ทศวรรษที่ผ่านมา พนักงานจำนวนมากในโครงการรถยนต์สุดลับของ Apple ซึ่งมีชื่อเรียกภายในว่า Titan มักจะเรียกมันแบบประชดประชันว่า 'หายนะไททานิก’ พวกเขารู้ดีว่าโครงการนี้อาจไปไม่รอด
ตลอดช่วงเวลาที่ดำเนินอยู่ โครงการรถยนต์ถูกยกเลิกและเริ่มต้นใหม่อยู่หลายต่อหลายครั้ง มีการปลดพนักงานหลายร้อยคนออกไป กระทั่งแนวคิดของรถยนต์ Apple นั้นเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจากการเห็นต่างกันในหมู่ผู้บริหาร
ตอนแรกวางไว้ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อแข่งกับ Tesla แล้วเปลี่ยนมุ่งเน้นเป็นรถยนต์ไร้คนขับเพื่อท้าชนกับ Waymo ของ Google
สุดท้ายก็ไปไม่รอด
ในที่สุด เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2024 ผู้บริหารประกาศภายในบริษัทว่าโครงการนี้ถูกยุติลงและสมาชิกหลายคนในทีมจะถูกย้ายไปทำงานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) แทน
รายงานของ The New York Times ระบุว่า จากการบอกเล่าของคนประมาณครึ่งโหลที่ทำงานในโครงการนี้ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ว่า Apple ได้ทุ่มงบประมาณไปแล้วเกิน 10 พันล้านดอลลาร์ หรือไม่น้อยกว่า 3.6 ล้านล้านบาท
และท้ายที่สุดแนวคิดรถยนต์ก็ได้กลับไปที่จุดเริ่มต้น เป็นเพียงรถยนต์ไฟฟ้าที่มาพร้อมฟีเจอร์ช่วยเหลือการขับขี่สู้กับ Tesla
การสิ้นสุดของโครงการรถยนต์นี้สะท้อนถึงความยากลำบากของ Apple ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นับตั้งแต่การจากไปของ Steve Jobs ในปี 2011
โครงการนี้เปลี่ยนหัวหน้าถึงสี่คน และมีการเลย์ออฟหลายครั้ง ปัญหาคาราคาซังและล้มเหลวในท้ายที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะการพัฒนาซอฟต์แวร์และอัลกอริทึมเพื่อให้รถขับเคลื่อนได้เองนั้นยากเกินไป
The New York Times ชี้ว่า ตัวแทนของ Apple ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
"ตอนเริ่มต้นทุกอย่างดูเป็นใจ ทำให้คิดว่านี่น่าจะเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ Apple จะประสบความสำเร็จแบบถล่มทลาย"
Bryant Walker Smith ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและวิศวกรรมศาสตร์แห่ง University of South Carolina (เคยมีโอกาสพูดคุยกับ Apple คร่าวๆ เกี่ยวกับโครงการนี้ในปี 2015) ได้ให้ความเห็น
"แต่หลังจากผ่านไปสิบปี ตอนนี้กลายเป็นว่ามีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนน้อยลงมาก"
เป็นเพราะไม่อยากตกขบวน
ตอนที่ Apple เริ่มโครงการรถยนต์ในปี 2014 บริษัทต่างๆ รวมถึงนักลงทุน ผู้บริหาร และวิศวกร กำลังพุ่งเป้าไปที่แนวคิดรถยนต์ไร้คนขับกันอย่างล้นหลาม
หลังจาก Google เริ่มทดสอบรถต้นแบบบนถนนสาธารณะในรัฐแคลิฟอร์เนีย บรรดาบริษัทใน Silicon Valley ยืนกรานว่า ไม่นานรถอัตโนมัติจะเป็นเรื่องปกติทั่วไป ซึ่ง Apple ไม่อยากถูกทิ้งให้ตามหลัง
ในช่วงเวลานั้น บริษัทกำลังเผชิญกับเสียงเรียกร้องจากวิศวกรระดับแนวหน้าเกี่ยวกับโปรเจกต์ใหญ่ต่อไป
