เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน “เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2567” ภายใต้หัวข้อ “การผจญภัยในห้วงอวกาศ” พร้อมด้วย คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย และ ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM
เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยผ่านเรื่องราวของดวงดาวและอวกาศ ที่จะชวนทุกคนสร้างสรรค์จินตนาการไปด้วยความสนุกสนาน โดยมี ฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.สุพรรณี ชาญประเสริฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) พรเพ็ญ ทองสิมา ผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผศ.ดร.สุวรรณ พลายพิชิต ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศและกิจการพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คาโรลีน ลิงค์ ประธานบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และประธานร่วมบริษัท บี.กริม ฟาร์มา และ สมพร สิริพิทักษ์เดช หัวหน้างานศูนย์สื่อสาธารณะเพื่อเด็กและครอบครัว ไทยพีบีเอส ร่วมแถลงข่าวฯ ที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ณ เดอะ สตรีท รัชดา กรุงเทพฯ
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า
“โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้ที่กรุงเทพมหานครพร้อมสนับสนุน ซึ่งที่ผ่านมามีโรงเรียนจากหลายสังกัดเข้าร่วมโครงการนี้ รวมถึงโรงเรียนในสังกัดของกรุงเทพมหานครเองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญและเข้าร่วมโครงการนี้มามากกว่า 10 ปี ทั้งยังมีการขยายผลที่ดีภายในโรงเรียนอีกด้วย
ในฐานะตัวแทนกรุงเทพมหานคร รู้สึกยินดี และดีใจแทน เด็ก ๆ รวมทั้งคุณครู อาจารย์ ที่มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้มาผนึกกำลังร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่สนุกสนานให้กับเด็กเล็ก หรือ เด็กปฐมวัย ที่เปรียบเสมือนเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต
การส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์จึงถือเป็นสิ่งสำคัญ ถือเป็นฐานรากที่สำคัญที่ทำให้เด็กเกิดกระบวนการคิดเป็นเหตุเป็นผล ดังนั้นการสร้างโอกาสในการเกิดการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเพียงการเรียนรู้ตามหลักสูตรของโรงเรียน เเต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์นอกห้องเรียนที่สนุกสนานจะช่วยให้เด็กที่พัฒนาการที่ดี นำไปสู่การเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ”
คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย กล่าวว่า
“โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ดำเนินการจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เราได้ตระหนักถึงปัญหาของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเด็กไทย ที่ผ่านมาไม่ได้รับการพัฒนาทักษะอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ปัจจุบันเกิดการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
จึงได้ทำการศึกษาโครงการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยในประเทศเยอรมนี จากมูลนิธิ “Haus der Kleinen Forscher” ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้คณะกรรมการนำไปพิจารณาริเริ่มการนำโครงการดังกล่าว มานำร่องเป็นต้นแบบในประเทศไทย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยปัจจุบันดำเนินโครงการเป็นปีที่ 13
โดยได้ขยายผลกว่า 39,835 โรงเรียนทั่วประเทศ ทั้งในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 456 แห่ง โดยมีกิจกรรมอบรมครู พัฒนาสื่อการเรียนการสอน และทำกิจกรรมสู่กลุ่มครอบครัว ถือเป็นกิจกรรมการเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวเด็กที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการเรียนรู้ระดับปฐมวัย ที่สามารถเพิ่มพูนประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะเติบโตเป็นเยาวชนที่ดีในอนาคต และเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืนต่อไป”
ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า
“อพวช. ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานหลักที่มีบทบาทขับเคลื่อน “โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” มาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี โดยเฉพาะรายการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ซึ่งออกอากาศในช่อง Thai PBS และช่วยในการประสานงานในการจัดทำคู่มืองาน “เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับเด็กปฐมวัย
โดย “เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปี 2567” ปีนี้จัดขึ้นทั้งหมด 2 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลางและภาคใต้ ในหัวข้อ “การผจญภัยในห้วงอวกาศ” โดยภาคกลาง จะจัดขึ้นที่ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ณ เดอะ สตรีท รัชดา และภาคใต้ จัดที่จังหวัดสงขลา ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา
ซึ่งปีนี้เราได้พัฒนาคู่มือ “การผจญภัยในห้วงอวกาศ” ขึ้น เพื่อสร้างทักษะการสังเกต การจำแนกกลุ่มดาวบนท้องฟ้า การประดิษฐ์แผนที่ดาวแบบง่าย ตลอดจนปรากฏการณ์ต่างๆ บนท้องฟ้า โดยแบ่งออกเป็น 4 ฐานกิจกรรม ประกอบด้วย ฐานที่ 1 ค้นหากลุ่มดาวบนท้องฟ้า : ต่อยอดจินตนาการด้วยการประดิษฐ์แผนที่ดาวด้วยตัวเอง ฐานที่ 2 สร้างระบบสุริยะด้วยมือเรา : ชวนเปรียบเทียบดาวเคราะห์กับโลกในระบบสุริยะของเรา ฐานที่ 3 เมื่อฉันไปเยือนดาวอังคาร : เรียนรู้เกี่ยวกับดาวอังคารและจินตนาการถึงสิ่งที่มีอยู่บนดาวดวงนั้น ฐานที่ 4 ส่งสารไปต่างดาว : ชวนเด็ก ๆ บอกเล่าความพิเศษส่งออกไปในอวกาศ
โดยคู่มือนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนครูและนักวิทยาศาสตร์น้อยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ค้นคว้าคำตอบ เกิดความสนุกสนานและสร้างจินตนาการและทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต”
คาโรลีน ลิงค์ ประธานบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และประธานร่วมบริษัท บี.กริม ฟาร์มา กล่าวว่า
“การศึกษาคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาของประเทศ บี.กริม จึงให้ความสำคัญและสนับสนุนการศึกษาในทุกๆ มิติ มาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในโครงการสำคัญคือ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ซึ่ง บี.กริม ได้ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2553 เนื่องด้วยวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาบุคลากร เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องตามหลักปรัชญา “การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี” ของ บี.กริม เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
โดยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการวางรากฐานทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) หรือ STEM ให้แก่นักเรียนระดับปฐมวัยและประถมศึกษากว่า 400,000 คน ภายในปี 2573 ผ่านโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย บี.กริมเล็งเห็นว่าทักษะด้าน STEM มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นพนักงานของ บี.กริมเองยังได้มีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ในฐานะ“นักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง” ด้วยการเข้าร่วมฝึกอบรมและทำกิจกรรมร่วมกับคุณครูในโรงเรียนเครือข่าย บี.กริม ซึ่งเป็นโรงเรียนในบริเวณใกล้เคียงสถานประกอบการของ บี.กริม กว่า 138 แห่งอีกด้วย”
โดยคณะโรงเรียนและคุณครูที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดคู่มือ เพื่อทำกิจกรรมพิเศษของ “วันนักวิทยาศาสตร์น้อย” ได้ที่ เว็บไซต์ www.littlescientistshouse.com ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ถึง 31 สิงหาคม 2567 นี้