โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH) จัดกิจกรรม “ออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ปีที่ 2” ชวนคนไทยสานต่อการให้ สร้างวินัยการออมให้เกิดพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง ตามรอยพระราชจริยวัตร ในการเป็น “กษัตริย์นักออม” และศาสตร์แห่งพระราชาในการดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการเป็น “นักออมเพื่อให้” นำเงินออมสมทบทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา อาคารศูนย์การแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พระราชปณิธานสุดท้ายของพระองค์เพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาส
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงกิจกรรมออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ในปีที่ 2 นี้ว่า เป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธาน และพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการพัฒนาและดูแลความเป็นอยู่ของพสกนิกร เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงพระราชจริยวัตรในการเป็น “กษัตริย์นักออม” และ “กษัตริย์ผู้ให้” ของรัชกาลที่ 9 รวมไปถึงเพื่อต่อยอดการปลูกฝังวินัยการออม และการเป็นผู้ให้แก่สังคม ด้วยการนำเงินออมนั้นร่วม สมทบทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์แก่อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา
"อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส และลดปัญหาความแออัดของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราชเผชิญมาโดยตลอด ซึ่งนี่เป็นพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการสร้างความเท่าเทียมและคุณภาพชีวิต ที่ดีแก่ผู้ป่วยด้อยโอกาส ทางโรงพยาบาลศิริราชอยากให้คนไทยทุกคนได้ร่วมสานต่อพระราชปณิธาน สุดท้ายของพระองค์ ทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วยการสร้างอาคารหลังนี้ให้เกิดขึ้น จึงได้จัดโครงการระดมทุนมากมายและหลากหลายรูปแบบ เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนทุกอาชีพ ทุกพื้นที่ และทุกสถานะ ตั้งใจให้อาคารหลังนี้เป็นตัวแทนของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทย เป็นจุดศูนย์รวมให้ทุกคนได้เข้ามาทำดี ทำประโยชน์ ช่วยเหลือกันและกันตามรอยพระองค์ท่าน"
กิจกรรม “ออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ” เป็นหนึ่งในกิจกรรมระดมทุนเพื่ออาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิถีปฏิบัติในด้านการออม ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนเกิดเป็นโครงการรณรงค์ให้คนในสังคมเดินตามรอยพ่อ ส่งเสริมและปลูกฝังนิสัยการออมและการแบ่งปันแก่สังคมไทย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนถึงกว่า 139,000 คน จนมียอดออมสมทบทุนถึง 111 ล้านบาท
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวถึงเป้าหมายของกิจกรรมออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ในปีที่ 2 นี้ “กิจกรรมออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ เป็นกิจกรรมระดมทุนที่ต่างจากโครงการอื่น เพราะเป้าหมายหลักคือต้องการปลูกฝังการออมให้แก่ประชาชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะปลูกฝังกันได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ในปีนี้เราจึงได้จัดกิจกรรมขึ้นอีกครั้ง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการออมอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ซึ่งในปีนี้เรามีการปรับรูปแบบ การเข้าร่วมให้ตอบกับเป้าหมายของโครงการมากขึ้น โดยเราได้องค์กรจิตอาสา คือธนาคารกรุงเทพ เข้ามาช่วยเหลือในด้านการจัดการตลอดกระบวนการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทุกคนสามารถ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้ได้”
พจณี คงคาลัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า “ในมิติของการเป็นธนาคารที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน ปลุกจิตสำนึกคนไทยให้มีวินัยทางการเงิน ใช้เงินอย่างรู้คุณค่า ถือเป็นพันธกิจหนึ่งของธนาคาร ซึ่งการอาสาเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมนี้นอกจากจะมุ่งหวังให้เกิดพฤติกรรมการออมที่ดี เพื่อเป็นรากฐานแห่งความพอเพียงและมั่นคงทางการเงินของสังคมไทยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือการที่เราได้นำความถนัดของธุรกิจธนาคารมาร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีแก่สังคม เป็นช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงกิจกรรมดีๆ นี้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ โดยเรามีกว่า 1,163 สาขาที่เปิดรับสมัคร "นักออม" เพื่อให้ ใน 77 จังหวัด มีระบบออนไลน์แบงก์กิ้งที่แข็งแกร่งเพื่ออำนวยความสะดวกในส่วนของการโอนเงิน ออมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์”
โดยมีทั้งการสแกน QR Code ผ่านโมบายแบงก์กิ้งของทุกธนาคาร และการสแกน Barcode ผ่านช่องทางโมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking) เอทีเอ็ม (ATM) หรืออินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (Internet Banking) ของทุกธนาคาร หรือผ่านเคาน์เตอร์สาขาของธนาคารกรุงเทพ
รูปแบบการออมในปีนี้จะเน้นให้ประชาชนได้ฝึกฝนการออมทุกวัน
อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
มีลักษณะเป็นอาคารสูง 25 ชั้น ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 5,000 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 2,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงงบประมาณในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์อีกประมาณ 1,800 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถรองรับการบริการรักษาผู้ป่วยนอกประมาณ 500,000 รายต่อปี มีจำนวนเตียงผู้ป่วยสามัญหรือผู้ป่วยด้อยโอกาส 376 เตียง รองรับผู้ป่วยใน 20,000 รายต่อปี มีศูนย์ความเป็นเลิศ 14 ศูนย์ หอผู้ป่วยวิกฤต 62 ห้อง โดยไม่มีห้องพิเศษ นอกจากนี้ยังมีหน่วยตรวจ ต่างๆ อาทิ ผู้ป่วยด้านอายุรกรรม ประสาทวิทยา โรคไต โรคด้านจิตเวช ด้านกระดูกและข้อ ด้านรังสีวินิจฉัย และรังสีรักษา เป็นต้น ด้วยแรงสนับสนุนของคนไทยทั้งประเทศ จำนวนเงินในการก่อสร้างอาคารจึงสำเร็จ ตามเป้าหมาย คงเหลือแต่การจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์อีก 1,800 ล้านบาทซึ่งปัจจุบันระดมทุนได้แล้ว 1,000 ล้านบาท
กระปุกออมเงินสัญลักษณ์จำลองอุปกรณ์ทรงงาน