ตามคำบอกเล่าของบุคคลที่ใกล้ชิดกับต้นกำเนิดของโครงการนี้ Apple เพิ่งจะเปิดตัว Apple Watch ไปหมาดๆ ทำให้วิศวกรในทีมอยากเริ่มโปรเจกต์ใหม่
กลายเป็นเหตุผลที่ Tim Cook ซีอีโอของ Apple ต้องยอมอนุมัติโครงการนี้ส่วนหนึ่งเพื่อรั้งวิศวกรของบริษัทไม่ให้ย้ายไปเป็นคู่แข่งอย่าง Tesla
Apple จำเป็นต้องหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อขยายธุรกิจ พวกเขามองเห็นว่ายอดขาย iPhone จะเติบโตช้าในอนาคต อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นตลาดมูลค่าราว 2 ล้านล้านดอลลาร์อาจเป็นโอกาสสำหรับ Apple (ซึ่งตอนนั้นเป็นบริษัทมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์)
ถึงจะมีความเชื่อมั่นจากซีอีโอ แต่ทีมที่ทำงานในโครงการนี้ก็รู้อยู่แก่ใจว่าพวกเขาต้องเผชิญกับความเป็นจริงอันโหดร้าย หากจะออกสู่ตลาดรถยนต์ Apple น่าจะต้องมีราคาอย่างต่ำๆ 100,000 ดอลลาร์ หรือไม่น้อยกว่า 3.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ถูกเลย
และที่สำคัญจะได้กำไรที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าอย่างสมาร์ทโฟนหรือหูฟังมาก ทั้งยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะแข่งขันกับ Tesla ซึ่งครองตลาดไว้แล้วได้
มีข้อมูลจากคนที่รู้เรื่องนี้บอกว่าบริษัทเคยมีการพูดคุยกับ Elon Musk เกี่ยวกับการจะซื้อกิจการ Tesla แต่สุดท้าย Apple พิจารณาแล้วว่าการสร้างรถด้วยตัวเองเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่าการซื้อและรวมธุรกิจ
ถึงกับดึงผู้บริหารมือฉมังเข้ามาคุม
เพื่อช่วยกระตุ้นขวัญกำลังใจและให้คำแนะนำ ผู้บริหารระดับสูงอย่าง Jony Ive (ที่สุดท้ายแล้วได้ลาออกมาก่อตั้งบริษัทออกแบบของตนเองโดยมี Apple เป็นลูกค้า โดยโบกมือลาด้วยตำแหน่ง ประธานฝ่ายออกแบบ)
และ Bob Mansfield หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม Mac ก็ลงมาคลุกคลีกับโครงการนี้ด้วย
นอกจากนี้ Apple ยังซื้อกิจการสตาร์ทอัพอีกหลายรายเข้ามาเสริมทีมรถยนต์ และเพื่อเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ Apple ได้แต่งตั้ง Kevin Lynch ผู้บริหารเบื้องหลังความนิยมของ Apple Watch ขึ้นมาดูแลโครงการนี้ในปี 2021
Ive กับทีมนักออกแบบของเขาได้ร่างแบบรถยนต์ที่ดูคล้ายรถตู้สไตล์ยุโรปอย่าง Fiat Multipla 600 ซึ่งมีหน้าต่างครึ่งโหลและหลังคาแบบโค้ง รถมีลักษณะไร้พวงมาลัยและสั่งการด้วย Siri ผู้ช่วยเสมือนของ Apple
วันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วงปี 2015 Mr. Ive และ Mr. Cook มีการประชุมที่สำนักงานใหญ่ของโครงการในซันนีนเวล รัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อสาธิตการทำงานของรถ
ทั้งสองนั่งลงในห้องโดยสารแบบจำลอง ด้านนอกมีนักแสดงอ่านบทเป็นสิ่งที่ Siri จะพูดออกมาในขณะที่รถกำลังแล่นบนถนนในจินตนาการ
Mr. Ive ได้ทดลองถาม Siri ว่าพวกเขาเพิ่งผ่านร้านอาหารอะไรมาบ้าง และนักแสดงก็อ่านคำตอบออกมา นี่เป็นข้อมูลจากผู้ที่ได้เห็นการสาธิตครั้งนั้นสองคน
แต่ในช่วงปี 2016 เริ่มชัดเจนแล้วว่าโครงการรถยนต์นี้มีปัญหา
Mr. Zadesky ออกจาก Apple ไป และ Mr. Mansfield ผู้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนบอกกับทีมว่าพวกพวกเขาจะเปลี่ยนโฟกัสจากผลิตรถยนต์ไปเป็นการสร้างซอฟต์แวร์สำหรับรถไรรรคนขับเอง ซึ่งข้อมูลนี้ได้จากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางนี้สามคน
เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
Apple ได้รับใบอนุญาตจากรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อเริ่มทดลองขับรถ Lexus sport utility ที่ติดตั้งเซนเซอร์และคอมพิวเตอร์ไว้ ก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกับค่ายผลิตรถยนต์อยาง BMW, Nissan และ Mercedes-Benz
กระทั่งตกลงเซ็นสัญญากับ Volkswagen เพื่อนำรถตู้ Transporter มาใช้สำหรับโครงการรับส่งของ Apple โดยใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติ
รายงานของ The New York Times รายงานอีกว่า มีการเปลี่ยนตัวผู้นำทีมอีกสองคนในปีต่อๆมา
Doug Field อดีตผู้บริหาร Tesla ได้ปลดพนักงานในโครงการนี้ออกไปกว่า 200 คนพร้อมกับพุ่งพลังไปที่การสร้างระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มตัว หลังจากนั้น Mr. Lynch ซึ่งรับตำแหน่งผู้บริหารได้ไม่นาน พลิกแผนกลับไปสู่แนวคิดตั้งต้นของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ตอนต้นปีที่ผ่านมา ผู้บริหาร Apple ตัดสินใจว่าการทุ่มกำลังไปที่ Generative AI น่าจะเกิดประโยชน์ต่อบริษัทมากกว่ารถยนต์ โดยได้แจ้งกับพนักงานในการประชุมภายใน โดยบริษัทบอกว่าสมาชิกบางส่วนของทีม Project Titan จะถูกย้ายไปทำงานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) แทน
ในการสัมภาษณ์กับ The New York Times เมื่อวันพุธที่ 28 กุมพาพันธ์ พนักงานที่ทำงานในโครงการนี้เห็นด้วยกับการยกเลิกโครงการ โดยมองว่าเทคโนโลยีเบื้องหลัง Generative AI จะมีประโยชน์อย่างมากต่ออนาคตของสมาร์ทโฟน iPhone ซึ่งเป็นหัวใจหลักของบริษัท
ตัวโครงการรถยนต์ Apple อาจตายไป แต่เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาระหว่างทางจะยังอยู่ต่อไป บริษัทวางแผนจะใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติไปผสมกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่กำลังวิจัยอยู่
ทั้ง AirPod แบบ AI ที่มาพร้อมกล้อง, หุ่นยนต์ช่วยเหลือ รวมถึงระบบ augmented reality นี่เป็นข้อมูลจากบุคคลสามคนที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหล่านี้
แม้ว่าวิศวกรที่ทำงานเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ระบบอัตโนมัติจะได้ย้ายไปทำงานด้าน AI แต่สำหรับทีมรถยนต์ส่วนอื่นได้รับแจ้งว่าจำเป็นต้องสมัครตำแหน่งงานใหม่ภายในบริษัท
Xiaomi ใช้เวลาแค่ 3 ปี
Business Insider ได้ออกบทความที่ระบุว่า เมื่อเดือนที่แล้ว Apple ประกาศยุติความฝันเรื่องการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่เดือนนี้หนึ่งในคู่แข่งสำคัญของ Apple ในประเทศจีนกำลังจะแสดงให้เห็นว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทำได้อย่างไร
Xiaomi ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากปักกิ่งพร้อมแล้วที่จะทำสิ่งที่ Apple ทำไม่สำเร็จ ด้วยการประกาศแผนเปิดตัวรถ EV รุ่นแรก Speed Ultra 7 (หรือ SU7) ในวันที่ 28 มีนาคมนี้ พร้อมจำหน่ายใน 30 เมืองทั่วประเทศจีน
สำหรับ Lei Jun ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอมหาเศรษฐีของ Xiaomi นี่ถือเป็นก้าวกระโดดที่ไม่ธรรมดา เพราะรถยนต์ไฟฟ้าของเขาสามารถออกขายหลังจากที่เขาประกาศเพียง 3 ปีว่าจะขยายไลน์สินค้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าด้วย
เมื่อเดือนธันวาคม Lei ได้เขียนบนเว็บไซต์ X เกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาในการทดลองขับรถยนต์ 100 คันเพื่อ "เรียนรู้ข้อดีของแต่ละคัน"
และเพื่อให้เข้าใจตรงจากประสบการณ์จริง ที่เขาเชื่อว่าจำเป็นต่อการสร้างรถยนต์ที่สามารถแข่งขันได้ และความพยายามก็ดูจะสัมฤทธิ์ผล Xiaomi บอกว่า SU7 สามารถเร่งความเร็วจากศูนย์ถึง 100 กม./ชม. ใน 2.78 วินาทีได้
"ขณะที่เรากำลังย่างเข้าสู่ปีที่สามในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 'ความมุ่งมั่นเพื่อ Xiaomi EV' ยังคงเติมพลังให้ผมและทีมงาน เราจะทำรถยนต์ที่ยอดเยี่ยมให้ได้แน่นอน!" ซีอีโอของ Xiaomi กล่าวไว้บน X
เช่นเดียวกับ Apple ที่ Xiaomi โด่งดังจากการขายสมาร์ทโฟน ข้อมูลจาก Counterpoint Research ระบุว่า ในตลอดหกสัปดาห์แรกของปีนี้ Xiaomi มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 13.8% ตามหลัง Apple ที่มี 15.7% ของตลาดมือถือจีน
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า Xiaomi บริหารจัดการจนสามารถทำในสิ่งที่ Apple ใช้เวลาสิบปีแต่ไม่สำเร็จได้อย่างไร
สิ่งที่เป็นตัวแปลคือการที่ Xiaomi ได้ประโยชน์จากการมีฐานอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ที่เอื้ออำนวยอยู่ในจีนอยู่แล้ว
Xiaomi ได้ประโยชน์จากการร่วมทุนกับ Beijing Automotive Group ทำให้บริษัทได้ใบอนุญาตการผลิตอย่างรวดเร็วตามรายงานของ Bloomberg การร่วมมือกันครั้งนี้อาจช่วยให้ Xiaomi ผลิตรถยนต์ EV ได้ประมาณ 2 แสนคันต่อปี
แน่นอนว่า Xiaomi ไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จ เพียงเพราะมีความพร้อมขายรถยนต์แล้วในเวลานี้
แม้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังอยู่ในช่วงขาลง และคู่แข่งอย่าง Tesla และ BYD กำลังทำสงครามราคากันอยู่เพื่อดึงดูดผู้บริโภคก็ตาม
Xiaomi ซึ่งยังไม่เปิดเผยราคา SU7 แต่ตั้งเป้าจะเจาะตลาดกลุ่ม ‘พรีเมียม’ ซึ่งอาจเป็นโจทย์ที่ท้าทายในจีนท่ามกลางสภาวะความต้องการตลาด EV ที่ชะลอตัว กระนั้น Xiaomi ก็ทำในสิ่งที่ Apple ฝันถึงมานานสิบปีได้สำเร็จแล้ว
ซึ่ง Business Insider ได้ทิ้งท้ายว่า
Tim Cook อาจต้องนั่งมองอยู่ที่คูเปอร์ติโน ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของ Apple แล้วคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป