ปี 2024 นับได้ว่าเป็นปีทองของ “ภูเก็ต” ที่ต้องจารึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์ไทย เพราะในปีนี้ “ภูเก็ต” คว้า 2 รางวัลใหญ่ จากงานประกาศรางวัล “IFEA/Haas & Wilkerson Pinnacle Award 2024” ที่จัดขึ้นโดย สมาคมเทศกาลและกิจกรรมระหว่างประเทศ (International Festivals & Events Association : IFEA) ณ เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา
โดยได้ประกาศผลไปเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 30 กันยายน 2567 (ตามเวลาประเทศไทย) โดย พัฒนชัย สิงหะวาระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคใต้ เป็นผู้รับมอบรางวัล ของจังหวัดภูเก็ตประเทศไทย
โดยรางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจให้ชาวภูเก็ตและคนทั้งชาติก็คือรางวัล “เมืองเทศกาลโลก (World Festival and Event City)” ที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของจังหวัดภูเก็ต ในทุกมิติสำหรับการเป็นเมืองเจ้าภาพแห่งงานอีเวนต์ และเทศกาลในระดับโลก
และนอกจากรางวัลเมืองเทศกาลโลกแล้ว “ประเพณีถือศีลกินผัก” ยังสามารถคว้ารางวัล “Grand Pinnacle” ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากงานนี้ที่มอบให้โดย International Festivals & Events Association : IFEA ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานอีเวนต์ทุกประเภททั่วโลก รางวัลนี้เปรียบเสมือนออสการ์ของวงการอีเวนต์เลยทีเดียว
ภูเก็ต เมืองเทศกาลโลก 2024
การได้รับรางวัล “เมืองเทศกาลโลก (World Festival and Event City)” นั้น ไม่ได้หมายความว่าเมืองนั้นจะต้องเป็นเมืองที่มีจำนวนเทศกาลมากที่สุด หรือเป็นเมืองที่จัดเทศกาลสนุกสนานที่สุด แต่ต้องมองลึกลงไปถึงการหยิบยกเรื่องราว ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ของเมืองนั้นที่สะท้อนให้เห็นผ่าน งานเทศกาล ได้อย่างดีเยี่ยม
เช่นนั้นแล้ว จำเป็นต้องย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ในตอนนั้น ภูเก็ต กำลังเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องเหมืองแร่ดีบุก ทำให้มีผู้คนมากหน้าหลายตาต่างอพยพเข้ามาทำงาน ค้าขายและตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตจำนวนมาก ทำให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองท่าทางการค้าที่สำคัญในแหลมมลายู ก่อให้เกิดการหลอมรวมทางวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างลงตัว สะท้อนให้เห็นผ่านสถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน , อาหาร, วิถีชีวิต, ความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวไทยพุทธและชาวมลายูในเวลาต่อมา
แต่การจะเป็นเมืองเทศกาลได้นั้น จะขาดพระเอกหลักอย่างงานเทศกาลไปไม่ได้ โดยงานที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ความเป็นภูเก็ตอย่างดีที่สุด คือ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” ซึ่งผสมผสานองค์ประกอบต่างๆ ที่แตกต่างหลากหลายของประเพณี พิธีกรรม อาหารและความร่วมแรงร่วมใจกันของชาวภูเก็ต ตลอด 9 วัน ไว้เป็นหนึ่งเดียว
“ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” คว้ามง “Grand Pinnacle”
นอกจาก ภูเก็ตจะได้รับการประกาศเป็นเมืองเทศกาลโลกแล้ว “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” ยังคว้ารางวัลสูงสุด Grand Pinnacle จากเวทีเดียวกันมาได้อีกด้วย โดยสมาคมเทศกาลและกิจกรรมระหว่างประเทศ (IFEA) ได้พิจารณาจากองค์ประกอบของเทศกาลที่ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด และที่สำคัญคือต้องเป็นงานเทศกาลที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร
แม้ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ - 9 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาของเทศกาลกินเจที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่ ก็มี 9 ไฮไลท์หลักที่ทำให้ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” กลายเป็นเทศกาลที่หาที่ไหนไม่ได้บนโลกนี้
จุดเริ่มต้นของเทศกาลถือศีลกินผัก เกิดขึ้นเมื่อในวันหนึ่งมีคณะงิ้วรับจ้างจากโพ้นทะเลเดินทางมาแสดงงิ้วให้แรงงานชาวจีนฮกเกี้ยนเหมืองแร่ดีบุกในเมืองกะทู้ จ.ภูเก็ต ได้รับชม แต่หลังจากปักหลักแสดงงิ้วที่นี่อยู่ได้ไม่นาน กลับมีชาวคณะงิ้วล้มป่วยลง ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นเพราะคณะงิ้วของตน ไม่ได้ประกอบ “พิธีเจี๊ยะฉ่าย” หรือ “พิธีถือศีลกินผัก”
ต่อมา คณะงิ้วตัดสินใจทำพิธีถือศีลกินผักอย่างเรียบง่าย เพื่อขอขมาและบูชาเง็กเซียนฮ่องเต้ ราชาธิราชแห่งดวงดาวต่างๆ ทั้ง 9 องค์ พร้อมกับงดเว้นการกินเนื้อสัตว์และสุรา เพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ ตั้งแต่ 1 - 9 ค่ำ เดือน 9 เป็นเวลา 9 วัน ผลปรากฏว่า หลังทำพิธีเสร็จสิ้น ชาวคณะงิ้วหายป่วยเป็นปลิดทิ้ง ทำให้พิธีนี้แพร่หลายไปทั่วเมืองและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา กลายเป็นประเพณีถือศีลกินผักในปัจจุบัน
เทศกาลถือศีลกินผัก เป็นช่วงเวลาแห่งการรักษากายใจให้บริสุทธิ์ ผ่านพิธีกรรมและความศรัทธา ทำให้ตลอดทั้งเทศกาลจะเต็มไปด้วยประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเชื่อและความศรัทธาของชาวภูเก็ตที่สืบทอดกันมายาวนาน ตั้งแต่ในเย็นวันก่อนเริ่มเทศกาล จะมีพิธียกเสาโกเต้ง หรือ พิธียกเสาเทวดา จุดตะเกียงไฟบนยอดเสา 9 ดวงที่ตลอดทั้ง 9 วัน
ตามมาด้วย พิธีอิ้วเก้ง หรือ พิธีแห่พระรอบเมือง โดยแต่ละศาลเจ้า หรือ แต่ละอ๊ามกว่า 40 แห่ง จะต้องแห่องค์เทพบนเกี้ยวที่ประดับประดาอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาไปรอบเมือง เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ถือศีลกินผัก ทำให้สองข้างทางระหว่างเส้นทางแห่พระเต็มไปด้วย ‘ตั๋ว’ หรือโต๊ะรับพระที่กำลังรอรับพรจากเทพเจ้า โดยในปีที่แล้วนั้นมีผู้เข้าร่วมขบวนแห่กว่า 37,000 คนและมีชาวบ้านมารอรับพระเต็มตลอดทุกเส้นทาง
ในขบวนแห่พระนี้ จะมี ม้าทรง ที่แต่งตัวสวยหล่อ ทำหน้าที่เป็นร่างรับใช้ขององค์เทพ คอยทิ่มแทงอาวุธ มีด ดาบหรือเข็ม ลงบนร่างกาย เพื่อรับเคราะห์แทนผู้ถือศีลกินผัก และจะเป็นตัวแทนให้พรแก่ผู้ถือศีลกินผักที่กำลังรอรับพร
ความยิ่งใหญ่ของพิธีแห่พระจากอ๊ามกว่า 40 แห่งที่ตกแต่งเกี้ยวอย่างอลังการ พร้อมกับการทำพิธีศักดิ์สิทธิ์จากม้าทรง จนมีจำนวนประชากรชาวภูเก็ตที่รอรับ-ส่งพระและเข้าร่วมขบวนแห่เกือบ 40,000 คนนี้เอง ทำให้ขบวนแห่พระถ่ายทอดความเป็นภูเก็ตออกมา ส่งผลให้ถูกเสนอเข้าชิงรางวัลสาขา Best Parade อีกรางวัลหนึ่งด้วย
ก่อนจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของเทศกาลด้วย พิธีโก้ยโห้ย หรือ พิธีลุยไฟ เพื่อชำระล้างพลังลบออกจากร่างกาย ด้วยการเดินข้ามสะพานไปให้ม้าทรงปัดเป่าสิ่งไม่ดี และลงตราประทับยันต์บนหลังเสื้อ พร้อมกับในคืนเดียวกันนั้น ต้องทำพิธีส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ ส่งองค์กิ้วอ่องไต่เต่และบรรดาเทพต่างๆ กลับสู่สวรรค์ โดยม้าทรงและพี่เลี้ยงจะร่วมกันหามเกี้ยวตั่วเหลี้ยนไปยังเสาโกเต้ง ซึ่งผู้ถือศีลกินผักสามารถตั้งโต๊ะบูชาและจุดประทัดเฉลิมฉลองได้ตลอดเส้นทาง เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
ประเพณีถือศีลกินผักถือเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวภูเก็ตที่ในหนึ่งปีจะมีเพียงครั้งเดียว และจะจัดยาวนานต่อเนื่องถึง 9 วัน ดังนั้นแล้ว เทศกาลนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงจากชาวภูเก็ตทุกเพศ ทุกวัย ทุกเจนเนอเรชั่นมาร่วมกันอาสาเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้ สานสัมพันธ์ให้ผู้คนและเมืองได้ใกล้ชิดกันอีกครั้ง
เริ่มตั้งแต่ช่วง 3 วันก่อนงานเทศกาล ชาวภูเก็ตและหน่วยงานต่างๆ จากทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมกันทำความสะอาดศาลเจ้าและเตรียมสถานที่จัดงานให้เรียบร้อย เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาล ชาวภูเก็ตทุกคนจะอาศัยทักษะความสามารถตามที่ตนเองถนัดไปเป็นอาสาสมัคร ประชาสัมพันธ์กว่า 630 คน หรือจะในส่วนพิธีกรรมและขบวนแห่ต่างๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 37,700 คน ยังรวมไปถึงอาสาสมัครในโรงเจอีกกว่า 1,600 คน และหน่วยรักษาความสะอาดที่คอยดูแลเมืองอีกกว่า 300 คน
โดยภูเก็ตได้รับรางวัลเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก ที่องค์การยูเนสโกมอบให้กับเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่โดดเด่นในด้านอาหาร มีวัฒนธรรมการกินที่หลากหลาย และมีการส่งเสริมอาหารท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล โดยในเทศกาลถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต นักเดินทางที่เดินทางมาเข้าร่วมงานประเพณีจะได้ลองลิ้มชิมรสความเป็นภูเก็ตผ่านอาหารเจ หลายหลากไม่ว่าจะเป็นอาหารเจต้นตำรับ และสไตล์ฟิวชันที่ผสมรสชาติความเป็นจีนฮกเกี้ยน ไทย และมลายู พร้อมเหล่าเชฟจากร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ หลายร้าน ต่างพากันรังสรรค์อาหารจานผักขึ้นมาอย่างพิถีพิถัน ลบภาพผักใบเขียว รสชาติฝาดลิ้น ให้กลายเป็นเมนูอร่อย แถมยังได้บุญคำโต
ด้วยเหตุนั้นเอง ทำให้ตลอดทั้ง 9 วันในปีนี้ไม่ว่าจะมองไปมุมไหน ก็ล้วนมีแต่อาหารมังสวิรัติสไตล์ภูเก็ตให้ได้ลองลิ้มชิมรสความเป็นภูเก็ตอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะร้านอาหารมิชลินสตาร์ โรงเจ หรือ สตรีทฟู๊ดเฉพาะกิจอย่างตลาดหน้าอ๊าม ก็พร้อมต้อนรับและคอยแบ่งปันอาหารให้ทุกคนได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเทศกาลถือศีลกินผักได้ ทุกที่ ทุกเวลา
เพื่อให้ชาวเมืองภูเก็ตทุกคนได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้อย่างแท้จริง ในพิธีขบวนแห่พระ อ๊ามกว่า 40 แห่งที่กระจายตัวอยู่ทั่วภูเก็ตจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับพิธีนี้ โดยแต่ละอ๊ามจะมีเส้นทางการแห่พระของตนเอง และจะผลัดเปลี่ยนกันไปตามวัน ซึ่งหากได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในขบวนแล้ว จะได้สัมผัสถึงร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของภูเก็ต ผ่านบรรยากาศเมืองเก่าและอาคารบ้านเรือนสไตล์ชิโน-โปรตุกีสตลอดสองข้างทาง
อีกทั้ง ผู้ถือศีลกินผัก ชาวเมือง และนักท่องเที่ยว ที่ต้องการรอรับ-ส่งพระ สามารถตั้งโต๊ะรอรับพระในวันที่เส้นทางขบวนแห่พระของแต่ละอ๊ามผ่านหน้าบ้านเรือนได้ ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนของเมืองภูเก็ต หรือจะเป็นใคร ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่เดินทางไม่สะดวกก็สามารถรอรับพระในจุดที่ง่ายต่อการเดินทางได้ทุกที่ ซึ่งช่วยลดปัญหาความแออัดและปัญหาการสัญจรที่อาจจะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
เทศกาลถือศีลกินผัก กินเวลาไปนานกว่า 9 วัน พาให้เมืองภูเก็ตทั้งเมืองเต็มไปด้วยร่องรอยของการเฉลิมฉลองสุดยิ่งใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยม เพื่อฟื้นคืนสภาพภูเก็ตให้กลับมาอีกครั้ง
ในส่วนของ อาหาร ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ทางเมืองภูเก็ตจึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีการจัดการตั้งแต่ต้นลม ผ่านการรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติก และเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นได้ชัดในพื้นที่โรงเจ โดยผู้ถือศีลกินผักสามารถนำปิ่นโตมา เพื่อรับอาหารกลับบ้านได้ หรือหากไม่สะดวก ทางโรงเจจะมีใบตองและชามที่ทำจากวัสดุธรรมชาติไว้ให้บริการ หรือถ้าหากผู้ถือศีลกินผักต้องการรับประทานอาหารที่โรงเจก็สามารถช่วยเมืองได้ด้วยการตักอาหารในปริมาณที่พอเหมาะกับตนเอง เพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งได้
