"พิเชษฐ์ กรุงเกตุ" บทพิสูจน์ศักยภาพที่ก้าวข้ามข้อจำกัดทางร่างกาย
14 Jul 2024

 

“คนเราเลือกเกิดไม่ได้ว่าจะเป็นคนปกติหรือคนพิการ คนมีเงินหรือยากจน ถ้าเรามีข้อจำกัดทางร่างกายก็อาจต้องทำมากกว่าคนปกติทั่วไป แต่ความมุ่งมั่นพยายามจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ ผมกล้าพูดเพราะพิสูจน์มาแล้วด้วยตัวเอง”

พิเชษฐ์ กรุงเกตุ นักกีฬา Wheelchair Racing ทีมชาติไทย กล่าวในช่วงเวลาพักของการฝึกซ้อมสู่การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้

พิเชษฐ์ คืออีกหนึ่งในตัวแทนพนักงานทรู ที่แสดงศักยภาพเหนือข้อจำกัดของร่างกาย หลังจากเรียนจบด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เขาได้เริ่มงานด้าน Technical Resolutions และต่อมาได้สร้างชื่อเสียงให้กับองค์กรและประเทศไทย จากการเป็นนักกีฬา Wheelchair Racing ทีมชาติไทย โดยคว้า 2 เหรียญทอง และ 1 เหรียญทองแดงจากการแข่งขันพาราลิมปิกปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ พร้อมกับการทุบสถิติโลกได้สำเร็จในการแข่งขันครั้งนั้น และอีกหลายรางวัลในระดับโลกในเวลาต่อมา

เส้นทางชีวิตของเขาคือบทพิสูจน์ศักยภาพ อันเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท และเชื่อมั่นในความสามารถที่มนุษย์ทุกคนมีได้ พร้อมไปกับการเป็นแรงบันดาลใจและเป็นกระบอกเสียงให้สังคมไม่มองข้ามศักยภาพของผู้พิการทุกคน

 

 

ความหวังที่ถูกจำกัด

“ผมเกิดและเติบโตที่จังหวัดพิจิตร โดยเรียนร่วมกับนักเรียนทั่วไป แม้จะเดินไม่ได้เพราะขาลีบทั้งสองข้างจากโรคโปลิโอ แต่ก็ใช้วิธีเอามือคลานกับพื้นโดยมีเพื่อนช่วยจับขาหลังเวลาเดินไปโรงเรียนด้วยกัน ต่อมาอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนทำเรื่องส่งมาอยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กพิการที่ปากเกร็ด เพื่อให้เรียนรู้การใช้วีลแชร์ และผ่าตัดใส่เหล็กดามขาเพื่อใช้ไม้ค้ำยันเดิน นอกจากนี้ยังได้เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรีจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์”

“ผมตั้งความหวังว่าเรียนจบแล้วจะทำงานเก็บเงินเพื่อเปิดร้านซ่อมอิเล็กทรอนิกส์ที่บ้านเกิด พร้อมกับดูแลพ่อแม่ แต่ความฝันที่สวยหรูว่าจะมีงานทำมีรายได้กลับพังทลาย เพราะเมื่อผมแจ้งว่าเป็นคนพิการ เกือบทุกบริษัทก็ปฏิเสธด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ผมเสียใจมากตรงที่ถูกปฏิเสธทั้งที่ยังไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถที่มีอยู่เลย”

เตรียมพร้อมเพื่อคว้าโอกาสที่มีคุณค่าในชีวิต

“ระหว่างที่ว่างงาน ผมได้ช่วยงานด้านเอกสารและสอนคอมพิวเตอร์ให้น้องๆ ที่สถานสงเคราะห์ จนมีวันหนึ่งที่คณะผู้บริหารบริษัทเทเลคอมเอเชีย (ก่อนจะเป็นทรู ในเวลาต่อมา) ได้มาเลี้ยงอาหารน้องๆ ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์จึงเข้าไปปรึกษาว่ามีน้องที่เรียนแล้วและหางานทำอยู่ ซึ่งท่านผู้บริหารก็พิจารณาวุฒิการศึกษาและความสามารถของผม จากนั้นก็ให้ไปสมัครงานเพื่อผ่านขั้นตอนการคัดเลือก เพราะที่บริษัทมีนโยบายรับผู้พิการเข้ามาทำงานอยู่แล้ว”

