บริษัทที่ประสบความสำเร็จและมีนวัตกรรมมีลักษณะเหมือนกัน 9 ประการ ถ้าบริษัทหนึ่งบริษัทใดสร้างวัฒนธรรมที่มีองค์ประกอบเหล่านี้ บริษัทดังกล่าวจะพร้อมสำหรับนวัตกรรม "แมนพาวเวอร์" ขอนำ 9 ดัชนีชี้วัดการมีนวัตกรรมขององค์กรให้ผู้นำได้สำรวจความพร้อมก่อนนำพาองค์กรสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลต่อไป
1. ความไว้วางใจ สำหรับความไว้วางใจเปรียบเสมือนตาข่ายนิรภัยที่อนุญาตให้ลองทำสิ่งใดๆ โดยไม่รู้ผลลัพธ์ที่จะออกมา ในทางตรงกันข้ามความไม่ไว้วางใจเป็นสัญญาณของการทำงานที่ผิดปกติและความสับสน นอกจากนี้ความไว้วางใจยังช่วยส่งเสริมนวัตกรรมด้วยการสร้างบรรยากาศที่ยินยอมให้เกิดและรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และสิ่งที่ต้องลงมือทำ คือ ผู้นำต้องเต็มใจที่จะยินยอมให้พนักงานที่ได้รับมอบหมายหน้าที่เกี่ยวกับนวัตกรรมให้หาทางออกที่สร้างสรรค์ภายในบริบทของแผนการเปลี่ยนผ่านที่กว้างกว่า ผู้นำที่น่าเชื่อถือจะวางแผนอย่างชัดเจนและสร้างกรอบการทำงานที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรม
2. ความอยากรู้อยากเห็น ความอยากรู้อยากเห็นเป็นเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมนั้น องค์กรควรสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการคิดเชิงวิพากษ์ ที่สนับสนุนการท้าทายผู้มีอำนาจและการแสดงความคิดเห็น ถึงแม้จะหมายถึงการสร้างความขัดแย้งก็ตาม และสิ่งที่ควรลงมือทำต่อก็คือ พฤติกรรมของผู้นำ – โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ทำเป็นประจำจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมและผลงานของทีม และยิ่งผู้นำมีอาวุโสมากเท่าไร พฤติกรรมของพวกเขาก็จะยิ่งมีผลกระทบต่อคนอื่นในองค์กรมากเท่านั้น เพื่อที่จะสนับสนุนความอยากรู้อยากเห็น ผู้นำควรฝึกฝนตามที่ตนสอนและแสดงให้เห็นการเรียนรู้ของตัวเอง เพื่อสาธิตวิธีการปลดล็อกความอยากรู้อยากเห็นของตน
3. การทดลอง คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เป็นนักทดลองตามธรรมชาติ เราฝึกฝน ประสบความสำเร็จ ล้มเหลวแล้วทดลองใหม่อีกครั้ง องค์กรจะประสบความสำเร็จเมื่อเดินหน้าทำการทดลองไปเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นก็มุ่งเน้นที่ขอบเขตความสนใจของตน ในขณะที่สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ การลงมือทำเป็นการรวบรวมความคิดเห็นจากลูกค้า พนักงาน นักลงทุน คู่แข่งและแม้กระทั่งเครื่องจักรและระบบเพื่อค้นหาวิธีการใหม่ๆ พยายามหาเวลาในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และกระบวนการเพื่อทำซ้ำ ทดลองวิธีการใหม่ๆ และเรียนรู้จากมัน
4. การยืนหยัด การมีความยึดมั่นและกล้าเสี่ยงจะช่วยให้องค์กรยืนหยัดอยู่ได้เมื่อพบอุปสรรค องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะให้การสนับสนุน แนวทางและปรับตัวเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น วัฒนธรรมที่ล้มเหลวจะยอมแพ้เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค ซึ่งกลุ่มนี้เป็นบริษัทที่มักจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพราะไม่เต็มใจที่จะยืนหยัดฝ่าฟันในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย สิ่งที่ต้องลงมือทำ คือ องค์กรแห่งนวัตกรรมคาดหวังว่าอาจจะต้องพบอุปสรรคระหว่างทาง จงเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน พร้อมหาเวลาระหว่างกระบวนการทำงานเพื่อสำรวจปัญหา ในความยืดหยุ่นและความคล่องตัว มักจะมีโอกาสรออยู่เสมอ
