“ดีแทค” เดินหน้าพัฒนาระบบแจ้งค่าพิกัดแบบ GNSS RTK รากฐานสำคัญต่อบริการ 5G ในอนาคต ชี้ระบบแจ้งตำแหน่งต้องถูกต้องแม่นยำตอบโจทย์โซลูชั่นยุค 5G ที่มีค่าความหน่วงของสัญญาณที่ต่ำ (Ultra-low latencies) และการตอบสนองที่เร็ว
จากเดือนกันยายนที่ผ่านมา "สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล" (ดีป้า) และ "ดีแทค" ได้ลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบแจ้งพิกัดแบบ "GNSS RTK" (Real-time kinematic for improving accuracy on positioning of Global Navigation Satellite System) ซึ่งเป็นระบบที่นำไปประยุกต์ใช้งานดิจิทัล ในการระบุพิกัดสถานที่ต่างๆ และตำแหน่ง ที่มีความแม่นยำสูงมาก ลดข้อผิดพลาดด้วยสัญญาณเชื่อมต่อจากโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการระบุตำแหน่งผ่านดาวเทียม ให้แม่นยำได้ถึงระดับเซนติเมตร โดยโครงการได้คืบหน้าและเริ่มทดสอบเฟสแรกเพื่อปรับค่าสัญญาณตามแผนความร่วมมือแล้ว
ในส่วนของเทคโนโลยี 5G-Ready ดีแทคเป็นรายแรกที่การนำเทคโนโลยีโครงข่ายระบบชุมสายเสมือน (Visualized Core Network: VCN) มาดำเนินงาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่สุด และรองรับการใช้งาน 5G เพียงอัปเกรดเทคโนโลยีสู่ 5G สามารถพร้อมให้บริการได้ทันที
โครงการดังกล่าวได้พัฒนาจากโครงข่ายดีแทคในระยะเวลา 3 ปี จนถึงเดือนกันยายน 2564 ตั้งเป้าสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 5G เพื่อรากฐานบริการเชิงตำแหน่ง (Location based service) นำสู่ทุกนวัตกรรมดิจิทัลที่กำลังถูกออกแบบพึ่งพาการใช้ข้อมูลจากค่าพิกัดที่ต้องการความแม่นยำสูง และด้วยโครงข่าย 5G จะเชื่อมต่ออุปกรณ์นับล้านชิ้นไว้ด้วยกันจึงต้องมีแพลตฟอร์มที่พัฒนาเพื่อรองรับการตอบสนองสัญญาณแบบเรียลไทม์ (Real time) ด้วยจุดเด่นค่าความหน่วงสัญญาณที่ต่ำ (Ultra-low latencies) พร้อมทั้งดีแทคและดีป้ามีแนวคิดร่วมต่อยอดเป็นแพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์สนับสนุนทุกอุตสาหกรรม
ราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “เรากำลังเริ่มต้นพัฒนาแพลตฟอร์มที่สำคัญที่จะมีผลต่อการแจ้งเกิดเทคโนโลยีในยุค 5G โดยการสื่อสารดิจิทัลในโลกความเร็วสูงจะถูกออกแบบให้สัมพันธ์กับพิกัด หรือระบุตำแหน่งที่แม่นยำ เพื่อพลิกโฉมบริการใหม่ เช่น การนำยานยนต์ไร้คนขับมาให้บริการ การใช้โดรนขนส่งสินค้าทางอากาศสู่จุดรับสินค้าหรือผู้รับที่แม่นยำ รวมทั้งการใช้งานของเกษตรกรรมแนวใหม่ เช่น สามารถใช้โดรนในการฉีดยาควบคุมแมลงได้ถึงระดับเฉพาะต้นในแปลงเพราะปลูก เป็นต้น”
ดังนั้น การเปิดตัว 5G จะไม่ใช่แค่กรณีของผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่จะเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่ายของตน หรือผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เพียงเท่านั้น แต่รวมถึงการมีส่วนร่วมทั้งอุตสาหกรรมสู่การเชื่อมต่อธุรกิจสู่ธุรกิจ และธุรกิจสู่ผู้บริโภค รวมทั้งยังพลิกโฉมอุตสาหกรรมและธุรกิจด้วยวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืนสู่กลยุทธ์ 5G ของไทย
ที่ผ่านมาบริการที่ใช้งานค้นหาตำแหน่งสถานที่เชื่อมโยงพิกัดจากแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ จะมีค่าผิดพลาดในการระบุตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์แบบละติจูดและลองจิจูด (Latitude/Longitude) ด้วยข้อจำกัดเทคโนโลยีแบบเดิมมีค่าความคลาดเคลื่อนได้มากถึง 5-10 เมตร จึงทำให้เกิดผลเสียในการใช้แผนที่นำทาง หรือระบุจุดหมายสถานที่ได้
โครงการที่ดีแทคพัฒนาร่วมกับดีป้า จะทำให้การแจ้งพิกัดทำได้แม่นยำโดยมีค่าผิดพลาดเพียงระดับเซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการต่อยอดจากเทคโนโลยี 5G ที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อหลายอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการระบุตำแหน่ง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ อุตสาหกรรมการแพทย์ ที่มีการใช้การบังคับเครื่องมือแพทย์จากแพทย์ผู้ชำนาญการที่อยู่ระยะไกล ๆ การบริหารคลังสินค้าซึ่งสามารถระบุชั้นและตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น