“ผมได้เริ่มงานที่บริษัท เอเชีย อินโฟเน็ต อยู่ฝ่าย Technical Resolutions ดูแลลูกค้าในด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ตทางโทรศัพท์ ซึ่งผมดีใจและตื่นเต้นมาก พี่ๆ ทุกคนต้อนรับเป็นอย่างดี ที่สำคัญคือที่บริษัทรับคนพิการมาทำงานก่อนหน้านี้แล้ว เรียกว่าทันสมัยมากในเวลานั้น สภาพแวดล้อมของออฟฟิศและโต๊ะทำงานจัดให้เอื้อต่อการใช้วีลแชร์ สวัสดิการต่างๆ ก็ดูแลเราอย่างเสมอภาค ทุกคนให้ผมได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ โดยไม่ได้มองที่ความพิการของผมเลย ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กร รวมถึงมีรายได้เลี้ยงพ่อแม่ และครอบครัวของตัวเองอย่างที่ตั้งใจไว้”

กีฬาคือหนึ่งอาชีพที่ทำให้สังคมมองเห็นและยอมรับผู้พิการ

“จริงๆ ผมมีความสนใจในกีฬามานานแล้ว ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยปี 3 ผมมีโอกาสได้แข่งว่ายน้ำในกีฬาคนพิการเฟสปิกเกมส์ 1999 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยทำผลงานได้ดีที่สุดเป็นอันดับ 4 จากนั้นผมก็มองว่ากีฬาเป็นหนึ่งอาชีพที่ดี เพราะเห็นเพื่อนที่ประสบความสำเร็จจากการแข่งขัน ได้รับทั้งเหรียญรางวัล เงินรางวัล และมีรายได้จากการเก็บตัวฝึกซ้อมด้วย”

“ผมเริ่มมุ่งมั่นเล่นกีฬา Wheelchair Racing ตอนอายุ 27 ปี ซึ่งถือว่าอายุเยอะแล้วกับกีฬาที่ต้องใช้แรงกำลังมหาศาล แต่อาจารย์สุพรต เพ็งพุ่ม โค้ชที่อยู่ในแวดวงกีฬาคนพิการช่วยสอนและดูแลการฝึกซ้อมให้ ผมมีความตั้งใจอย่างเต็มที่ ผมซ้อมหนักมากกว่าเพื่อนเป็น 2 เท่า ลงซ้อมก่อน เลิกทีหลัง นอกเวลาซ้อมก็เล่นเวท ยอมเหนื่อยยอมหนัก เพราะอยากประสบความสำเร็จเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวให้สุขสบาย”

 

 

ตัวแทนบริษัท และตัวแทนประเทศไทย

“ผมติดทีมชาติในช่วงที่ทำงานประจำมาได้สักพักแล้ว แต่ก็จัดการเวลาเพื่อไปฝึกซ้อมด้วย ทำให้ต้องขอเข้าทำงานในกะกลางคืนอยู่ตลอด ซึ่งผมก็รู้สึกว่าตัวเองเอาเปรียบเพื่อนร่วมงานคนอื่นที่ยังสลับกะทำงานกันปกติ จึงคุยกับหัวหน้าว่า จะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะขอลางานไปฝึกซ้อมกีฬาโดยไม่รับเงินเดือน แต่ขอรักษาสิทธิ์พนักงานไว้ เพื่อกลับมาทำงานหลังจากแข่งกีฬาเสร็จสิ้น หัวหน้าได้ทำเรื่องไปยังผู้บริหาร โชคดีที่ท่านผู้บริหารเข้าใจและสนับสนุน โดยบอกว่า การไปแข่งกีฬาเป็นการทำหน้าที่เพื่อประเทศไทย ก็เหมือนเป็นการทำงานให้บริษัทด้วย เรียกว่าบริษัทให้โอกาสเปิดโอกาสให้ได้แสดงศักยภาพทางด้านกีฬา ที่กลายเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต” 

