กรณีศึกษา ‘บาหลี’ ออกมาตรการเข้ม เนรเทศนักท่องเที่ยวเกเร
17 Aug 2023

enlightened Respectful Tourism เที่ยวแบบให้เกียรติและรับผิดชอบต่อชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

‘บาหลี’ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นตัวอย่างจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก ที่ต้องทบทวนว่าจะมีการปรับใช้มาตรการใดบ้างเพื่อรับมือ หรือกระทั่งอัปเปหินักท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์นี้

 

ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดของอินโดนีเซีย บาหลีได้กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยภาคการท่องเที่ยวในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

เนื่องจากค่าครองชีพที่ไม่แพงและการเสนอวีซ่าสำหรับ Digital Nomad ในปี 2566 ผู้คนจำนวนมากกำลังพิจารณาที่จะย้ายไปที่สวรรค์เขตร้อนแห่งนี้ และคาดว่าประชากรของบาหลีคจะสูงถึง 4.47 ล้านคน ในปี 2566

แต่ด้วยพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเกเรที่เพิ่มขึ้น ทางการจึงออกคำแนะนำอย่างเป็นทางการรวมถึงออกคำสั่งห้ามประพฤติตัวที่ไม่เหมาะสม

 

แม้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำ และเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาอย่างยาวนาน แต่ผู้คนในบาหลีก็ยึดมั่นในศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีของตนเอง

ในขณะที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ชาวบาหลีมากกว่า 80% นับถือศาสนาฮินดู


อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวที่เฟื่องฟูของบาหลีได้บดบังภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ โดยมีผลกระทบด้านลบบางประการ เช่น ดัชนีอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยของบาหลีเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้

ดีเวลลอปเปอร์และผู้อยู่อาศัยจำนวนมากที่ย้ายมาปักหลักที่นี่ สร้างบ้านส่วนตัวและโรงแรมพร้อมสระว่ายน้ำกลางพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้ที่นาหรือที่ดินสำหรับระบบชลประทานในปัจจุบันกำลังถูกรุกล้ำในอัตราที่น่าตกใจ โดยมีพื้นที่เฉลี่ยประมาณ 3,437.5 ไร่ในแต่ละปี

ขณะที่กฎหมายว่าด้วยการปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมยังตามไม่ทันกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วของบาหลี

 

นอกจากนี้ การไม่ได้รับเงินอุดหนุนและภาษีที่ดินที่สูงทำให้เกษตรกรไม่สามารถปกป้องที่ดินของตนเองไว้ได้

ประเด็นเหล่านี้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของกฎระเบียบเพื่อให้แน่ใจว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวไม่ได้มาจากต้นทุนของภาคเกษตรกรรมที่ต้องสูญเสียไป

 

 

ในขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการในบาหลีเฟื่องฟูต่อเนื่องเป็นลำดับ

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าแทบไม่มีวันใดผ่านไปโดยไม่มีรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวรายละเมิดประเพณีและวัตนธรรมท้องถิ่นบนเกาะบาหลี

ที่พบเห็นจนชินตาคือ นักท่องเที่ยวสาวในชุดบิกินี่เล่นโยคะด้วยท่าด๊อกกี้และท่าร่วมเพศอื่นๆ บริเวณประตูวัด

และนักท่องเที่ยวหนุ่มอันธพาลที่เปลือยครึ่งท่อนยืนโต้เถียงกับตำรวจจราจรเรื่องไม่สวมหมวกกันน๊อก แต่กระนั้นความเคยชินเหล่านั้น ไม่ใช่ความถูกต้อง

และนับจากนี้ บาหลีจะไม่ทนอีกต่อไป

 

ทั้งนี้บาหลีในมุมมองของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตก ส่วนหนึ่งถูกถ่ายทอดผ่าน Morning of the Earth (1972) ภาพยนตร์เกี่ยวกับการเล่นกระดานโต้คลื่นอันโด่งดัง แสดงให้เห็นฮิปปี้เปลือยกายกำลังสอนชาวประมงสูงอายุซึ่งเป็นชาวบาหลีถึงวิธีการสูบกัญชา

และหลังจากที่ตกเป็นเมืองขึ้นของชาวดัตช์เมื่อกว่าสี่ศตวรรษที่ผ่านมา บาหลีไม่ได้มีชื่อเสียงในแง่ของวัฒนธรรมอันรุ่มรวยเท่านั้น

แต่ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางเพศ ตรอกซอกซอยรอบหาด Kuta เป็นที่โปรดปรานของกลุ่มนักเลงขี้เมา เดินด้อมๆ มองๆ หาเห็ดวิเศษ (เห็ดขี้ควาย เป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง) และโสเภณีสาวชาวอินโดนีเซียมาบำเรอกาม

 

 

ชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวในเกาะแห่งนี้ กล่าวว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู (ตั้งอยู่ใจกลางประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก)

เป็นหนึ่งในผู้คนที่เป็นมิตรและเป็นมิตรที่สุดในโลก ขณะเดียวกันกลับไม่เคยอินังขังขอบกับความเสื่อมเสียดังกล่าว

แต่ในที่สุดด้วยความอดทนที่ดูเหมือนจะถึงจุดแตกหัก กฎหมายจึงถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมพฤติกรรมที่ไม่ดีบนเกาะแห่งเทพเจ้า

 

ในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์รายงานว่า ชาวต่างชาติ 101 คน ถูกเนรเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งรวมถึงชาวรัสเซีย 27 คน ชาวอังกฤษ 8 คน และชาวอเมริกัน 7 คน

โดย I Wayan Koster ผู้ว่าการเกาะบาหลี ได้ออกกฎให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามคำสั่ง

สิ่งสำคัญที่สุดคือการเตือนให้แต่งกายและประพฤติตนสุภาพเรียบร้อยในสถานที่ทางศาสนา และการปฏิบัติตามกฎจราจร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ที่เช่าและการใช้หมวกนิรภัย) จะถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น

 

 

นอกจากนี้ ยังมีการหารือกำลังดำเนินการเกี่ยวกับการออกมาตรการเรียกเก็บ ‘ภาษีนักท่องเที่ยว’ (อาจมากถึง 1,522,690 รูเปียหรือราว 3,165 บาท)

ซึ่ง Ida Bagus Agung Partha Adnyana ประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวบาหลี อ้างว่า

"จะช่วยสนับสนุนมาตรการต่างๆ ของทางการ และป้องกันไม่ให้บาหลีกลายเป็นที่รู้จักในฐานะจุดหมายปลายทางราคาถูกเท่านั้น”

 

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อพยายามลบล้างการรับรู้ของนานาชาติที่มีต่อบาหลีว่าเป็น ‘เกาะแห่งปาร์ตี้’

ในปี 2558 มีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในช่วงเวลาสั้นๆ

และในปี 2561 ประกาศห้ามสวมบิกินี จนกลายเป็นพาดหัวข่าวในต่างประเทศ แต่เพียงไม่กี่วันก็ถูกลืมไปอย่างรวดเร็ว

 

หลังจากเกิดโรคระบาดใหญ่ บาหลีกลายเป็นสวรรค์ที่ดึงดูดบรรดา Digital Nomad และไม่นานมานี้ ชาวรัสเซียหลายหมื่นคนจะแห่กันไปที่เกาะนี้

ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจทำให้ชาวบาหลีไม่พอใจมากขึ้น เมื่อรับรู้ว่าผู้อยู่อาศัยใหม่เหล่านี้กำลังแย่งงานในท้องถิ่น รวมถึงมีความกังวลว่าอาจมีบางส่วนที่มีพฤติกรรมน่ารังเกียจ

 


