ธุรกิจครอบครัวต้องรู้จัก Family Wisdom หรือความเก่งของตนเองที่จะช่วยการเติบโตให้กับธุรกิจได้ และวิธีการบริหารทรัพยากรที่เหมาะสม รวมทั้งทรัพยากรมนุษย์ด้วย
ความท้าทายแบบ ‘รุกฆาต’ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มวงรอบแบบรัวๆ นั้นทำให้ธุรกิจอาจถึงกับต้อง ‘เซ’ เพราะตั้งตัวไม่ติด โดยเฉพาะตัวแปรใหม่ของปีนี้ที่มากับ ‘น้องน้ำ’ (อีกครั้ง) ที่สำคัญ ‘ฟ้าหลังฝน ถนนมักลื่นเสมอ’ ซึ่งนี่คือความจริงที่หลีกไม่พ้น แต่สำหรับธุรกิจครอบครัวนั้น รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล รองอธิการบดีอาวุโสสายงานธุรกิจองค์กร มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาด้านการบริหารธุรกิจครอบครัว บริษัท แฟมซ์ จำกัด ได้แนะแนวทางกับธุรกิจครอบครัว เพื่อรับมือว่า จะเดินเกมด้วยกลยุทธ์ ‘เร็ว กล้า ปรับตัว ชัวร์จุดแข็ง’
หาจุดแข็ง - มองตัวเองในระยะยาว
รศ.ดร.เอกชัย เปิดประเด็นจากการมองที่ปัจจัยภายในและภายนอกที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจว่า
“ธุรกิจครอบครัวจะต้องรู้ก่อนว่า ตนเองมีจุดแข็งอะไรที่มีอยู่ในครอบครัว เช่น ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัวและความสามารถในการทำงานร่วมกัน เพราะนี่คือปัจจัยภายในที่ควบคุมได้ และจะต้องรู้จักนำมาใช้เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในอื่นๆ นั่นคือ ความต้องการควบคุมธุรกิจ เพื่อรักษาความสัมพันธ์และคุณค่าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงศ์ตระกูล และการบริหารจัดการทรัพย์สินและความเป็นเจ้าของมีความสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ
ขณะที่การดำเนินธุรกิจก็ยังมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้อย่างปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจกฎระเบียบและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาจมีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของลูกค้าและความต้องการของตลาดสามารถส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์การตลาดและการขายของธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายนอกเหล่านี้ เราสามารถที่จะนำจุดแข็งมารับมือได้
นอกจากนี้ ต้องเข้าใจธรรมชาติธุรกิจครอบครัวด้วยว่า มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ ตรงที่ว่า เราไม่ได้มองอะไรในระยะสั้น ดังนั้น แทนที่จะโฟกัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงระยะ 1-2 ปีนี้
ผมอยากให้ธุรกิจโฟกัสกับเรื่องระยะยาว เพราะเมื่อเราเปลี่ยนมุมมองมาเป็นโฟกัสในระยะยาวก็จะทำให้เราเห็นภาพใหม่ๆ ได้เอง อาทิ เห็นความไม่เรียบร้อยภายในครอบครัวที่จําเป็นจะต้องสะสางให้เรียบร้อยก่อน มิฉะนั้น เราอาจจสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน หรือโอกาสทางธุรกิจ แม้เรื่องบางเรื่องอาจจะไม่ใช่เรื่องเชิงธุรกิจ 100% ก็ตาม ที่สำคัญ การเปลี่ยนมาโฟกัสในระยะยาวยังจะทำให้เราพบว่า มีปัญหาอื่นๆ ปรากฏอยู่ ถ้าเราจะไประยะยาวเราก็ต้องเตรียมรับมือ ด้วยการวางแผน วางระบบ หรือแม้กระทั่งกระบวนการทำงาน ฯลฯ”
‘เร็ว - กล้า - ปรับตัว’
“เนื่องจากปีที่ผ่านมามีหลายประเด็นที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะเทรนด์ของการเป็นธุรกิจที่มีความรับผิดชอบเพื่อก้าวสู่ความยั่งยืน การก้าวสู่ยุค AI ที่จะเข้ามาดิสรัปท์การทำธุรกิจแบบเดิมๆ ขณะเดียวกัน ผลพวงจากสงครามระหว่างอเมริกากับจีนที่ทำให้สินค้าจีนบ่าไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ รวมทั้งประเทศไทยที่สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดในทุกอุตสาหกรรมจากสเกลการผลิตที่มีขนาดใหญ่กว่าไทยมากๆ ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) อีกทั้งเป็นสินค้า Deep Technology ที่เป็นของดี ราคาถูก ตลอดจนการเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซออนไลน์ อย่างเช่น Temu, Shein, Shopee, Lazada ฯลฯ หรือล่าสุดอุทกภัยที่กำลังเกิดทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ในขณะนี้ ซึ่งนับเป็นภัยพิบัติที่เกินความคาดหมาย และจะส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจทั้งจุลภาคและมหภาค
ดังนั้น ธุรกิจครอบครัวจึงต้องปรับตัว โดยเฉพาะแผนการดำเนินการหลัก การวางแผนระยะยาวเพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ การจัดการกับความเป็นเจ้าของธุรกิจ และการบริหารทรัพย์สิน ขณะที่การดำเนินการขั้นถัดไป คือ การสร้างระบบที่สามารถควบคุมการเติบโตและสภาพคล่องของธุรกิจ การวิเคราะห์และปรับกลยุทธ์ตามธรรมชาติของธุรกิจและสภาพแวดล้อมตามระยะเวลา ทั้งนี้ การดำเนินการควรเริ่มต้นทันทีและมีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ที่สำคัญ ต้องอาศัยความกล้าในการริเริ่มสิ่งใหม่ หรือกล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน หรือกล้าเพื่อเข้าสนามธุรกิจใหม่ๆ นอกพื้นที่เดิม หรือ Save Zone ของธุรกิจครอบครัว”
ธรรมนูญครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจครอบครัวจะก้าวมาถึงขั้นสร้าง ‘ธรรมนูญครอบครัว’ หรือไม่นั้น รศ.ดร.เอกชัย ซึ่งเป็นผู้ผลักดันโครงการ Family Business Thailand เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจกับเจ้าของธุรกิจครอบครัว ในนามของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า
“เจ้าของธุรกิจครอบครัวต้องเข้าใจด้วยว่า การดำเนินธุรกิจไม่ใช่แค่เพียงการบริหารงานประจำวัน แต่ยังเกี่ยวข้องกับการจัดการความเป็นเจ้าของและความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งมีอิทธิพลต่อธุรกิจอย่างมาก หากเจ้าของธุรกิจมองว่า ธุรกิจเป็นเพียงการบริหารงานประจำวัน ธรรมนูญครอบครัวจะไม่มีความสำคัญสำหรับพวกเขา แต่ถ้าพวกเขาเข้าใจถึงความซับซ้อนและความสำคัญของความเป็นเจ้าของ ธรรมนูญจะกลายเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่า เนื่องจากธุรกิจครอบครัวมีความซับซ้อนมากกว่าธุรกิจทั่วไป มีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่ต้องจัดการ ซึ่งทำให้การตัดสินใจ
และการดำเนินงานมีความท้าทายมากขึ้น แน่นอนว่า การสร้างธรรมนูญครอบครัวช่วยให้ธุรกิจมีความมั่นคงและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยการกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของสมาชิกในครอบครัว ที่สำคัญ เจ้าของธุรกิจควรมีมุมมองระยะยาวในการบริหารธุรกิจ เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมและจัดการกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”