เมื่อขึ้นสู่จุดสูงสุด ก็กลับลงมาจุดต่ำสุดได้

“การฝึกซ้อมหนักส่งผลให้การทำสถิติความเร็วดีมาก เวลานั้นผมเป็นแชมป์เกือบทุกรายการ ไปแข่งกีฬาพาราลิมปิกครั้งแรกที่เอเธนส์ปี 2004 ก็ได้ 2 เหรียญทอง และ 1 เหรียญทองแดง และยังเป็นเจ้าของสถิติโลกด้วย การได้เหรียญรางวัล ทำให้ผมได้สร้างชื่อเสียงให้บริษัทและประเทศอย่างที่หวัง ทั้งยังมีรายได้มาดูแลครอบครัวอย่างที่ตั้งใจ ที่สำคัญคือทำให้สังคมหันมาสนใจคนพิการที่ความสามารถ ผมมีโอกาสพูดแทนคนพิการอีกมากมาย รวมถึงการพูดสร้างแรงบันดาลใจในองค์กรและสื่อมวลชนต่างๆ ซึ่งเป็นการช่วยสร้างเปลี่ยนแปลงให้ผู้คนมองคนพิการดีขึ้นกว่าเดิม”

“แต่ทั้งนี้ ชีวิตไม่ได้ง่ายเสมอไป ช่วงเริ่มต้นที่ผมฝึกซ้อมอย่างหนัก สมัยนั้นวิทยาศาสตร์การกีฬายังไม่ก้าวหน้า ผมคิดว่าซ้อมให้หนักแล้วทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่มันต้องแลกมาด้วยอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อฉีกที่หัวไหล่ หลังจากได้เหรียญทองและเป็นเจ้าของสถิติโลกในโอลิมปิกที่เอเธนส์ปี 2004 ผลงานก็เริ่มไม่ดีเท่าเดิมจนถึงจุดต่ำสุดที่ไม่ได้เข้ารอบแข่งขันเลย จากที่คนให้ความสนใจ วันหนึ่งคือไม่อยู่ในสายตาใครเลย”

ความมุ่งมั่นและวินัยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง 

“หลังจากปี 2004 ถึงปี 2020 ผมอยู่กับการประคับประคองอาการบาดเจ็บของตัวเอง จะไปแข่งที่ไหนก็กลัว เพราะเจอแต่ความพ่ายแพ้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือ ความมุ่งมั่นและวินัยในการฝึกซ้อม แม้ในวันที่ไม่ประสบความสำเร็จผมก็ไม่เคยหยุดการซ้อม อาจารย์สุพรตเห็นถึงตรงนี้ก็ให้ความมั่นใจว่า ผมจะกลับมาทำผลงานได้ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ”

“ช่วง 10 ปีมานี้ ร่างกายของผมเริ่มฟื้นฟูกลับมาดีขึ้น เวลาไปแข่งก็เริ่มชนะบ้าง ความมั่นใจเริ่มกลับมา จนปีนี้ผมมีผลงานดีจนคะแนนเข้าเกณฑ์ผ่านเข้ารอบไปรอแข่งขันพาราลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีสแล้ว พร้อมกับการซ้อมที่ได้สถิติดีกว่าเมื่อปี 2004 ซึ่งในการแข่งขันพาราลิมปิกครั้งนี้ อยากให้ทุกคนรอลุ้นในสนามไปด้วยกัน”

 

 

