ประเทศไทยเปรียบเสมือนผืนผ้าใบที่เต็มไปด้วยสีสันของวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์จากทุกมุมเมือง ด้วยเอกลักษณ์และจุดแข็งเฉพาะตัว เช่น งานหัตถกรรม อาหารไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์สู่นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ยิ่งหากมีเครื่องมือ การสนับสนุนที่เหมาะสมซึ่งรวมไปถึงการนำเทรนด์ที่เป็นแนวโน้มและความเคลื่อนไหวที่กำลังจะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจสร้างสรรค์เข้ามาปรับใช้ บุคลากรสร้างสรรค์จะสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ให้เป็นสินค้าและบริการที่มีคุณค่าและน่าสนใจ
ซึ่งไม่เพียงช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น แต่ยังส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดโลกได้อีกด้วย
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงได้ประกาศจัดตั้ง ‘ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่’ (New TCDC) ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, นครราชสีมา, ปัตตานี, พิษณุโลก, แพร่, ภูเก็ต, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี ไปเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567
สำหรับ TCDC แห่งใหม่ ที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด จะมีบริการรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า 'Creative Lab' ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการค้นหา รวบรวม และต่อยอดเรื่องราวที่มีศักยภาพในท้องถิ่น (Empowering Local Stories) อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะ (Upskill และ Reskill) ให้แก่นักสร้างสรรค์ คนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการ และชุมชน เพื่อยกระดับสินค้าและบริการผ่าน Service Design พร้อมอุปกรณ์ภาพ เสียง และซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย
โดยเชื่อมโยงผู้ให้บริการในท้องถิ่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ ตลอดจนคอนเทนต์ในการเล่าเรื่องให้ดีขึ้นทั้งด้านการใช้งานและความรู้สึก ตอบโจทย์ผู้บริโภคและมีเอกลักษณ์น่าสนใจมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ให้เติบโตทั่วประเทศ ด้วยการ 'สร้างคน' และ 'เพิ่มทักษะ' ด้านความคิดสร้างสรรค์ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในด้านการท่องเที่ยว ศิลปะและการออกแบบ งานคราฟต์ อาหาร งานเทศกาลสร้างสรรค์ ภาพยนตร์และดนตรี และแฟชั่น โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในแต่ละภูมิภาคสู่ระดับสากล
‘Creative Lab’ เครื่องมือสำคัญยกระดับ ‘นักสร้างสรรค์’ และ ‘คนรุ่นใหม่’
ร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภูมิภาค
‘Creative Lab’ ในแต่ละจังหวัด จะเป็นเสมือนห้องทดลองเชิงปฏิบัติที่มีรูปแบบเฉพาะตามจุดเด่นและเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่มาเป็นแกนหลักในการสร้างเนื้อหาสนับสนุน เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูง ได้แก่
เชียงราย ‘Wellness Lab’ ปฏิวัติวงการสุขภาพด้วย Service Design ที่ยกระดับสินค้าและบริการเพื่อชีวิต โดยนำเทรนด์เฮลธ์แคร์ใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งทางด้านอาหาร การบริการด้านสุขภาพ เช่น รีสอร์ท สปา โรงพยาบาล และศูนย์ดูแลสุขภาพ เพื่อเสริมสร้างทักษะและความรู้ด้านสุขภาพแนวใหม่ พัฒนาการแพทย์แผนไทยและสนับสนุนการวิจัยสมุนไพรให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ด้านสุขภาพในระดับท้องถิ่น
นครราชสีมา ‘Creator Lab’ เปิดโอกาสให้กับนักสร้างสรรค์ ได้ปลดล็อกทักษะในการออกแบบประสบการณ์ (Experience Design) ผ่านการทดลองพัฒนาสินค้าและบริการท้องถิ่นสู่มิติใหม่ โดยเน้นการสร้างเอกลักษณ์ (Identity) และการเล่าเรื่อง (Storytelling) ที่ล้ำสมัย ให้ตอบโจทย์คนเจนเนอเรชั่นใหม่ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ เพื่อผลักดันให้สินค้าและบริการเติบโตอย่างยั่งยืน
ปัตตานี ‘Cultural Lab’ เน้นการผสมผสานทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น 3 สัญชาติ ระหว่างไทย จีน และมลายูอย่างลงตัว เข้ากับข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค (Consumer Insights) จนสามารถพัฒนาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของวัฒนธรรมท้องถิ่นในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยเน้นการสร้างประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ (Unique Experience) ผ่านการผสมผสานวัฒนธรรมกับเทรนด์โลกได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