ส่วนเศษอาหารและเศษผักจะถูกเปลี่ยนเป็นปุ๋ยชีวภาพและอาหารสัตว์ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืน ทางเมืองภูเก็ตให้ความใส่ใจกับการแยกขยะอินทรีย์และขยะพลาสติก เพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรมท้องถิ่น รวมถึงยังช่วยลดขยะจากการฝังกลบ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลได้
เมื่อในส่วนของอาหาร เมืองภูเก็ตสามารถจัดการได้แล้ว ยังเหลือพื้นที่ทางกายภาพที่ทางเมืองต้องฟื้นคืนสภาพแวดล้อมอันสวยงามของภูเก็ตให้กลับมาเป็นดังเดิม โดยตลอดทั้งเทศกาล เมืองภูเก็ตจะถูกประดับประดาไปด้วยโคมไฟ ธง และของตกแต่งมากมาย ซึ่งในแต่ละปีจะนำสิ่งเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย
มากไปกว่านั้น ทางเมืองภูเก็ต ยังให้ความสำคัญไปถึงการลดปริมาณกระถางธูปและขวดน้ำมัน พร้อมใช้เครื่องตรวจจับควันในศาลเจ้า เพื่อลดการก่อให้เกิดควันและมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
หลังเสร็จสิ้นเทศกาล เมืองภูเก็ตจะเข้าสู่โหมดฟื้นฟูอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อคืนสภาพถนนและสถานที่จัดงานเทศกาล ให้เมืองภูเก็ตกลับสู่สภาพปกติในระยะเวลาอันรวดเร็ว ด้วยแรงกำลังจากอาสาสมัครในจังหวัดภูเก็ตกว่า 300 คน
นอกจาก ในช่วง 9 วันนี้ จะได้ชำระกายและจิตใจให้บริสุทธิ์แล้ว ยังมีส่วนช่วยให้เมืองได้ประโยชน์ไปพร้อมกัน โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมเทศกาลถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ตกว่า 650,000 คน สร้างรายได้ให้เกิดการหมุนเวียนในพื้นที่สูงถึง 5,750 ล้านบาท พร้อมทั้งก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวภูเก็ตอีกกว่า 4,500 ตำแหน่ง เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นในช่วงเทศกาลนี้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ทั้งในส่วนการโรงแรม ค้าขายและการขนส่งได้จำนวนมาก
จะเห็นได้ว่า “เทศกาลถือศีลกินผัก” เป็นตัวแทนของงานเทศกาลไทยที่ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรม ประเพณีความเชื่อ อาหาร และสถาปัตยกรรม นำเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นสอดคล้องไปกับงานเทศกาลถือศีลกินผักได้อย่างลงตัว ผ่านการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนของชาวภูเก็ตที่ร่วมใจกันส่งให้ ภูเก็ต คว้ารางวัล “เมืองแห่งเทศกาลโลก” และ “Grand Pinnacle” ได้อย่างสมฐานะ
การที่ในปีนี้ ภูเก็ต คว้าถึง 2 รางวัลใหญ่จากสมาคมเทศกาลระดับโลกอย่าง IFEA นั้น ถือเป็นการรันตีว่า ภูเก็ต มีศักยภาพในการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมผ่านงานเทศกาล เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพจากทั่วโลก สอดคล้องกับนโยบาย Festival Economy ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการจัดงานเทศกาล พร้อมยกระดับประเพณี ถือศีลกินผัก ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น (Homegrown) ให้กลายเป็น Flagship Event หรืองานเทศกาลประจำปีที่ยกระดับให้ ภูเก็ต ประเทศไทย ก้าวสู่การเป็นเมืองอีเว้นต์ระดับนานาชาติอย่างเต็มตัว
ใครอ่านแล้วอยากลองประเดิมเมืองแห่งเทศกาลและอีเวนต์โลก พร้อมกับเฉลิมฉลองรางวัล Grand Pinnacle ของ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” และตื่นตาอลังการไปกับ “ขบวนแห่พระ” ก็สามารถเข้าร่วมเทศกาลนี้ได้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567 – วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567 ที่ จ.ภูเก็ต ประเทศไทย