ย่างเข้าสู่ปีที่ 7 สำหรับโครงการ ‘บ้านปลาเอสซีจี’ กับแนวคิด ‘รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที’ ซึ่งเป็นการขยายผลสำเร็จของโครงการ ‘รักษ์น้ำเพื่ออนาคต’ โดยระดมเหล่าจิตอาสากว่า 900 ชีวิต เดินหน้าสร้างบ้านปลาจำนวน 50 หลัง ณ สวนสาธารณะแหลมเจริญ จ.ระยอง เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทะเลชายฝั่งตะวันออก
ที่ผ่านมา โครงการบ้านปลา ได้ดำเนินงานและขยายความร่วมมือจนครอบคลุมชุมชนชาวประมงพื้นบ้านกว่า 34 ชุมชน ในจังหวัดระยอง, ชลบุรี และจันทบุรี โดยมีการวางบ้านปลารวมแล้วกว่า 1,400 หลัง ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์กว่า 35 ตารางกิโลเมตร โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ช่วยกันดูแลให้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์ ที่ปลอดการจับปลา เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง
ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีได้ร่วมกับภาครัฐและชุมชนบริหารจัดการน้ำในจังหวัดระยองตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยวิธีการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่เขายายดา จนถึงปลายน้ำซึ่งเป็นโครงการบ้านปลา หัวใจสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่การวางบ้านปลาหรือการสร้างฝายเท่านั้น แต่เป็นความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้านที่ช่วยกันสร้างบ้านปลาและดูแลพื้นที่อนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง”
สำหรับในปีนี้ เอสซีจี ได้พัฒนาการวางบ้านปลารูปแบบใหม่ โดยผูกบ้านปลาเป็นกลุ่ม 10 หลังเข้าด้วยกัน แล้วใช้แพจากทุ่นพลาสติกขนส่งบ้านปลาทั้งหมดไปในบริเวณที่ต้องการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเวลาที่ใช้ในการวางบ้านปลา รวมถึงหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการวางบ้านปลาแบบเดิม ตั้งเป้าวางบ้านปลาเพิ่มอีก 400 หลังในปีหน้า และขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมกลุ่มประมงพื้นบ้านในบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกภายในปี 2563
ไมตรี รอดพ้น ประธานวิสาหกิจชุมชนชมรมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน อ.เมือง และ อ.บ้านฉาง สามัคคี เล่าว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่และมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ธรรมชาติถูกทำลาย สัตว์น้ำบางชนิดลดน้อยลงเรื่อยๆ อย่างไร้ซึ่งการฟื้นฟู
“ตอนที่ไม่มีบ้านปลาเหมือนคนเสี่ยงโชค 7-8 ปีก่อน ต้องออกทะเลไปไกล 10-15 ไมล์ทะเล (1 ไมล์ทะเล = 1.852 กิโลเมตร) ดูว่าตรงไหนมีปลามีปู บางครั้งก็ไปเสียเวลาเปล่า แต่หลังจากมีบ้านปลามาสร้างแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นร่มเงา ที่พักพิง ทำให้เกิดห่วงโซ่อาหาร เกิดสาหร่ายทะเลให้ปลาได้กิน มันก็ดึงของเก่าทยอยกลับเข้ามา ทำให้สัตว์น้ำมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้เห็นผลชัด เราไม่ต้องไปหากินใกล้ แต่ออกเรือไปแค่ 700 เมตร ไม่เกิน 1.5 กิโลเมตร บริเวณรอบๆ จากเดิมรายได้ไม่ถึง 1,000 บาทต่อการออกเรือหนึ่งครั้ง ปัจจุบัน ชาวประมงมีรายได้อยู่ที่ 1,800 - 4,000 บาทต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ลูกหลานก็ไม่ต้องไปทำงานในเมือง เพราะเขาเห็นว่าทำประมงมีรายได้” ไมตรี กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ จากการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา พบว่า มีสิ่งมีชีวิตในทะเลบริเวณบ้านปลากว่า 172 ชนิด ซึ่งเป็นปลาจำนวน 35 ชนิด เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งสุดท้ายในเดือนเมษายน 2560 ซึ่งพบสิ่งมีชีวิตในทะเลบริเวณบ้านปลา 120 ชนิด เป็นปลาจำนวน 28 ชนิด โดยตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ มีจิตอาสาร่วมสร้างบ้านปลาแล้วกว่า 10,000 คน (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2561)
ในส่วนของการสร้างบ้านปลานั้น ทางเอสซีจีได้พัฒนานวัตกรรมโดยใช้ท่อ PE100 ที่ทำจากเม็ดพลาสติกโพลิเอทีลีนเกรดพิเศษ (High Density Polyethylene Pipe) ของธุรกิจเคมิคอลส์ ที่เหลือจากกระบวนการทดสอบขึ้นรูป เป็นการสร้างคุณค่าให้กับสิ่งของเหลือใช้ (Waste to Value) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยท่อ PE100 นี้ ใช้เป็นท่อส่งน้ำและท่อส่งก๊าซ มีความแข็งแรงทนทาน อายุการใช้งานนานกว่า 50 ปี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ เอสซีจี ยังทำการทดลองนำขยะพลาสติกจากทะเลและชุมชน มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำมาผลิตเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลาต่อไป โดยคาดว่าจะรู้ผลการทดลองในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ ในเอสซีจี ยังได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้วิถีประมงชุมชนเนินฆ้อขึ้นในปี 2558 เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร รวมถึงความเข้าใจในวิถีประมงพื้นบ้าน โดยปัจจุบันมีผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฯ แล้วกว่า 2,000 คน (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2561)