แสดงศักยภาพที่อยู่เหนือข้อจำกัดของร่างกาย

“ทุกวันนี้สังคมเปิดรับคนพิการมากขึ้น มีหน่วยงานที่ดูแลคนพิการมากขึ้น รวมถึงกฎหมายที่คุ้มครองคนพิการในเรื่องการทำงาน แต่ด้วยเราอยู่ในสังคมไทยที่คนส่วนใหญ่ใจดี ขี้สงสารและมีความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งอาจทำให้มองคนพิการเป็นบุคคลด้อยโอกาส ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ต้องได้รับโอกาสจากคนอื่น ความคิดแบบนี้ตีกรอบให้คนพิการแสดงศักยภาพตัวเองได้น้อยลง”

“แต่จริงๆ แล้วคนพิการก็มีศักยภาพอยู่มาก อย่างในวงการกีฬาก็จะเห็นได้ว่านักกีฬาที่ไม่มีแขนมีขาก็ว่ายน้ำได้ ดังนั้นอยากให้ผู้พิการ หรือแม้แต่คนปกติได้เชื่อมั่นว่า หากเราตั้งใจจริงและทุ่มเทสุดความสามารถ ย่อมทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จได้ หรือถ้ายังไม่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ก้าวมาจากจุดเริ่มต้นได้ไกลแล้ว เราได้ประสบการณ์ ความแข็งแกร่งของจิตใจ ซึ่งเป็นส่วนประกอบให้เราเป็นตัวเองที่ดีขึ้นได้”

“สุดท้ายนี้ ผมบอกได้ว่าความภาคภูมิใจและความสำเร็จในชีวิตของผม มีจุดเริ่มต้นจากการที่ทรูไม่มองข้ามความสามารถทั้งในด้านการทำงานและกีฬา และเปิดโอกาสให้ผมได้แสดงศักยภาพที่ดีที่สุดอย่างแท้จริง”


Lesson Learned : การแสดงศักยภาพเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของร่างกาย

  • Self-belief in abilities เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถแม้มีข้อจำกัดต่างๆ แต่พร้อมเผชิญกับทุกความท้าทาย
  • Discipline and determination ฝึกฝนและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยไม่หยุดแม้ต้องพบความท้าทายทางใจ
  • Seizing opportunities, achieve success เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับโอกาสที่เข้ามาเสมอ และทำสุดความสามารถเพื่อให้สิ่งที่มุ่งหวังกลายเป็นจริง

“ทรู คอร์ปอเรชั่น” เชื่อว่าความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพศ วัย อายุ เชื้อชาติ ความสนใจ ไลฟ์สไตล์ โดยในเดือนแห่งความภาคภูมิใจในความหลากหลาย (Pride Month) ทรูแสดงจุดยืนในการสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียม จากการผสานความแตกต่าง โอบรับความหลากหลายของทุกคนในทุกมิติ และกล้าแสดงความเป็นตัวเอง ผ่านแคมเปญ #BringYourBest

เพราะที่ทำงานคือพื้นที่ให้เราได้เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด พร้อมนำเสนอเรื่องเล่าของคนทรู ที่สะท้อนความแตกต่างหลากหลายและเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพและความเป็นตัวเองอย่างแท้จริง

[อ่าน 1,167]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สิงห์ เอสเตท คว้ารางวัล Global Business Outlook Award 2024 ผ่าน โครงการ S-OASIS
AIS eSports ปิดฉากทัวร์นาเมนต์อีสปอร์ต ระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในไทย ปีที่ 4

เซ็นทรัลพัฒนา ทุ่ม 700 ล้านบาท ปลุกเศรษฐกิจไทยในแคมเปญ ‘The World’s Great Celebration 2025’
TikTok มุ่งยกระดับความปลอดภัยออนไลน์ เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ เพื่อเยาวชนและครอบครัวไทย
“GO UP AND NEVER STOP EXPAND MULTI SKILLS” เสริมความรู้ เติมทักษะ ปั้นนักเขียนบทละครโทรทัศน์
LEO PRESENT SCREAM FEST 2099 เทศกาลดนตรีในค่ำคืนฮาโลวีนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved