อีกหนึ่งบทพิสูจน์ในการสร้าง “Best Place to Work” สถานที่ทำงานที่ดีที่สุด...ผู้นำหญิงเก่ง CHRO แห่งทรู ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต้นแบบแม่ทัพหญิงผู้ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเท่าเทียมทางเพศและการส่งเสริมศักยภาพสตรี รับ 2 รางวัลระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก “UN Women 2024 Thailand WEPs Awards”
“WEPs Awards” จัดขึ้นโดยองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้า (DFAT) รัฐบาลออสเตรเลีย ร่วมกับองค์กรภาคี อาทิ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand) เพื่อเชิดชูผู้บริหารและองค์กร ที่มีแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมเสมอภาคทางเพศ และศักยภาพสตรีในภาคธุรกิจ ภายใต้หลักการ Women's Empowerment Principles (WEPs)
“ที่ทรู คอร์ปอเรชั่น เราเชื่อว่าการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ยังเป็นสิ่งที่ชาญฉลาด ด้วยเราเป็นเทคคอมปานีไทย ที่มุ่งพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และศักยภาพสตรีในองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยอมรับในความหลากหลาย เปิดกว้างให้พนักงานทุกคน ทุกระดับ ไม่ว่าหญิงหรือชายได้เติบโตไปด้วยกัน” ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว
“ภายหลังการควบรวม ทรู-ดีแทค เรามีความหลากหลายของพนักงานมากยิ่งขึ้น ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและเห็นคุณค่าในศักยภาพของผู้หญิง ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคลและการเคารพสิทธิมนุษยชนที่เรายึดถือมาโดยตลอด”
ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น กำหนดนโยบายและดำเนินการต่างๆ ที่ส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงในองค์กรที่ชัดเจน อาทิ การสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ทั้งการส่งเสริมตำแหน่งคณะกรรมการบริษัทที่จะต้องมีสัดส่วนอย่างน้อย 30% โดยมีพนักงานหญิงในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับ Science, Technology, Engineering and Mathematics (STEM) 38% ซึ่งสามารถทำได้เกินเป้าหมายที่ 35% อีกทั้งมีพนักงานเพศหญิงในระดับผู้บริหารที่อยู่ในหน่วยงานที่สร้างรายได้ 56% เกินเป้าหมายที่ 50% รวมถึงส่งเสริมความสามารถและพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้แก่พนักงานผู้หญิงผ่านการฝึกอบรมต่างๆ เพื่อให้สามารถเติบโตในสายอาชีพ
ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว ความแตกต่างและข้อจำกัดของผู้หญิงต่อการเข้าสู่สนามการทำงาน ทรูยังได้กำหนดนโยบายและจัดสรรสวัสดิการที่เกี่ยวข้องต่อการทำหน้าที่แม่ เช่น การลาคลอดได้ 6 เดือนหรือ 180 วัน เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน การกำหนดเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ตามความต้องการ รวมถึงการจัดพื้นที่ห้องให้นมบุตร เป็นต้น ซึ่งผลจากการสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ ทำให้พนักงานผู้หญิงกลับมาทำงานหลังใช้สิทธิ์ลาคลอด/ลาเลี้ยงดูบุตรมากขึ้นถึง 87%
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง Bring Your Best Club คอมมิวนิตี้รับฟังเสียงของพนักงาน เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น แบ่งปันมุมมอง เพื่อนำไปขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นนโยบายด้านบุคลากรที่เข้าใจกลุ่มที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้ง 2 รางวัลที่ได้รับ เป็นเครื่องยืนยันและกำลังใจที่สำคัญที่จะทำให้ทรูเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่ “Best Place to Work” สถานที่ทำงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศ และสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดต่อไป