“เราเชื่อว่านักท่องเที่ยวที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมเหล่านั้นเป็นชนกลุ่มน้อย ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนอายุน้อยที่ไม่รู้จักวัฒนธรรมที่แท้จริงของบาหลี ยกเว้นภาพเพียงเสี้ยววินาทีเดียวที่ขึ้นมาบนฟีดอินสตาแกรมของพวกเขา”

Lucienne Anhar เจ้าของโรงแรม Hotel Tugu Bali ใน Canggu กล่าว 


 

ในปีที่แล้ว ผู้คนในเมือง Canggu ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในการโต้คลื่น และเมือง Ubud ศูนย์กลางแห่งโยคะ รู้สึกโกรธระคนสังเวชใจ เมื่อมีอินฟลูเอนเซอร์ โพสท่าเปลือยกายข้างต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์

แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นนักเที่ยวที่ไม่ตระหนักถึงความสำคัญทางจิตวิญญาณของบาหลี คิดเพียงแค่ว่าเป็นฉากหลังที่เซ็กซี่สำหรับภาพในอินสตาแกรมของพวกเขาเท่านั้น

ทั้งยังละเลยความจริงที่ว่า ภาพถ่ายนั้นเป็นสื่อลามกภายใต้กฎหมายของอินโดนีเซีย

 

 

พฤติกรรมที่ดูหมิ่นเหยียดหยามเช่นนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่เมื่อภาพบัดสีเหล่านี้ปรากฏแก่สายตาผู้ติดตามหลายพัน หลายหมื่น หรือหลายแสนคนบนโซเชียลมีเดียในทันที

ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจร้ายแรง และไม่แปลกที่จะนำไปสู่การเนรเทศในที่สุด

 

ทั้งนี้ ‘การเนรเทศ’ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการลงโทษที่ผู้กระทำความผิดต้องเผชิญ พึงทราบว่าอินโดนีเซียมีกฎหมายต่อต้านภาพอนาจารที่เข้มงวดอย่างยิ่ง

และกรณีชาวต่างชาติที่เปิดเผยตัวเองผ่านกล้องที่มีการบันทึกไว้ บางกรณีอาจถูกตัดสินจำคุกสูงสุด 10 ปี 

 

 

พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามหลักการของ Respectful Tourism ทำให้ชาวฮินดูในบาหลีรู้สึกหวาดกลัว เช่น เมื่อยอดภูเขาไฟอากุงและบาตูร์ (ภูเขาไฟที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด 2 ลูกของเกาะ) ถูกใช้เป็นฉากหลังในการเซลฟี่ของชาวต่างชาติที่เปลือยกายอล่างฉ่าง

ซึ่งซีเอ็นเอ็นรายงานในเวลาต่อมาว่า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ว่าการเกาะบาหลีได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าห้ามกิจกรรมสันทนาการทั้งหมดบนภูเขาทั้ง 22 ลูก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวอีก

 

อย่างไรก็ตาม แทนที่จะเป็นแรงจูงใจทางวัฒนธรรม หลายคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการในบาหลีเชื่อว่าการห้ามปีนเขา (รวมถึงข้อจำกัดที่เข้มงวดในการเช่ามอเตอร์ไซค์) เป็นเพียงวิธีการจำกัด นักท่องเที่ยวที่มีรายได้น้อยให้หมดไปจากบาหลี

โดยแนวคิดนี้ พวกเขาเชื่อว่าอาจเป็นไปได้ว่านักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ มีโอกาสน้อยที่จะปีนภูเขาไฟหรือจ้างสกู๊ตเตอร์

 


“พูดตามตรง ส่วนตัวไม่คิดว่าเราทำได้ดีมากในการกำหนดว่านักท่องเที่ยวควรปฏิบัติตัวอย่างไร แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับรัฐบาลในการจัดการเรื่องนี้ในตอนนี้ เพราะการสื่อสารคือกุญแจสำคัญ และคิดว่าปัญหาเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ในอนาคตด้วยการสื่อสารและการออกกฎระเบียบที่ชัดเจน รวมถึงกำหนดค่าปรับและบทลงโทษหากจำเป็น”

Lucienne Anhar เจ้าของโรงแรมในบาหลีกล่าว


 

กระนั้นชาวบาหลีส่วนใหญ่ และชาวต่างชาติที่ทำงานหรือพำนักในบาหลี  ตลอดจนนักท่องเที่ยว ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า

เกาะแห่งเทพเจ้าจะเป็นสถานที่ที่ดีกว่านี้ หากผู้มาเยือนส่วนน้อยที่ไม่เคารพวัฒนธรรมท้องถิ้น จะถูกเนรเทศออกปากเกาะในชั่วข้ามคืน

 

จากการรายงานของหนังสือพิมพ์เทเลกราฟ เจ้าของโรงแรมชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่บนเกาะนี้มาเกือบ 30 ปี แต่ขอไม่เปิดเผยชื่อ อธิบายเรื่องอื้อฉาวล่าสุดนี้และผลที่ตามมาของการจับกุมว่า

 


“une tempête dans un verre d'eau” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า "นี่เป็นสถานการณ์ที่ผู้คนกำลังโกรธ เอะอะหรือไม่พอใจกับสิ่งที่ไม่สำคัญ"


 

ขณะที่อีกรายหนึ่งเป็นชาวออสเตรเลียที่ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการเป็นเวลาสองทศวรรษในพื้นที่ห่างไกลของบาหลี สะท้อนความรู้สึกของเขาว่า มันก็แค่ พายุในถ้วยชา!

ทุกอย่างจะจบลง และบาหลีจะกลับมาเป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยมอย่างที่เคยเป็นมา แต่ก็หวังว่าจะกำจัดนักท่องเที่ยวที่ไม่สนใจและไม่เคารพวัฒนธรรมท้องถิ่นออกไปสักสองสามคน

ซึ่งในโลกอุดมคติพวกเขาเหล่านั้นไม่ควรได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำตัววุ่นวายตั้งแต่แรก

 

 

ปัจจุบันนี้การท่องเที่ยวบาหลีกำลังส่งเสริมแคมเปญโฆษณาที่ขอให้นักท่องเที่ยวแสดงความเคารพต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นและกฎระเบียบต่างๆ มากขึ้น ในลักษณะที่คล้ายกับป้ายโฆษณาของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ขอให้ชาวต่างชาติละเว้นจากการปฏิบัติที่เป็นการดูหมิ่นพุทธศาสนา

โดยป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ใกล้กับสนามบินนานาชาติกรุงเทพฯ มีข้อความเตือนว่า ‘พระพุทธเจ้าไม่ได้มีไว้ประดับตกแต่ง’

 

หากชาวบาหลีโดยรวมต้องการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติงดการปีนภูเขาไฟศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา แน่นอนว่าความปรารถนานั้นควรได้รับการเคารพโดยไม่มีคำถาม

 


บทความจากนิตยสาร MarketPlus Issue 158 July 2023

 

[อ่าน 1,258]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘โตโยต้า’ กับการเผชิญหน้าคู่แข่ง ในยุครถไร้คนขับ
เปิดแผนใหญ่ของ Nintendo ในธุรกิจบริการ หวังยกระดับประสบการณ์แฟนเกม
OPPO Find X8 Series เปิดตัวชิป MediaTek Dimensity 9400 SoC สู่ตลาดโลก
Spotify เผยผลประกอบการ Q3 2024: ผู้ใช้งานทะลุ 640 ล้านคน กำไรสุทธิ 300 ล้านยูโร
ฝันลมๆ แล้งๆ หรือปฏิวัติวงการ? Elon Musk ท้าชน ‘ขบวนรถไร้คนขับ’ ด้วย Robotaxi สุดล้ำ!
‘เลอโนโว’ นำเสนอผลิตภัณฑ์ AI ล้ำยุค ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน @ Tech World 2024
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved