เปิดกรณีศึกษา ทำไมสิงคโปร์จึงพัฒนา ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ให้เฟื่องฟูระดับโลกได้
01 Sep 2023

‘ความคิดสร้างสรรค์’ เป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอของสิงคโปร์และเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศโดยตลอด

ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์เมื่อปี 2561 ว่า

“สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการออกแบบ และวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ไม่มีอะไรที่เรามีในวันนี้เป็นธรรมชาติหรือเกิดขึ้นเอง”

 


 

ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยในครั้งนั้น เขาเรียกร้องให้มีความพยายามร่วมกันในการคิดใหม่และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำพาประเทศจาก SG50 (50 ปีแห่งการประกาศเอกราชของสิงคโปร์) เป็น SG100 (ก้าวสู่ 100 ปี แห่งการปลดแอกจากอังกฤษ) อย่างยิ่งใหญ่

สิงคโปร์เป็นนครรัฐสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีระบบรัฐสภาแบบเวสต์มินสเตอร์ มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทข้ามชาติ สถาบันการเงินที่มั่นคง และมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

แต่เนื่องจากไม่มีทุนทรัพย์ตามธรรมชาติและขาดแคลนที่ดิน สิงคโปร์จึงต้องพึ่งพาความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริงสำหรับความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเผชิญ

การกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ ใช้การออกแบบและนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการปรับปรุงนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ทำให้สิงคโปร์ยังคงเนื้อหอม และเป็นหมุดหมายสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

 

ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวตามวาทะของผู้นำสิงคโปร์ให้สำเร็จ DesignSingapore Council รับทำหน้าที่ดูแลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยตรง วิสัยทัศน์ของหน่วยงานนี้คือตั้งเป้าให้สิงคโปร์เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเป็นประเทศที่น่าหลงใหลผ่านการออกแบบภายในปี 2568


 

"ในฐานะหน่วยงานระดับประเทศที่ส่งเสริมการออกแบบ ภารกิจของเราคือการพัฒนาภาคส่วนการออกแบบ ช่วยให้สิงคโปร์ใช้การออกแบบเพื่อสร้างนวัตกรรมและขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ

รวมถึงทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นในเมืองสร้างสรรค์แห่งการออกแบบที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกแห่งนี้ และยังเป็นอันดับที่ 9 ประเทศที่มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดในโลก ตามดัชนีความคิดสร้างสรรค์ระดับโลกของ Martin Prosperity Institute อีกด้วย"

 

สิงคโปร์มีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางระดับโลกในเอเชียสำหรับการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และองค์กรชั้นนำ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์จึงมีบทบาทในการเป็นตัวขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ที่สุดแสนจะท้าทายดังกล่าวให้กลายเป็นจริง ช่วยให้ประเทศมีชีวิตชีวาและเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลกได้ขยายขอบเขตมากกว่าเคยและสิงคโปร์ก็มีข้อได้เปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากที่ตั้งของสิงคโปร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

จากข้อมูลของ UNCTAD สิงคโปร์เป็น 1 ใน 10 ผู้ส่งออกสินค้าสร้างสรรค์รายใหญ่ที่สุดของโลก

ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็เป็นตลาดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสร้างรายได้ 7.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (33% ของยอดขายสินค้าดังกล่าวทั่วโลก) และมีการจ้างงาน 12.7 ล้านตำแหน่ง (43 % ของอุตสาหกรรมนี้ทั่วโลก)

 

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เติบโต โดยตระหนักว่าองค์ประกอบที่ไม่เหมือนใครของ Creative Economy ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี มีศักยภาพในการสร้างรายได้และงาน ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความหลากหลายทางสังคมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

สิงคโปร์ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการบ่มเพาะสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นั้นอยู่ที่การบ่มเพาะองค์ประกอบสำคัญดังต่อไปนี้:

สังคมพหุวัฒนธรรมที่เหนียวแน่นและเป็นมิตร; กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเพื่อปกป้องความคิด และบรรยากาศที่แข็งแกร่งสำหรับธุรกิจสร้างสรรค์และการเป็นผู้ประกอบการ

 

หน่วยงานสาธารณะต่างๆ ร่วมกันทำงานอย่างแข็งขัน โดยให้การสนับสนุนเงินทุน โครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรต่างๆ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีรากฐานที่แข็งแกร่ง เช่น สภาศิลปะแห่งชาติสนับสนุนศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ และวรรณกรรม ขณะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สถาบันมรดก สถานที่ และอนุสาวรีย์ อยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการมรดกแห่งชาติ

โดยหน่วยงานเหล่านี้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน และเยาวชน ซึ่งให้ทุนแก่สถาบันทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น Esplanade สำหรับศิลปะการแสดง และ National Gallery สำหรับทัศนศิลป์ ส่วนอุตสาหกรรมดิจิทัล สื่อ และภาพยนตร์ได้รับการพัฒนาโดย Infocomm Media Development Authority ภายใต้กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ

ขณะเดียวกันภาคส่วนการออกแบบได้รับการส่งเสริมและพัฒนาโดย DesignSingapore Council ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ซึ่งขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของสิงคโปร์ในการเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและประเทศที่น่าหลงใหลด้วยการออกแบบ

 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้กลายเป็นสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคเอเชียของบรรดาบริษัทในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ชั้นนำ ซึ่งไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ได้รับเลือกจากความพยายามร่วมกันระหว่างรัฐบาลสิงคโปร์และผู้ประกอบการต่างชาติที่มุ่งขับเคลื่อนให้ประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็นผืนผ้าใบที่สร้างสรรค์ผลงานระดับโลก

ตัวอย่างเช่น บริษัทข้ามชาติอย่างกลุ่ม LVMH, Lucasfilm และ Ubisoft (บริษัทเกมยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส) ก็ได้ปักหลักศูนย์กลางระดับภูมิภาคที่สิงคโปร์

 

 

โดยในปี 2556 LVMH ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาผู้มีความสามารถประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์แรกนอกภูมิภาคยุโรป ศูนย์นี้มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาผู้นำเอเชียรุ่นต่อไปของ LVMH และช่วยถ่ายโอนการจัดการระดับสูงภายในระบบนิเวศของ LVMH

ต่อมาในปี 2560 LVMH ร่วมมือกับ Bollore Logistics Singapore เพื่อสร้างศูนย์อำนวยความสะดวกอัตโนมัติที่ทันสมัยขนาด 20,000 ตร.ม. ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะรวมเทคโนโลยีระดับภูมิภาคที่จะขับเคลื่อนผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ดียิ่งขึ้น

 

 

สำหรับ Lucasfilm Singapore ได้สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติโดยมีผลงานในซีรีส์ทางโทรทัศน์ที่ได้รับรางวัล Emmy Award เรื่อง Star Wars: The Clone Wars และ Rango ซึ่งเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ได้รับรางวัลออสการ์ซึ่งผลิตบางส่วนในสิงคโปร์

สตูดิโอแห่งนี้ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มากมาย เช่น Transformers, Iron Man, The Avengers, Hitman: Agent 47 (ถ่ายทำในสิงคโปร์ด้วย), Jurassic World และ Star Wars: The Force Awakens

นอกจากนี้ ทีมงานยังมีส่วนร่วมใน Transformers the Ride ซึ่งเป็นเครื่องเล่นสุดฮอตที่ Universal Studios สิงคโปร์และลอสแอนเจลิสอีกด้วย

 

ในด้านวัฒนธรรม ตลอดจนการสร้างสถานที่รองรับและสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สิงคโปร์ได้พัฒนาแผนนโยบายหลักด้านศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรม เช่น แผนแม่บทด้านมรดกทางวัฒนธรรมฉบับแรกของประเทศ ซึ่งจัดทำขึ้นร่วมกับชุมชนเพื่อบรรจุมรดกทางวัฒนธรรมลงในพื้นที่ประจำวันของพลเมือง และสนับสนุนความคิดริเริ่มมากขึ้น

แผนศิลปะสิงคโปร์เเป็นพิมพ์เขียวระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) โดยใช้แนวทางของระบบนิเวศทั้งหมดเพื่อส่งเสริมภาคศิลปะและลงทุนในสถาบันวัฒนธรรมสาธารณะควบคู่ไปกับพื้นที่ศิลปะเชิงพาณิชย์

 

ไม่เพียงเท่านี้หน่วยงานสร้างสรรค์ต่างๆ ยังทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับการท่องเที่ยวสิงคโปร์ เพื่อสร้างปฏิทินกิจกรรมสร้างสรรค์ที่มีชีวิตชีวาตลอดทั้งปี

อาทิ สัปดาห์ศิลปะสิงคโปร์ สัปดาห์การออกแบบสิงคโปร์ เทศกาลนักเขียนสิงคโปร์ เทศกาลศิลปะนานาชาติสิงคโปร์ เทศกาลศิลปะการแสดงที่ Esplanade และ Night Fest เป็นต้น

กิจกรรมเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนได้สัมผัสกับศิลปะในทางบวก

 

 

ขณะที่อีกแง่มุมหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยความสำเร็จที่ขาดไม่ได้คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สิงคโปร์มีบุคลากรที่มีการศึกษาดีและมีทักษะ โดยเน้นที่การศึกษาและการฝึกอบรมที่สร้างสรรค์

สถาบันการศึกษาต่างๆ ของประเทศเน้นจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงในสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Creative Economy เช่น การออกแบบ ศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี โดยบ่มเพาะบุคลากรที่มีความสามารถอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจของสิงคโปร์ เช่น ชาวต่างชาติเสียภาษีต่ำกว่าหลายประเทศ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ยอดเยี่ยม ได้ดึงดูดบริษัทข้ามชาติ สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการในภาคส่วนสร้างสรรค์ให้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศ

[อ่าน 2,643]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Sushiro 2050 ร้านซูชิสายพานแห่งอนาคต ”มากกว่าความอร่อย คือความยั่งยืน“
Meitu ทุบสถิติ! รายได้พุ่งทะลุฟ้า 17,100 ล้านบาท กำไรแรงจัด 59.2%
Forever 21 ล้มละลายอีกครั้งในรอบ 6 ปี ปิดตำนานฟาสต์แฟชั่น เตรียมปิดทุกสาขาในอเมริกา
ไหวไหม Renault จะคัมแบ็กตลาดรัสเซีย ต้องจ่าย 1,300 ล้านดอลลาร์ เพื่อแลกทรัพย์สินคืน
ไอซ์แลนด์สร้างฟาร์มพลังงานสะอาด หวังดันสาหร่ายเป็นอาหารแห่งอนาคต
House of Dancing Water เมื่อเทคโนโลยีผสานศิลปะ จนกลายเป็นงานโชว์สุดอลังของ “มาเก๊า”
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved