เนื่องจากแคมเปญการตลาดเป็นวิธีดึงดูดลูกค้าใหม่และรักษาลูกค้าเก่าไว้ ไม่มีวิธีใดที่จะดีไปกว่าการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ แต่สร้างผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจทั้งหมดของคุณ หากต้องการแรงบันดาลใจและไอเดียใหม่ๆ ที่ทำได้ไม่ยาก ต่อไปนี้เป็นกลยุทธ์การตลาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ควรลองทำในปี 2567 นี้ (และปีต่อๆ ไป)
1. เปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มอีเมลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในปี 2566 มีการเปิดตัว EcoSend แพลตฟอร์มอีเมลที่คำนึงถึงสภาพอากาศรายแรกของโลก โดยใช้พลังงานทดแทนและปลูกต้นไม้ในนามธุรกิจของคุณ
หลายคนอาจแปลกใจว่าอีเมลที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะอีเมลทุกฉบับที่เราส่งไป จำเป็นต้องใช้พลังงานในการสร้าง ส่ง และเปิด
แต่ละฉบับปล่อย CO2 ได้มากถึง 26 กรัม และทั่วโลกมีการส่งอีเมลถึง 300 พันล้านฉบับทุกวัน ซึ่งก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น เป้าหมายของ EcoSend คือมอบเครื่องมือทั้งหมดที่คุณต้องการเพื่อให้สามารถส่งแคมเปญอีเมลหรืออีเมล มาร์เกตติ้ง ที่น่าทึ่งและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในราคาเริ่มต้นเพียง 29 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,000 บาท) ต่อเดือนและทดลองใช้งานฟรี 14 วันได้ในทุกแพ็กเกจ
2. แสดงรอยเท้าคาร์บอนของผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณ
การแสดงข้อมูลที่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับต้นทุนคาร์บอนของผลิตภัณฑ์และบริการของคุณ ช่วยให้คุณสามารถจัดการกับพื้นที่ที่สิ้นเปลืองในธุรกิจของคุณได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้มั่นใจว่าลูกค้าของคุณจะเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับรอยเท้าคาร์บอนของตนเอง
สำหรับธุรกิจใดๆ ที่มีความก้าวหน้าในด้านความยั่งยืนมากขึ้นในปี 2567 การแสดงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณอาจเป็นทรัพย์สินทางการตลาดที่ดีเยี่ยม
จากรายงาน Business of Sustainability Index พบว่า 72% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 27-42 ปี จะยอมจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน
เพราะฉะนั้นนักการตลาดพึงตระหนักว่าความยั่งยืนไม่ใช่สิ่งที่ต้องปิดบัง จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่น่าพูดถึงแบบจะแจ้ง โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเสนอทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าคู่แข่งของคุณ!
อย่างไรก็ตาม อย่าได้คิดจะหลอกลวงผู้บริโภคเด็ดขาด หากผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ
เพียงเพราะฉลากระบุว่าผลิตภัณฑ์คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นธรรมชาติทั้งหมด หรือออร์แกนิก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นจริงเสมอไป
การกล่าวอ้างในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เข้าใจผิดกลายเป็นปัญหาที่น่ารังเกียจ เนื่องจากผู้บริโภคตระหนักถึงความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ และพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
แต่หากธุรกิจต่างๆ ที่รับรู้ถึงโอกาสทางการตลาดนี้และเริ่มก้าวกระโดดไปสู่กลุ่มการตลาดสีเขียว โดยพยายามที่จะทำกำไรแบบไร้จรรยาบรรณ ด้วยการปกปิด ซ่อนเร้น หรือนำเสนอข้อมูลเท็จที่จงใจสร้างขึ้นเพื่อบิดเบือนและทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ การกระทำที่อัปยศอดสูเหล่าก็จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า "Greenwashing"
แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจาก "การตลาดสีเขียว" ซึ่งหมายถึงบริษัทที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการตามคำกล่าวอ้างด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นจริงและชอบด้วยกฎหมาย
แต่ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งที่ผู้บริโภคพบคือ การแยกความแตกต่างระหว่างการตลาดสีเขียวจาก Greenwashing หรือแยกบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจากบริษัทที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด อาจเป็นเรื่องยากมาก
3. เสนอทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Statista ได้ทำการศึกษา ในปี 2565 พบว่าผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์มากขึ้นถึง 80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากความตระหนักรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับความยั่งยืนยังคงเติบโต ดังนั้นธุรกิจต่างๆ จึงต้องเหยียบคันเร่งเพื่อตามให้ทันในปี 2566 นี้
เคล็ดลับง่ายๆ ประการหนึ่งคือการให้ทางเลือกสำหรับทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเลือกการเดินทางที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง หรือตัวเลือกการจัดส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
กรณีศึกษาที่ชัดเจนคือ Google ทำแนวคิดดังกล่าวให้เป็นไปได้โดยนำเสนอตัวเลือกในการจัดเรียงเที่ยวบินตาม "การปล่อยมลพิษ"
โดยแสดงตัวเลือกที่สร้างมลพิษน้อยที่สุดก่อน จริงอยู่ว่าการเดินทางโดยเครื่องบินไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน แต่ความสามารถในการดูปริมาณ CO2 ที่ผลิตได้
อย่างน้อยก็ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการรับทราบข้อมูลที่แท้จริง แทนที่จะซ่อนเร้นหรืออำพรางข้อมูลนี้จากพวกเขา เพราะบางทีผู้บริโภคบางคนอาจตัดสินใจที่จะใช้โหมดการขนส่งที่สะอาดกว่าแทนหากเป็นไปได้
การศึกษาร่วมกันระหว่าง McKinsey และ NielsenIQ ศึกษาการเติบโตของยอดขายของผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่ามีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม พบว่ามีการเติบโตสะสมโดยเฉลี่ย 28% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทียบกับ 20% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้อ้างสิทธิ์ดังกล่าว
บทความจากนิตยสาร MarketPlus ฉบับที่ 163 เดือนมกราคม 2567