ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ข่าวการล่วงละเมิดทางเพศและการทารุณกรรมเด็กทั้งจากคนในครอบครัว คนรู้จัก หรือคนแปลกหน้า นับวันมีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งเหยื่อของความรุนแรงก็มักจะมีอายุน้อยลงทุกที ๆ จนน่าวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ถึงอย่างนั้น ปัญหาเรื่องการละเมิด “สิทธิเด็กและเยาวชน” ยังคงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่หลายคนมองข้ามและลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
เนื่องในวันมนุษยธรรมโลก (World Humanitarian Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 19 สิงหาคมของทุกปี มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (Safeguard Kids Foundation) จึงร่วมกับ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ, PASAYA และ สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรม “World Humanitarian Day 2024: We are the World, we are the Children”
เพื่อย้ำเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชน ผ่านการเสวนา “ปัญหาทางมนุษยธรรมกับเยาวชนในบริบาทสังคมไทย” และการประกวดผลงานศิลปะบนผืนผ้าใบพร้อมชิงรางวัลจาก SafeguardKids Awards 2024 ท่ามกลางเด็กและเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ส่งผลงานศิลปะเข้าร่วมการประกวดกว่า 150 ชิ้น
สิทธิเด็กและเยาวชน: ปัญหาทางมนุษยธรรม เพื่อยับยั้งความรุนแรง
บรรยากาศคราคร่ำไปด้วยนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ตลอดจนผู้สนใจที่เข้าร่วมชมผลงานศิลปะของน้องๆ ที่จัดแสดงนิทรรศการอย่างเรียบง่าย ทุกภาพล้วนสะท้อนให้เห็นถึงจินตนาการ ความคิด และความฝันของเด็กๆ ก่อนที่งานจะเริ่มต้นด้วยการขับขานบทกวีร้อยแก้ว “หิ่งห้อยวับวาว ไม่อับแสงยามเดือนดับ” โดย รัตนพร – พิมพ์รัตน์ เตชะรัชต์กิจ ประกอบเสียงก้องกันวานของขันทิเบต และลำนำบทกวีประกอบฟลุตเรื่อง “เมียวดีกำสรวล” โดย อานันท์ – นัช หาญพาณิชย์พันธ์
หลายคนอาจจะสงสัยว่า “วันมนุษยธรรมโลก” เกี่ยวข้องอะไรกับเด็กๆ ความจริงแล้ว วันสำคัญของโลกนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ระเบิดครั้งประวัติศาสตร์ที่โรงแรม Canal ในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2546 สะท้อนให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงคราม ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนโดยเฉพาะเด็กๆ ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบาก การพลัดพรากจากครอบครัว การถูกละเมิดสิทธิ และการกีดกันจากโอกาสที่ควรจะได้รับ
เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ปัญหาความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและเยาวชน ไม่ได้รับการหยิบยกมาแก้ไขอย่างจริงจัง ภายในงานจึงจัดให้มีปาฐกถาพิเศษ “ปัญหาทางมนุษยธรรมเพื่อการปกป้องเด็กในสังคมไทย: ยุติการละเมิดทางเพศต่อเด็ก!” โดย ชเล วุทธานันท์ ประธานกรรมการมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (SafeguardKids) เพื่อตอกย้ำให้ทุกคนตระหนักถึงความน่ากลัว ที่ไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป
“ภาพชาวต่างชาติเดินจูงมือเด็กเข้าโรงแรมตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ควรจะเป็นสิ่งที่คนไทยรู้สึกคุ้นเคยหรือพฤติกรรมที่เรารับได้ โดยที่ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรเลย ทั้งที่ความยากจนไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยการค้ามนุษย์เสมอไป ปัญหาความยากจนต้องได้รับการแก้ไขในเชิงนโยบายจากรัฐบาล ที่สำคัญครอบครัวต้องร่วมกันดูแลเอาใจใส่ลูกหลาน บางครั้งอิสรภาพต้องมาพร้อมกรอบของเสรีภาพ รวมไปถึงการให้ความรู้และการสื่อสารระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ที่ต้องพิถีพิถันอย่างมาก
“เดี๋ยวนี้โซเชียลมีเดียเข้าถึงเด็กๆ ได้ง่ายมาก เราจึงต้องให้คำแนะนำในการเสพย์สื่อ หรือชักชวนให้เขาค้นหาสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจ การวาดภาพก็เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เราเข้าถึงมุมมองของเด็กๆ มากขึ้น การจัดงานในครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือน Social Awareness ให้เราหันกลับมาเข้าใจเด็กๆ ผ่านการค้นหาความหมายที่อยู่ในภาพของพวกเขา และช่วยให้สังคมตระหนักว่าเราจะไม่ทนต่อปัญหาเหล่านี้อีกต่อไป เมื่อเราลุกขึ้นมาร่วมกันต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กอย่างจริงจัง มันจะมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในที่สุด”
มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก: แสงสว่างที่ส่งต่อความหวัง
ท่ามกลางองค์กรที่ทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนมากมายในประเทศไทย “มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก” มุ่งมั่นที่จะต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและผลักดันให้มีการออกกฎหมายที่มีบทลงโทษอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิเด็กและเยาวชน เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกด้านมนุษยธรรมให้กับคนในสังคม
“ตลอดหลายปีที่เราทำงานในเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ทำให้เรามองเห็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะพัทยาที่ดิฉันได้ลงพื้นที่เข้าไปทำงานอย่างจริงจัง ทำให้เรามองเห็นเหยื่อของการค้าประเวณีเด็กและการล่วงละเมิดทางเพศที่นับวันอายุจะน้อยลงเรื่อยๆ หลายคนดูข่าวแล้วรู้สึกหดหู่ใจอย่างมาก แต่พอมีข่าวอื่นๆ ดังกว่าเราก็พร้อมจะหลงลืมประเด็นนี้ไป” ดร.ดาริณ พันธุศักดิ์ กรรมการและฝ่ายประชาสัมพันธ์ SafeguardKids กล่าว
“มันเหมือนพลุที่จุดขึ้นฟ้าให้คนหันมาสนใจเพียงชั่วครู่ ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้และเปลี่ยน mindset อย่างจริงจัง เราต้องร่วมกันต่อต้านและสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะไม่อย่างนั้น ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กจะไม่มีวันหมดไปจากประเทศไทย”
ศิลปะเพื่อเยาวชน: ก้าวที่สำคัญสู่บทบาทใหม่ของโรงแรมอมารี ดอนเมือง
ภาพความร่วมมือระหว่าง SafeguardKids และโรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ กลายเป็นพลังสำคัญที่ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้สู่กลุ่มเด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ ด้วยเป้าหมายและการดำเนินงานของมูลนิธิสอดคล้องกับเป้าหมายของโรงแรม ที่สนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในกลุ่มเปราะบางมาโดยตลอด การจัดงานในครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนก้าวแรกสู่บทบาทใหม่ร่วมกับ SafeguardKids ที่มุ่งมั่นส่งเสริมจินตนาการ และปลูกฝังให้เด็ก ๆ ถ่ายทอดตัวตนลงบนผลงานศิลปะ
“เราอยากให้สังคมตื่นตัวเรื่องของปัญหาเด็กมากขึ้น ปัจจุบัน โรงแรมทำงานกับเด็กๆ และเห็นถึงความไม่ปลอดภัยในสังคมที่ส่งผลกระทบต่อเด็กๆ รวมถึงการล่อลวงด้วยรูปแบบแปลกใหม่ อย่างการให้รางวัล การให้ความชื่นชม หรือการหลอกล่อด้วยเสียง ศิลปะจึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะช่วยให้เด็กๆ กลับมาทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต และเป็นตัวสะท้อนเสียงจากภายในของเด็กว่าลึกๆ แล้วเขาคิดอะไรอยู่
โดยผลงานที่ส่งเข้ามาก็มาจากเด็กๆ ในโรงเรียนในหลายเขตของกรุงเทพมหานคร มีผลงานที่จัดแสดงทั้งหมด 28 ชิ้นที่เข้ารอบ เพื่อเป็นกำลังใจให้น้องๆ ได้มีเวทีแสดงออกและกล้าที่จะแสดงความสามารถทางศิลปะมากขึ้น” สักการะ มหาโพธิ์ ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ กล่าวเสริม
นอกจากนี้ ภายในงานยังจัดให้มีกิจกรรมมากมายที่น่าสนใจ อาทิ การเสวนา นิทรรศการ การร่ายบทกวีประกอบท่วงทำนอง และการประกวดผลงานศิลปะของเด็กและเยาวชนจากโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดกว่า 150 ชิ้น และผ่านการคัดเลือกรวม 28 ชิ้น โดยมีผู้ชนะการประกวด ได้แก่
โรงแรมอมารี ดอนเมือง และ SafeguardKids มุ่งมั่นที่จะกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเด็กและเยาวชน พร้อมส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้กับทุกคน โดยงานศิลปะของน้องๆ จะจัดแสดงภายในโรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร. 02 566 1020