พิษณุโลก ‘City Lab’ แหล่งบ่มเพาะทักษะของนักสร้างสรรค์เมืองยุคใหม่ กับแหล่งการทดลองต้นแบบ ที่จะช่วยปลุกชีวิตให้เมืองด้วยไอเดียสุดล้ำ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต ผ่านการนำทรัพยากรท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ศิลปะดั้งเดิม และประวัติศาสตร์ ผ่าน Interactive Experience ให้พิษณุโลกกลายเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวาและศักยภาพที่ไม่สิ้นสุดในฐานะเมืองต้นแบบที่สมัยใหม่
แพร่ ‘Forest Lab’ เปิดประตูสู่นวัตกรรมไม้แห่งอนาคต ที่มุ่งพัฒนาทักษะการเพิ่มสร้างคุณค่าให้อุตสาหกรรมไม้อย่างยั่งยืน เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ และเสริมสร้างการต่อยอดทักษะ (Upskill) งานไม้ในทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก คือ พัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญด้านไม้, สร้างฐานข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมและเฟอร์นิเจอร์ไม้ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม้ เพื่ออนุรักษ์และต่อยอดงานสร้างสรรค์จากไม้ให้คงอยู่สืบไปและเกิดการสร้างสรรค์สินค้าไม้ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
ภูเก็ต ‘Tourism Lab’ เปิดให้ทดลองเชิงปฏิบัติ เพื่อสร้างโอกาสยกระดับเทรนด์การท่องเที่ยวในมิติใหม่ ที่จะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยชูเรื่อง Sustainable Tourism ที่เป็นไอเดียการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในความหลากหลายทางเชื้อชาติ ตลอดจนการต่อยอดทักษะเพื่อพัฒนาเมืองภูเก็ตในฐานะเมืองท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ และสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างจุดหมายปลายทางใหม่ (New Destination Concepts) พร้อมยกระดับ Hospitality ให้เทียบชั้นระดับโลก
ศรีสะเกษ ‘Music & Film Lab’ สร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ ศิลปิน และ ธุรกิจสร้างสรรค์ได้เพิ่มทักษะด้านดนตรีและภาพยนตร์สุดครีเอทีฟ โดยนำเรื่องราวที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ใหม่ (Local Table) ในรูปแบบร่วมสมัย พร้อมส่งเสริมการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ให้เกิดผลงานที่ทันสมัยและเป็นสากล
สุรินทร์ ‘Silk Lab’ ผลักดันการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าไหม สินค้าหัตถกรรมขึ้นชื่อจังหวัด ด้วยแนวคิด Innovative Textile โดยนักออกแบบ ผู้ประกอบการ และ ชุมชน ในการนำเสนอการใช้งานไหมในรูปแบบ Everyday Silk ที่สามารถใช้ได้ทุกวันและหลายโอกาส พร้อมยกระดับ ‘ไหม’ สู่แบรนด์ระดับโลก พัฒนาทักษะการแปลงงานศิลปะเป็นสินค้า Fashion Tech สร้างรายได้ยั่งยืนให้ชุมชน เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่แท้จริง
อุตรดิตถ์ ‘Agri-Value Lab’ ปลุกพลังสร้างสรรค์ด้านเกษตรกรรม เพื่อยกระดับทักษะในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร โดยเน้นการพัฒนาวัสดุฐานชีวภาพ (Bio-based Materials) และ ต่อยอดการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแบบหมุนเวียน (Circular Fashion) มาสร้างอัตลักษณ์ พร้อมบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่นทันสมัย (Modernization) จากทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการจากผลิตผลการเกษตรในท้องถิ่น
อุบลราชธานี ‘Festival Lab’ สร้างพื้นที่ศูนย์กลางการรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมห่วงโซ่ที่สร้างคุณค่า ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมในการยกระดับงานเทศกาลสู่เวทีโลก ด้วยการผสมผสานศิลปะ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างลงตัว นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน และสะท้อนไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัยของผู้คนทั้งในจังหวัดและทั่วประเทศ
การบริการ Creative Lab ของ TCDC จึงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการเสริมพลังให้แก่นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ และชุมชน ด้วยการผสานองค์ความรู้ดั้งเดิมเข้ากับนวัตกรรมสมัยใหม่ โดยศูนย์กลางแห่งการสร้างสรรค์นี้ จะทำหน้าที่เป็นเหมือนเบ้าหลอมสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้แปรเปลี่ยนเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกล Creative Lab จึงไม่เพียงแต่เสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับชุมชนทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง พร้อมก้าวสู่เวทีการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างสง่างาม