สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เดินหน้าผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก โดยจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับ (The 6th International Gem & Jewelry Conference 2018 : GIT 2018) ในวันที่ 10 กันยายน 2561 ณ ห้องจูปิเตอร์ 12 – 13 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) กล่าวว่า “อัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 3 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำ พบว่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 4,320.70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.92 โดยมีตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ได้แก่ ฮ่องกง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย จีน กลุ่มประเทศอาเซียน และรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช เป็นต้น”
“เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย พร้อมกับเดินหน้าผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก สถาบันฯ ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ GIT 2018 ภายใต้แนวคิด “Global Gem Sourcing & Trading” ขึ้น ในงานบางกอกเจมส์แอนด์จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 62 วันที่ 10 กันยายน 2561 ณ ห้องจูปิเตอร์ 12–13 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำทางวิชาการด้านอัญมณีและเครื่องประดับของสถาบัน และแสดงถึงความพร้อมของประเทศไทยผ่านเวทีการประชุมนานาชาติ ซึ่งเป็นโอกาสให้นักวิจัย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจ ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในทุกด้าน”
ประเทศไทยเป็นแหล่งพลอยที่มีชื่อเสียงระดับโลกมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นพลอยเนื้อแข็งอย่างทับทิม ไพลิน หรือพลอยเนื้ออ่อนประเภทสปิเนล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งทับทิมที่เป็นรู้จักกันในชื่อ “ทับทิมสยาม” อีกทั้งยังเป็นตลาดการค้าพลอยที่สำคัญของโลกมาตลอดหลายสิบปี ทั้งตลาดค้าพลอยที่จังหวัดจันทบุรี ตลาดค้าพลอยที่แม่สอด จังหวัดตาก และตลาดในกรุงเทพมหานคร นับว่าเป็นศูนย์รวมพลอยจากทุกแหล่งทั่วโลก เนื่องจากความมีชื่อเสียงของช่างฝีมือการเจียระไนพลอยและการเผาพลอย นอกจากนี้วัตถุดิบต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามายังทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งผลิตและแหล่งค้าเครื่องประดับที่สำคัญระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับทองหรือเครื่องประดับเงิน หรือเครื่องประดับแฟชั่นอื่นๆ
ราเชนทร์ พจนสุนทร ประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “อุตสาหกรรมพลอยสีไทยยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก” รวมถึงยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ Ms. Bryna Pomp Curator - Museum of Arts and Designs (MAD) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเครื่องประดับให้กับแบรนด์ดังระดับโลก บรรยายในหัวข้อ “Successfully Developing a Product Strategy and a Brand Identity in Competitive Global Marketplace” Mr. Richard W. Hughes นักอัญมณีศาสตร์และผู้แต่งหนังสือ Ruby & Sapphire บรรยายในหัวข้อ “Jade” นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ “Thailand Gem & Jewelry Industry and Its Potential of Being the Global Gem & Jewelry Hub”
รศ.ดร.วิสุทธิ์ พิสุทธอานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันฯ GIT บรรยายในหัวข้อ “Provenance of Gems: An Identity Challenge” Mr. Zaheer Azizi ประธานกรรมการ บริษัท Azizi Enterprises จำกัด บรรยายในหัวข้อ “Paraiba Tourmaline: From Mine to Market” และ Ms. Samantha Tng Strategy Operations Manager of Alibaba.com บรรยายในหัวข้อ “Digital Market Trend for Jewelry Product in China”