ย้อนกลับไปยังข่าวประวัติศาสตร์ที่สร้างความสะเทือนไปทั่วโลกเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่สหราชอาณาจักร (ประกอบด้วยอังกฤษ เวลส์ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ) ได้ลงมติด้วยเสียงข้างมากให้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “Brexit (เบร็กซิท)” หลังจากที่เป็นสมาชิกอียูมาเป็นเวลาถึง 45 ปี โดยนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้ลงนามแจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกของอียูอย่างเป็นทางการแล้วตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 เพื่อเริ่มต้นกระบวนการเจรจาข้อตกลงการแยกตัวออกจากอียูที่ใช้เวลาในการเจรจาถึง 2 ปี แต่ถึงแม้ทั้งอียูและสหราชอาณาจักรจะไม่สามารถเห็นชอบและให้สัตยาบันความตกลงได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว สหราชอาณาจักรก็จะพ้นจากความเป็นสมาชิกของอียูอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคม 2562 ซึ่งหลังจากสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกของอียูแล้ว กฎเกณ์การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยจะมีทิศทางอย่างไรนั้น ติดตามได้ในบทความนี้
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำฯ) ใน 13 อันดับแรกของไทย โดยมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ราว 230 ล้านเหรียญสหรัฐ ล่าสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำฯ) ไปยังสหราชอาณาจักรด้วยมูลค่า 93.31 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 12 หรือมีสัดส่วนราวร้อยละ 1.47 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม แต่หากพิจารณามูลค่าส่งออกไม่รวมทองคำฯ จะพบว่าสหราชอาณาจักรเป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 10 หรือมีสัดส่วนร้อยละ 2.41 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำฯ และเป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 3 ในกลุ่มอียู รองจากเยอรมนี และเบลเยียม ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.27 ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปยังอียู โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังสหราชอาณาจักร ได้แก่ เครื่องประดับทอง ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 45 รองลงมา คือ เครื่องประดับเงิน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23 และพลอยสี ในสัดส่วนราวร้อยละ 13
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปยังสหราชอาณาจักรเริ่มแผ่วลงในปี 2558 อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรชะลอตัว แต่นับจากหลังมี Brexit มูลค่าส่งออกของไทยในสหราชอาณาจักรในปี 2560 ได้ปรับตัวลดลงมากจนลดลงต่ำสุดในรอบทศวรรษ จึงมิอาจปฏิเสธได้ว่าผลของ Brexit มีส่วนบั่นทอนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เพราะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหราช-อาณาจักร โดยในปี 2560 เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.80 ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.10 และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง รวมถึงความกังวลของตลาดเงินทำให้ค่าเงินปอนด์เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงมาก มีผลให้ราคาสินค้านำเข้าปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งยังทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นด้วย ผู้นำเข้าจึงลดการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยลง และเนื่องจากการเจรจาข้อตกลงระหว่างอียูและสหราชอาณาจักรในปัจจุบันยังไม่มีความแน่นอน เศรษฐกิจและการใช้จ่ายของประชาชนในสหราชอาณาจักรจึงยังคงอยู่ในทิศทางชะลอตัว ส่งผลให้มูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปยังสหราชอาณาจักรในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ลดลงต่อเนื่องร้อยละ 7.96 ซึ่งความไม่แน่นอนของ Brexit จะยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรต่อไป จนกว่ารัฐบาลจะมีความชัดเจนในแนวทางการเจรจาความสัมพันธ์กับอียูและการฟื้นฟูประเทศหลัง Brexit ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เนื่องจากสหราชอาณาจักรยังอยู่ในกระบวนการเจรจาข้อตกลงในหลายประเด็นซึ่งครอบคลุมการค้าและการลงทุนกับอียู ก่อนที่จะออกจากการเป็นสมาชิกภาพอย่างเป็นทางการในปีหน้านี้ กฎระเบียบการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับต่างๆ ในปัจจุบันจึงยังคงอิงอยู่กับกฎระเบียบของอียูเป็นหลัก ซึ่งสามารถสรุปกฎระเบียบการนำเข้าของสหราชอาณาจักรได้ ดังนี้
1. มาตรการทางด้านภาษี
โดยทั่วไปอัตราภาษีนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของสหราชอาณาจักรตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบมีอัตราภาษีร้อยละ 0 ส่วนเครื่องประดับแท้จะมีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 2.5-4 และเครื่องประดับเทียมมีอัตราภาษีร้อยละ 4 อีกทั้งรัฐบาลของสหราชอาณาจักรยังเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในอัตราร้อยละ 20 อีกด้วย
2. มาตรการที่มิใช่ภาษี
สหราชอาณาจักรมีข้อกฎหมายกำหนดสำหรับการส่งสินค้าเครื่องประดับที่ทำจากโลหะมีค่าเข้าไปจำหน่ายยังสหราชอาณาจักร ที่จะต้องผ่านการรับรองคุณภาพและความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่าพร้อมประทับตรารับประกันคุณภาพ (Hallmark) ก่อนจึงจะได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในประเทศได้ โดยเครื่องประดับทองจะต้องมีค่าความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่า 9 กะรัต ขณะที่เครื่องประดับเงินและแพลทินัมจะต้องมีปริมาณโลหะดังกล่าวเป็นส่วนประกอบอย่างน้อย 800 ส่วน ใน 1,000 ส่วน และ 850 ส่วน ใน 1,000 ส่วน ตามลำดับ
สำหรับมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนั้น สหราชอาณาจักรยังคงใช้กฎหมายของอียู ภายใต้ภาคผนวก XVII ของกฎระเบียบการควบคุมเคมีภัณฑ์ (Registration, Evaluation and Authorisation of Chemicals: REACH) ดังนี้
นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังกำหนดกฎระเบียบตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงินและต่อต้านการก่อการร้ายเฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอียู โดยผู้ประกอบธุรกิจในสหราชอาณาจักรจะต้องทำการบันทึกรายละเอียดการทำธุรกรรมและข้อมูลของลูกค้าที่มีการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่ 15,000 ยูโรขึ้นไป (ประมาณ 574,350 บาท ) เพื่อรายงานต่อ UK’ s Financial Intelligence Unit (UKFIU) และการนำเข้าส่งออกเพชรก้อนจะต้องดำเนินการและมีเอกสารตาม Kimberley Process
เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ทั้งอียูและสหราชอาณาจักรได้บรรลุข้อตกลงช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของสหราชอาณาจักร เพื่อให้ธุรกิจและพลเมืองของทั้งอียูและสหราชอาณาจักรมีเวลาเตรียมพร้อมสำหรับการแยกตัวออกจากอียูของสหราชอาณาจักร โดยสหราชอาณาจักรจะยังคงอยู่ในอียูต่อไปอีก 21 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2562 จนถึง 31 ธันวาคม 2563 นั่นหมายความว่าสหราชอาณาจักรจะยังคงได้รับประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของตลาดร่วมและสหภาพศุลกากร รวมถึงยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบของอียูในช่วงเวลาดังกล่าว ฉะนั้น ในระยะสั้นผู้ประกอบการไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบให้ต้องปรับตัวในประเด็นกฎเกณฑ์การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับแต่อย่างใด เพราะนับจากนี้ไปอีกราวสองปีกว่าสหราชอาณาจักรจะยังคงใช้กฎระเบียบการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับที่อิงกับกฎหมายและกฎระเบียบของอียูเหมือนเดิม
แต่อย่างไรก็ดี ในระยะหลังจากสหราชอาณาจักรพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของอียูอย่างสมบูรณ์แล้ว สหราชอาณาจักรอาจจะมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบและมาตรฐานการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในแบบฉบับของตนเอง ซึ่งไม่น่าจะเป็นการผ่อนปรนมาตรฐาน เพราะสหราชอาณาจักรมักคำนึงถึงผลประโยชน์ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยของคนในชาติเป็นสำคัญ โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าสหราชอาณาจักรอาจเพิ่มมาตรการทางการค้าที่อาจเป็นการกีดกันทางการค้ามากขึ้นได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันสหราชอาณาจักรได้ประกาศชัดเจนแล้วในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารให้มีความเข้มข้นมากขึ้นหลัง Brexit อย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ในส่วนของกฎเกณฑ์และมาตรฐานการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของสหราชอาณาจักรจะเป็นอย่างไรนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องติดตามข่าวสารนโยบายของสหราชอาณาจักรอย่างใกล้ชิดต่อไป รวมทั้งเตรียมพร้อมปรับตัว เพื่อจะได้รักษาส่วนแบ่งในตลาดสหราชอาณาจักรเอาไว้ให้ได้
*อัตราแลกเปลี่ยนธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2561: 1 ยูโร = 38.29 บาท
ข้อมูลเพิ่มเติม :
ผู้ประกอบการไทยสามารถติดตามความคืบหน้าการเจรจา Brexit และข้อมูลต่างๆ เช่น ประกาศเตือนเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายต่างๆ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลัง Brexit ได้ที่ https://ec.europa.eu/ info/brexit-preparedness/brexit-notices-explanation_en
ข้อมูลโดย : ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สมัครสมาชิกเพื่อติดตามข้อมูลได้ที่ infocenter.git.or.th ทางไลน์ที่ git_info_center
หรือติดตามผ่านเฟซบุ๊ค facebook.com/GITInfoCenter