงเป็นหนึ่งในวัสดุจากธรรมชาติที่น่าสนใจในการนำไปเป็นส่วนประกอบกับวัสดุสังเคราะห์อื่น ทั้งนี้ในบางงานวิจัยมีการพิสูจน์แล้วว่าเมื่อเวลาผ่านไป สินค้าที่มียางพาราผสมอยู่ในสัดส่วนกับสารสังเคราะห์บางชนิดสินค้ากลุ่มนี้สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ เช่น ถุงดำเพาะชำต้นกล้าที่ผลิตจากส่วนประอบของยางพารา
พีระวัฒน์ ทองคำ ผู้จัดการอาวุโส บริษัท โนวาเทค เฮลธ์แคร์ จำกัด (Novatec) กล่าวว่า บริษัทได้พัฒนาสินค้านวัตกรรมด้านการแพทย์ที่เรียกว่า ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีความต้องการใช้อุปกรณ์ส่วนนี้ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ ใช้วิธีนำเข้าอุปกรณ์ชุดนี้จากต่างประเทศ เนื่องจากยังไม่มีการผลิตในประเทศไทย ดังนั้นบริษัทจึงเป็นรายแรกของโลกที่พัฒนาชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมจากยางพาราโดยใช้นวัตกรรมที่วิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีการสกัดโปรตีนออกจากวัสดุยางพาราเพื่อลดอาการระคายเคืองที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังขณะใช้อุปกรณ์
ทั้งนี้มองว่าตลาดในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตได้และในต่างประเทศมีการมองเป้าหมายการส่งออกไว้เช่นกัน ซึ่งโครงการส่งเสริมการตลาดสินค้านวัตกรรมยางพาราที่ได้จัดขึ้นครั้งนี้ เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงงานวิจัยเพื่อนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ส่งผลดีต่อผู้ปรกอบการการผลิต และส่งผลต่อสินค้าเกษตรของไทยด้วยเช่นกัน
เด่นใจ โกมลกาญจน ผู้บริหารระดับสูงด้านแบรนด์และสื่อสารการตลาด บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด กล่าว่า แนวคิดการทำธุรกิจบนความยั่งยืนคือแกนหลักในการทำธุรกิจของผลิต สินค้ากลุ่มของเล่นที่ผลิตจากไม้ยางพารานอกจากมีการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการใส่ความคิดสร้างสรรค์ในของเล่นทุกชิ้นแล้ว กระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นภายในโรงงานเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการที่ยึดตามหลัก BCG
โดยโรงงานผลิตมีการใช้พลังงานความร้อนหมุนเวียน มีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์โดยมีการติดตั้งโซลาร์เซล อีกทั้งฝุ่นผงที่เกิดจากกระบวนการผลิตงานไม้ในโรงงานนั้น บริษัทได้นำมาแปรรูปเป็นสินค้าทดแทนแผ่นไม้เพื่อใช้ในการตกแต่งและสร้างบ้าน โดยให้ความคงทนและใช้นวัตกรรมการผลิตที่มีคุณสมบัติให้ผิวสัมผัสที่ใกล้เคียงวัสดุจากไม้ธรรมชาติ และมีการสร้างการเรียนรู้เรื่อง BCG ให้กับกลุ่มสวนยางในการกำจัดต้นยางหลังจากหมดอายุการให้น้ำยางแล้ว โดยบริษัทมองว่าการทำธุรกิจต้องไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและช่วยให้ชุมชนเข้าใจการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่ยั่งยืน