สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผนึกภาคีเครือข่าย และสถาบันอาศรมศิลป์ ปั้นพื้นที่รกร้างไม่ปลอดภัย “คลองเปรมประชากร” สู่ “พื้นที่สุขภาวะละแวกบ้าน” 8 แห่ง นำร่อง 2 แห่งแรกชุมชนประชาร่วมใจ 1 และ 2
ตั้งต้นโจทย์ชูหลักความต้องการจริงชุมชม เน้นส่วนร่วมทุกกระบวนการ สร้างการเป็นเจ้าของดูแลพื้นที่ยั่งยืน เปิดกว้างคนทุกกลุ่มใช้พื้นที่เพิ่มกิจกรรมทางกาย ป้องกันโรคไม่ติดต่อ พร้อมเป็นโมเดลต้นแบบพัฒนาพื้นที่สุขภาวะละแวกบ้านทั่วประเทศ
ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนความทันสมัยทางด้านเทคโนโลยี ได้มอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในแง่การอุปโภคบริโภค การทำงาน การเรียนและการเดินทาง แต่อีกด้านหนึ่งกลับเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยขยับร่างกายในช่วงวันค่อนข้างน้อยและสะสมเป็นพฤติกรรมเนือยนิ่ง ประกอบกับขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและสม่ำเสมอ
โดยข้อมูลจากศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า การมีกิจกรรมทางกายของคนไทยในภาพรวมปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 62 ลดลงจากระดับร้อยละ 63 ในปี 2564
เท่ากับว่าคนไทยทุกเพศวัย กำลังเดินบนเส้นทางความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง มะเร็งเฉพาะจุด เบาหวาน สุขภาพจิต และการนอนหลับ ซึ่งโรคภัยเหล่านี้คือสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนไทย สูงถึง 3 ใน 4 หรือร้อยละ 75
“สสส. พยามแก้โจทย์การขาดกิจกรรมทางกายซึ่งเกิดจากพฤติกรรมเนือยนิ่งของคนไทย เพราะนำไปสู่โรคไม่ติดต่อ ด้วยการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะละแวกบ้านให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศมากที่สุด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาขยับร่างกายเพิ่มขึ้น หรือผ่อนคลายความเครียด ให้เป็นที่ฟิตกาย และแหล่งพักพิงทางใจได้ทุกช่วงเวลา
โดยไม่จำเป็นต้องไปสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งอาจอยู่ไกลบ้านทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายการเดินทาง จนในที่สุดก็เลิกล้มความตั้งใจการมีกิจกรรมทางกายและเกิดโรค NCDs” นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าว
“ชุมชนประชาร่วมใจ 1-2” ตัวอย่างความสำเร็จ “สสส.”
หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะละแวกบ้านของ สสส.และสถาบันอาศรมศิลป์คือ การพัฒนาพื้นที่รกร้างไม่ปลอดภัย ซึ่งเกิดจากพื้นที่เหลือหลังการจัดสรรเพื่อที่อยู่อาศัยบริเวณคลองเปรมประชากรชุมชนประชาร่วมใจ 1 และ 2 เขตจตุจักร จากแผนการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะละแวกบ้านทั้งสิ้น 8 แห่ง โดยทั้งชุมชนขาดพื้นการขยับร่างกายและพักผ่อน ส่งผลให้คนในชุมชนขาดกิจกรรมทางกาย และมีความเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อ
ดังนั้น กระบวนการทำงานของ สสส. และสถาบันอาศรมศิลป์ จึงเริ่มจากการพูดคุยกับชุมชนเพื่อระดมข้อมูลและความต้องการที่แท้จริงตามบทบาทของ สสส. ซึ่งเป็นภาคนโยบายและดำเนินงานด้วยหลักการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
โดยการกระตุ้นให้ชุมชนเจ้าของพื้นที่เห็นปัญหาและหาวิธีการแก้ไข พร้อมกับนำข้อมูลงานวิจัยของ สสส. และภาคีเครือข่ายเข้ามาประยุกต์ในการออกแบบพื้นที่ ประกอบกับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนสู่การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะละแวกบ้านชุมชนให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
“ประเด็นของการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะละแวกบ้านไม่ได้เกิดจากผู้ให้จะให้อะไร แต่ขึ้นอยู่กับชุมชนต้องการอะไรเป็นหลัก เราต้องฟังเสียงเขา เพราะหลายอย่างที่นำเสนอไป ชุมชนก็ปฏิเสธเพราะเขาไม่ต้องการ ดังนั้นการทำงานของ สสส. จึงเริ่มจากการพูดคุยเพื่อค้นหาความต้องการจริงๆ
ดึงให้มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน สร้างการเป็นเจ้าของร่วม ทำให้เขารัก ห่วงแหนและดูแลพื้นที่ซึ่งจะยั่งยืนมากกว่า จากนั้นก็นำเอาองค์ความรู้จากงานวิจัยของสสส.ใส่ลงไป สุดท้ายให้ชุมชนตัดสินใจว่าตรงกับความต้องการจริงหรือไม่” ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวสรุป
ด้าน อิสริยา ปุณโณปถัมภ์ ผู้จัดการสตูดิโอชุมชน สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า โจทย์ของการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะละแวกบ้านของชุนชนประชาร่วมใจ 1 และ 2 คือการสร้างชุมชนสุขภาวะเพื่อการมีชีวิตวิถีสุขภาวะ ภายใต้ความต้องการของชุมชนเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง มีความยืดหยุ่นในการทำกิจกรรมต่างๆ
โดยเฉพาะการมีกิจกรรมทางกาย สามารถปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ เช่น ลานกิจกรรมชุมชน พื้นที่เพาะปลูกผักสวนครัวเพื่ออาหารปลอดภัย เป็นที่พื้นที่สำหรับคนทุกกลุ่ม ซึ่งการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะละแวกบ้านบริเวณชุมชนประชากรร่วมใจ 1 และ 2 มีพื้นที่ประมาณ 100 ตารางวาใกล้เคียงกัน ตั้งอยู่ในระยะการเดินเท้าเข้าถึงประมาณ 300 เมตร และอยู่บริเวณกลางชุมชน มีความต้องการพัฒนาเป็นพื้นที่ยืดหยุ่นในการทำกิจกรรมต่างๆ
ประกอบไปด้วย สนามเด็กเล่น เครื่องออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุเพื่อจูงใจการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน มีลานเปตองซึ่งแม้มีขนาดความยาวเพียง 8 เมตรด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ก็ตาม แต่ก็จัดสร้างตามความต้องการ รวมทั้งมีแปลงพืชผักสวนครัวและพื้นที่คัดแยกขยะ พื้นที่แสดงอัตลักษณ์ชุมชน และเป็นพื้นที่ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนเป็นลานอเนกประสงค์ เป็นต้น
“ความเข้าใจชุมชนเท่ากับความไว้ใจ คือสิ่งสำคัญของการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะละแวก ดังนั้นโจทย์ร่วมของการพัฒนาคือการทำให้ชุมชนมีวิถีชีวีตสุขภาวะ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการมีกิจกรรมทางกาย แต่มองไปถึงมิติทางด้านอาหาร ระบบนิเวศ ความปลอดภัยของพื้นที่ต้องมีไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกกลุ่ม
เราจึงมีลงพื้นที่ชวนชุมชนพูดคุย ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อจัดทำแผน วางช่วงเวลาการพัฒนาที่เหมาะสม จากนั้นก็จะดึงเอกชนที่ต้องการสนับสนุนเข้ามาตามลำดับ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่มากที่สุดโดยพื้นที่ใดพร้อมก่อนก็จะพัฒนาเป็นลำดับต้นๆ”
ทั้งนี้ สสส. มีความตั้งใจให้ชุมชนประชาร่วมใจ 1 และ 2 เขตจตุจักร เป็นพื้นที่สุขภาวะละแวกบ้านต้นแบบสำหรับการพัฒนาพื้นที่ที่เหลืออีก 6 แห่ง และชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศตามบริบทและศักยภาพ รวมทั้งความต้องการของพื้นที่ในแต่ละแห่งต่อไป