ในยุคปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ามีแบรนด์สินค้าและบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่จะประสบความสำเร็จเสมอไป เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างแบรนด์ในการแจ้งเกิดในตลาด ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญก็คือการสร้างความแตกต่างหรือการสร้างจุดเด่นของของแบรนด์สินค้าหรือบริการที่ไม่เหมือนใคร และสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้เกิดการรับรู้และจดจำสินค้าหรือบริการของคุณได้
ดังนั้นเจ้าของธุรกิจและนักการตลาดต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของ การวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) หากเจ้าของธุรกิจและนักการตลาดมีความเข้าใจและสามารถนำกลยุทธ์การวางตำแหน่งของแบรนด์สินค้าหรือบริการไปใช้ในการดำนเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสม ก็จะสามารถดึงความสนใจของกลุ่มผู้บริโภคและลูกค้าเป้าหมายได้ไม่ยาก
การตลาด 101 จะขอพาทุกคนมาทำความเข้าใจในเรื่องของการวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) ว่ามีความสำคัญต่อสินค้าและบริการของธุรกิจอย่างไรบ้าง มาดูกันครับ
การวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) คืออะไร
การวางตำแหน่งแบรนด์ (Brand Positioning) คือ การออกแบบข้อเสนอหรือภาพลักษณ์ของสินค้าหรือบริการโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ชื่อสินค้าหรือบริการเข้าไปอยู่ในใจของกลุ่มเป้าหมายด้วยเหตุผลเฉพาะเจาะ และช่วยให้กลุ่มเป้าหมายสามารถแยกแยะตราสินค้าหรือบริการของเราจากคู่แข่งในตลาดได้ โดยสิ่งนั้นก็คือ จุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งอย่างชัดเจน รวมถึงกลุ่มเป้าหมายต้องมีความต้องการในสิ่งที่แบรนด์นำเสนอด้วย
ดังนั้นเจ้าของธุรกิจและนักการตลาดจำเป็นต้องเข้าใจพื้นฐานในเรื่องของการวางตำแหน่งแบรนด์ ว่าแบรนด์สินค้าหรือบริการของเราคือใคร มีความพิเศษอย่างไร และแตกต่างจากคู่แข่งขันในตลาดอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อการวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) และการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะหากแบรนด์สินค้าหรือบริการไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนก็จะส่งผลให้ “หลงทาง” และการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดอาจไม่ถูกต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความสับสนได้ สุดท้ายก็จะย้อนกลับมาที่ตัวแบรนด์สินค้าบริการเองที่ไม่สามารถสร้างจุดเด่นหรือความแตกต่างได้นั่นเอง
การวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) มีความสำคัญอย่างไร
การวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) ที่มีจุดยืนของแบรนด์ที่ชัดเจนสร้างความแตกต่างกับเจ้าอื่นๆ ในตลาด จะนำไปสู่การวางแผนกลยุทธ์ กำหนดกลุ่มเป้าหมายและเพิ่มคุณค่าให้กับแบรนด์และลูกค้าซึ่งนอกจากนี้แล้ว การวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) ยังมีข้อดีอีกหลายอย่างเลยทีเดียว มาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง
1. ช่วยสร้างความแตกต่างระหว่างแบรนด์ของเรากับคู่แข่ง
การที่แบรนด์มีจุดยืนชัดเจนจะสามารถนำเสนอคุณค่าและจุดแข็งที่มีออกมาได้เป็นอย่างดี จะส่งผลให้ลูกค้าสามารถแยกแยะออกได้ว่าแต่ละแบรนด์เป็นอย่างไรและเกิดการจดจำได้มากขึ้น
2. ช่วยกำหนดกลุ่มเป้าหมายและแนวทางการตลาดได้ชัดเจนและง่ายขึ้น
ในยุคนี้ผู้บริโภคมีสินค้าหรือบริการที่เป็นตัวเลือกอื่น ๆ มาทดแทนได้ง่าย จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่เจ้าของธุรกิจและนักการตลาดต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เพราะจะช่วยทำให้การวางกลยุทธ์ทางการตลาดได้ง่ายขึ้น การกำหนดแนวทางการสื่อสารที่ชัดเจนขึ้น และยังสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เฉพาะเจาะจง ทำให้มีแนวโน้มที่ลูกค้าเป้าหมายมีความสนใจสินค้าและบริการมากขึ้น
3. ช่วยกำหนดแนวทางการตั้งราคาสินค้าให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
หลายธุรกิจมักตั้งราคาด้วยการพิจารณาจากต้นทุนเป็นส่วนใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วไม่ควรใช้เพียงต้นทุนมาพิจารณาเพียงอย่างเดียว เช่น สินค้าหรือบริการมีความซับซ้อน การกำหนดตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) จะช่วยให้ลูกค้าเห็นถึงคุณค่าและความแตกต่างจากคู่แข่งเจ้าอื่นๆ ทำให้เจ้าของธุรกิจและนักการตลาดสามารถกำหนดราคาได้เหมาะสมยิ่งขึ้น แม้จะมีราคาสูงแต่ลูกค้าก็ยังคงเลือกสินค้าและบริการจากแบรนด์ของเราอยู่ เป็นต้น
4. ช่วยสร้างให้ลูกค้าเกิดความจงรักภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty)
การวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) ทำให้สินค้าหรือบริการมีจุดเด่นและความแตกต่างที่ชัดเจน สร้างการจดจำต่อลูกค้าเป้าหมายได้ง่าย ถึงแม้ว่า “ราคา” จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ แต่ถ้าเราสามารถสร้างความโดดเด่นด้าน “คุณค่า” มากกว่าด้านราคา ก็จะสามารถดึงดูดให้ลูกค้าสามารถกลับมาซื้อซ้ำ ซึ่งเป็นการสร้างความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Royalty) และส่งผลดีในระยะยาวอีกด้วย
บทความจากนิตยสาร MarketPlus ฉบับที่ 167 May-June 2024