เป็นที่ทราบกันดีว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลได้ส่งผลต่อธุรกิจเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารที่ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงมหาศาล ทั้งการปรับรูปแบบสาขาใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการที่มากกว่าการฝาก-ถอน การพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันและอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง เพื่อรองรับการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ รวมไปถึงการมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้า
‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ ถือเป็นธนาคารแรกๆ ในประเทศไทยที่ขยับตัวลงทุนด้านดิจิทัลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเปิดบริษัท ‘ดิจิทัล เวนเจอร์ส’ (Digital Ventures) ในปี 2559 โดยมีภารกิจหลักคือการเข้าไปเป็นพันธมิตรและร่วมลงทุนใน financial technology ทั่วโลก โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักของธนาคาร
ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer and Chief Strategy Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับสตาร์ทอัพต่างๆ ทั่วโลกกว่า 800 ราย และเวนเจอร์แคปปิตอลในต่างประเทศอีกกว่า 60 รายจาก 29 ประเทศทั่วโลก โดยใช้งบลงทุนก้อนแรก 50 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,750 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดเล็ก 1-3 ล้านดอลลาร์ ผ่านการลงทุนใน 3 รูปแบบคือ Fund of Funds การลงทุนผ่านกองทุนร่วม, Direct Investment การลงทุนโดยตรงกับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และการสนับสนุนผ่านโครงการ Digital Ventures Accelerator”
“สำหรับในปีนี้บริษัทจะมีเพิ่มงบการลงทุนอีก 50 ล้านดอลลาร์ รวมเป็นเงินลงทุนตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน 100 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ดิจิทัล เวนเจอร์สก้าวสู่การเป็น Global Fund โดยจากนี้ไปทิศทางการลงทุนจะให้ความสำคัญกับการลงทุนใน Direct Investment มากขึ้น พร้อมจะมีการเพิ่มงบลงทุนเป็นครั้งละ 5-10 ล้านดอลลาร์” ดร.อารักษ์กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ‘ดิจิทัล เวนเจอร์ส’ ได้เข้าไปลงทุนเชิงกลยุทธ์ในเทคสตาร์ทอัพ และเวนเจอร์ส แคปปิตอล อาทิ Golden Gate Ventures กองทุนสตาร์ทอัพชั้นนำของอาเซียน โดยจะเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น (Early Stage), NycaPartners เวนเจอร์แคปปิตอลชั้นนำด้านฟินเทคของสหรัฐอเมริกา, Ripple บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงินชั้นนำของโลกจากสหรัฐอเมริกา, PayKey สตาร์ทอัพผู้พัฒนาแพลตฟอร์มปฏิวัติการชำระเงินรูปแบบใหม่จากอิสราเอล และ 1QBit ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านเทคโนโลยีควอนตัมและควอนตัมคอมพิวเตอร์จากแคนาดา เป็นต้น
“การลงทุนที่ผ่านมาถือเป็นการลงทุนเพื่อการเรียนรู้มากกว่าเรื่องของผลตอบแทน เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนใน Series A หรือ Early Stage ที่ต้องใช้เวลาในการเติบโต 3-5 ปีถึงจะได้รับผลตอบแทน ซึ่งเราคาดหวังว่าสตาร์ทอัพที่เราเลือกลงทุนจะสามารถมอบผลตอบแทนได้ประมาณ 25-30% ต่อปี” ดร.อารักษ์กล่าวต่อไปว่า
“การลงส่วนใหญ่เรายังคงเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพในต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากสตาร์ทัพในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นการนำไอเดียจากต่างประเทศมาพัฒนา ไม่ใช่ไอเดียที่เป็น Made in Thailand ที่เกิดจาก Pain Point ของคนไทยจริงๆ แต่หากมีสตาร์ทอัพไทยที่น่าสนใจเราก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุน”
อย่างไรก็ตาม นโยบายการลงทุนของ ‘ดิจิทัล เวนเจอร์ส’ ในปีนี้ จะมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ AI, Blockchain, Cybersecurity, Big Data หรือ Data Analysis และอื่นๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้กับบริการต่างๆ ของธนาคาร อาทิ บริการสินเชื่อ การบริหารความมั่งคั่ง ธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจประกัน ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ Going Upside Down หรือตีลังกากลับหัว ที่จะทำให้ธนาคารมีศักยภาพด้านดิจิทัล และมีโมเดลการทำงานที่เหมาะสมกับโลกดิจิทัลในอนาคต