ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลและพัฒนาห่วงโซ่การผลิตหรือ Supply Chain ในเครือบริษัท บุญรอดฯ ทั้งระบบครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้การบริหารจัดการเกิดประสิทธิภาพและลดต้นทุน อีกทั้งยังยกระดับการขนส่ง ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นไปในทิศทางที่ดี
ล่าสุด ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ จำกัด และ มร.ปีเตอร์ ฟ้อกซ์ ประธานบริษัท ลินฟ้อกซ์อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป พีทีวาย ลิมิเต็ด ที่ใหญ่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค งานแถลงข่าวเปิดตัว บริษัท บีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ จำกัด ภายใต้ชื่อ BevChain Logistics โดยมีทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 250 ล้านบาท ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง “บริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด” และ “บริษัท ลินฟ้อกซ์ โฮลดิ้งส์ 2018 (ประเทศไทย)” ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติ ผู้บริหาร พร้อมสื่อมวลชนร่วมงานอย่างคับคั่ง
ปิติ ภิรมย์ภักดี กล่าวว่า การร่วมทุนกับ บริษัท ลินฟ้อกซ์ โฮลดิ้งส์ 2018 (ประเทศไทย) เกิดจากทัศนคติและความต้องการสร้างเครือข่ายทางการขนส่ง ที่ทันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาค ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ผสานกับความรู้ความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 บริษัท จึงถือเป็นการจับคู่ธุรกิจที่สมบูรณ์แบบหรือ Perfect Match และการผนึกกำลังกันครั้งนี้ บุญรอดฯ จะใช้จุดแข็งและศักยภาพที่มีตลอด 85 ปีในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเครือข่ายการค้า ตัวแทนจำหน่าย ซึ่งหมายถึงการที่บริษัทสามารถส่งสินค้าและบริการเจาะถึงร้านค้าปลีกที่อยู่ตามตรอก ซอก ซอยในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อ เชื่อว่าลูกค้าจะได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งด้านต้นทุน ช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจการค้า เพิ่มโอกาสในการทำตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายปลายทางหรือ Last mile ได้มากยิ่งขึ้น
“ภายใน 3 ปีนี้ BevChain Logistics วางเป้าหมายการสร้างเจาะตลาดระดับภูมิภาคอาเซียน รองรับการเติบโตของตลาดโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกทั้งยังเป็นตลาดสำคัญของสินค้าและบริการจากประเทศไทย เมื่อแบรนด์ต่างๆเข้าไปขยายตลาด ทำให้ต้องการบริการด้านโลจิสติกส์ตามไปด้วย และบริษัทพร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกอุตสาหรรม ทุกขนาด ทั้งบริษัทเล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อเติบโตไปด้วยกัน ปิติ กล่าวเสริม”
ทั้งนี้ จุดแข็งของลินฟ้อกซ์ คือ ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการสินค้าและการขนส่ง ถือเป็นบริษัทให้บริการด้านโลจิสติคส์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค มีธุรกิจครอบคลุมตลาดใน 12 ประเทศ มีคลังสินค้ากว่า 200 แห่ง มีพนักงาน 24,000 คน และมีการให้บริการส่งสินค้าไปยังตลาดทั่วโลก ครอบคลุมหลากหลายเซ็กเตอร์ เช่น สินค้าอุปโภค-บริโภค ธุรกิจค้าปลีก อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีฯ โดยมีมูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในประเทศไทยนั้นลินฟ้อกซ์ให้บริการด้านขนส่งสินค้ามานานถึง 25 ปี มีความเข้าใจถึงความต้องการของตลาดในประเทศไทยเป็นอย่างดี
ขณะที่จุดแข็งของบุญรอด คือประสบการณ์ขนส่งสินค้าและบริการมานาน 85 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เจาะลึกตั้งแต่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่(โมเดิร์นเทรด) ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ระบบเอเย่นต์ตัวแทนจำหน่ายในทุกๆจังหวัด ลงลึกถึงระดับอำเภอมากกว่า 200 ราย ไปจนถึงร้านค้าย่อยทั่วทั้งประเทศ เมื่อผสานกับความเชี่ยวชาญทางด้านโลจิสติคส์ของ BevChain Logistics เชื่อว่าบริษัทสามารถนำเสนอโซลูชั่นปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า โครงสร้างการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด สร้างการเติบโตของธุรกิจในอนาคตร่วมกับลูกค้า
สำหรับโมเดลธุรกิจของ BevChain Logistics ในประเทศไทย จะเน้นให้บริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกับในประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ การให้บริการทางด้านการบริหารจัดการคลังสินค้า การให้บริการทางด้านจัดส่งสินค้า เป็นต้น แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปสำหรับ BevChain Logistics ในประเทศไทย คือ การเจาะกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่เป็นธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ขนาดปานกลางถึงขนาดย่อม และลูกค้ากลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มต่างๆ ที่ต้องการป้อนสินค้าและบริการถึงลูกค้าเป้าหมายปลายทางหรือ Last Mile
ปัจจุบัน ภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทย ธุรกิจโลจิสติกส์รวมปี 2018 (215,000 ล้านบาท) แบ่งเป็นธุรกิจขนส่งสินค้าทางบกในปี 2018 มีมูลค่า 145,100 – 147,300 ล้านบาท ธุรกิจคลังสินค้า ปี 2561 มูลค่า 75,500 – 76,700 ล้านบาท
ตลาดขนส่งสินค้าทางบกเติบโต +5.3-7% PY(137,700 ล้านบาท) คลังสินค้า + 5.3 – 7% PY (71,700 ล้านบาท) ด้วยปัจจัยจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ การลงทุนของภาครัฐและเอกชน การขยายตัวของ E-commerce ปัจจัยการปรับรูปแบบจาก Offline platform to Online platform ทำให้มีความต้องการคลังสินค้าพรี่เมี่ยมมากขึ้น