ความกล้าที่จะทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ “Dare what others don’t” เป็นหัวใจสำคัญของนิสสัน หนึ่งในข้อพิสูจน์นี้ คือโครงการ จีที อคาเดมี (GT Academy) โครงการสุดท้าทายที่คัดเกมเมอร์นักแข่งรถในโลกเสมือนมือฉมัง มาเข้าแคมป์ฝึกหนักกับนักแข่งอาชีพจริงก่อนเข้าชิงชัยในมอเตอร์สปอร์ต และลบคำสบประมาทของใครหลายคนที่ว่าเด็กเล่นเกมไม่มีทางเป็นนักแข่งรถได้ เพราะในที่สุดโครงการ GT Academy สามารถปั้นนักแข่งดาวรุ่งมาประดับวงการมอเตอร์สปอร์ตระดับโลกได้หลายคน
ย้อนไปเมื่อ 15 ปีก่อน นิสสันร่วมกับเพลย์สเตชั่น ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น จากความเชื่อมั่นใน “คน” ของนิสสัน ความเสมือนจริงในเกมจำลองการขับขี่รถยนต์ Gran Turismo และความกล้าที่จะคิดนอกกรอบของสองพันธมิตร ทำให้เกิดโครงการ GT Academy ขึ้น
ดาร์เรน ค็อกซ์ ผู้อำนวยการ นิสสัน โกลบอล มอเตอร์สปอร์ตในขณะนั้น และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ Nissan GT Academy เคยกล่าวไว้ว่า
นิสสันมองหานักขับรถแข่งจากกลุ่มคนที่ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองมีศักยภาพ และนำพวกเขาออกจากโลกเสมือนจริงเข้ามาสู่โลกแห่งความเป็นจริงเพื่อพัฒนาความสามารถให้พวกเขาก้าวสู่ความสำเร็จ
นิสสันเองมีชื่อเสียงมากในการพัฒนารถสมรรถนะสูงหลายรุ่น โดยเฉพาะ Nissan GT-R R32 ที่ทีมวิศวกรของนิสสันทุ่มเทสุดตัวจนสามารถพัฒนารถที่รีดพลังได้มากถึง 600 แรงม้า เมื่อลงสนาม Japanese Car Touring Championship ในปี 1989 GT-R R32 กลายเป็นม้ามืดคว้าแชมป์ได้ในการลงแข่งครั้งแรก และยืนตำแหน่งแชมป์สุดแกร่งในรายการนี้ได้ถึง 5 ปีซ้อน
ความสำเร็จนี้ทำให้ทีม นิสสัน มอเตอร์สปอร์ต หรือนิสโม (NISMO) มั่นใจที่จะนำรถรุ่นนี้ออกไปต่อกรกับแชมป์นานาชาติในการแข่งขันระดับโลก เริ่มต้นที่ Australian Touring Car Championship ในปี 1990 และเขี่ยแชมป์เดิมตกไปอย่างไม่เห็นฝุ่น จนกระทั่งนิตยสารดังของออสเตรเลียขนานนาม Nissan GT-R R32 ที่ลงแข่งในขณะนั้น ว่าเป็น “ก๊อดซิลล่า” แห่งมอเตอร์สปอร์ต และนี่เป็นที่มาของฉายาตลอดกาลของ GT-R นั่นเอง
เมื่อความกล้าท้าทายและความพร้อมมาเต็มพิกัด GT Academy เปิดรับนักเรียนรุ่นแรกในปี 2008 เริ่มจากการแข่งขันทั้งผ่านเครือข่ายเพลย์สเตชันและในการแข่งขันพิเศษกับเครื่องซิมูเลเตอร์ เพื่อคัดผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจากประเทศต่างๆ มาเข้าร่วมเก็บตัวและฝึกแบบเข้มข้นกับรถแข่งจริง ที่สนามซิลเวอร์สโตน ประเทศอังกฤษ ภายใต้การดูแลของทีมมอเตอร์สปอร์ตของนิสสันและนักแข่งอาชีพ
ในตอนแรก มีเสียงวิจารณ์และข้อสงสัยมากว่าโครงการนี้จะปั้นนักแข่งได้จริงหรือ เพราะทักษะการขับในสนามแข่งจริงกับในซิมูเลเตอร์นั้นต่างกันมาก แต่ในที่สุด GT Academy ผ่านฉลุยชนะทุกคำสบประมาทได้
เริ่มจากในผู้ชนะคนแรกของโครงการ คือ ลูคัส ออร์โดเนซ หนุ่มสเปนวัย 23 ปี ที่กระโดดเข้าร่วมรายการมอเตอร์สปอร์ตระดับโลกจนคว้าแชมป์รายการเลอมังส์ 24 ชั่วโมง (Le Mans 24 hour) ถึง 2 ครั้ง ต่อด้วยการแข่งขันอีกหลายรายการ ในอีก 2 ปีถัดมาแชมป์ GT Academy ยุโรปปีที่ 3 ยานน์ มาร์เด็นโบโรห์ วัย 19 ปี มุ่งหน้าต่อในสายนักแข่งอาชีพ หลังจากได้ใบอนุญาตการแข่งรถยนต์ระหว่างประเทศแล้วก็ตามรอยรุ่นพี่เข้าแข่งในดูไบ 24 ชั่วโมง คว้าชัยชนะในเลอมังส์ และการแข่งรถที่นั่งเดียว (Single-seater Racing) และหนุ่มน้อยคนนี้เองที่โซนี่นำเรื่องราวของเขามาเล่าผ่านภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ “Gran Turismo แกร่งทะลุไมล์”
ประเทศไทย เข้าร่วมโครงการนี้ในปีที่ 6 ของ GT Academy และได้ปั้นนักแข่งให้วงการมอเตอร์สปอร์ตหลายคน อาทิ ฐนโรจน์ ธนาสิทธิ์นิธิเกตุ หรือเบ๊บ แชมป์คนแรกของไทย ที่ต่อมาคว้าแชมป์จากรายการ Nissan Micra Cup จากแคนาดา และณัฐยศ ศิริกายะ หรือ เมี่ยง THEMIANG ที่เป็นม้ามืดเอาชนะในรายการฟินนิช ทัวร์ริ่ง แชมเปี้ยนชิพ 2017 รุ่น V-1,600 cc แบบเซอร์ไพรซ์คนทั้งสนาม แต่เขายังคงไม่ทิ้งแพสชันของอี-มอเตอร์สปอร์ต จนได้เป็น 1 ใน 4 ตัวแทนจากเอเชียเข้าแข่ง Olympic Virtual Series (OVS) ครั้งแรกที่โตเกียวในปี 2021
GT Academy เป็นโครงการที่ไม่เพียงแต่ท้าทายขนบเดิมๆ แต่สร้างแรงบันดาลใจให้คนค้นหาศักยภาพของตัวเอง ก้าวออกนอกกรอบที่เคยคิด เคยทำ และเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ใครมองหาแรงบันดาลใจของตัวเองอยู่ จะลองไปชมภาพยนตร์เรื่อง “Gran Turismo แกร่งทะลุไมล์” ที่ฉายอยู่ในตอนนี้ก่อนก็ได้ แล้วพัฒนาตัวเองตามแนวคิดของนิสสันที่ “กล้าทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า” แล้วจะพบความเก่งในตัวคุณ