5. ความมุ่งมั่น นับเป็นเคล็ดลับสู่ผลสัมฤทธิ์ที่ไม่ใช่แค่มีความเก่งอย่างเดียว แต่เป็นการผสมผสานระหว่างความหนักแน่นและความทุ่มเท ที่เรียกว่าความมุ่งมั่น คนที่มีความมุ่งมั่นจะแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง และหาทางออกเมื่อเผชิญกับความยุ่งยากที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความแตกต่างในตลาดทุกวันนี้ และสิ่งที่ต้องลงมือทำ คือ เป็นผู้นำในการพัฒนาวัฒนธรรมด้วยความมุ่งมั่นแน่วแน่ เมื่อผู้นำที่ประสบความสำเร็จทำสิ่งผิดพลาดหรือประสบความล้มเหลว เขาจะรับผิดชอบและเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก เขาจะรับรู้ความล้มเหลว หาวิธีบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และไม่ชี้นิ้วหาคนผิดหรือโทษคนอื่น
6. ความรู้สึกผูกพันกับทีม ทุกอย่างที่ประสบความสำเร็จเกิดขึ้นจากความพยายามและเป็นหนึ่งเดียวของทีม ซึ่งทุกคนต้องวางผลประโยชน์ส่วนตัวลงเพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายที่แต่ละคนไม่สามารถบรรลุได้ด้วยตนเอง บ่อยครั้งที่องค์กรมักจะมุ่งเน้นที่บทบาทการทำงานของแต่ละคน และหวังว่าผลงานที่ดีของทีมจะตามมา แนวทางที่มีประสิทธิภาพกว่าจะมุ่งเน้นที่คุณสมบัติและแนวโน้มพอ ๆ กับทักษะของแต่ละคน ซึ่งการลงมือทำง่ายๆ คือ พิจารณาสองบทบาทที่แต่ละคนต้องทำเมื่อทำงานทีม ได้แก่ บทบาทการทำงานซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งอย่างเป็นทางการและความชำนาญทางเทคนิคของคนๆ นั้น กับบทบาททางจิตวิทยา ซึ่งมาจากลักษณะของเขา การสังเกตความสมดุลของทั้งสองบทบาทในทีมทำให้เราเข้าใจกลไกการขับเคลื่อนของทีม นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความน่าจะเป็นที่งานซึ่งได้รับมอบหมายจะสำเร็จหรือล้มเหลว
7. ความหลากหลาย ในการทำงานความหลากหลายของความคิดนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีกว่าและผลลัพธ์ที่ดีขึ้น การที่นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้นั้น เราจำเป็นต้องมีมุมมองที่หลากหลายเพื่อเป็นเครื่องนำทางในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สมมุติฐานเก่าอาจอันตรายต่อสุขภาพของธุรกิจในระยะยาว แทนที่จะมุ่งเน้นในการแก้ไขอคติ องค์กรควรให้ความใส่ใจกับการรวมเข้าด้วยกัน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ และองค์กรมองเห็นศักยภาพของพวกเขา และสิ่งที่องค์กรต้องทำจะต้องไม่เพียงแต่พูดเท่านั้น แต่ต้องลงมือปฏิบัติจริงด้วย ในขณะที่ซีอีโอมีหน้าที่ที่จะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ แต่เราทุกคนก็สามารถสร้างความแตกต่างได้ตั้งแต่วันนี้ การเปลี่ยนแปลงอาจมาจากบุคคล ลองถามตัวเองว่า “คุณจะทำอะไรเพื่อให้มันเกิดขึ้น? คุณจะสนับสนุนใคร และคุณจะเชิญใครเข้ามา?”
8. การสื่อสาร นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จควรได้รับการขับเคลื่อนด้วยวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจน ผู้นำควรสื่อสารอย่างเปิดเผยและต่อเนื่องเพื่อกำหนดตัวแปรสำหรับความคิดใหม่ ๆ นอกจากนี้การสื่อสารที่ดียังหมายถึงการแบ่งปันความคิดและการเข้าใจมุมมองที่ขัดแย้งกัน เมื่อต้องลงมือทำ การสื่อสารอย่างชัดเจนว่านวัตกรรมมีความหมายอย่างไรต่อองค์กร วิสัยทัศน์และเป้าหมายของบริษัท ส่งเสริมเครือข่ายแบบเปิดและการแสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์
9. ความสามารถในการเรียนรู้ ในยุคดิจิทัล ทักษะใหม่ ๆ เกิดขึ้นเร็วและเปลี่ยนแปลงเร็ว ครึ่งหนึ่งของทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุดในทุกวันนี้เป็นทักษะที่ยังไม่มีอยู่ด้วยซ้ำเมื่อสามปีก่อน สิ่งนี้เองที่ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้เป็นข้อได้เปรียบ ความสามารถในการเรียนรู้ หมายถึง ความต้องการและความสามารถที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วและปรับเปลี่ยนทักษะของตนให้ยังสามารถใช้การได้ สิ่งที่คุณทราบอาจมีความจำเป็นน้อยกว่าสิ่งที่คุณสามารถจะเรียนรู้ได้ และการรู้คำตอบของคำถามก็อาจมีความสำคัญน้อยกว่าการที่คุณสามารถจะถามคำถามที่ถูกต้องตั้งแต่แรก เมื่อต้องลงมือทำ การจ้างคนที่มีความสามารถในการเรียนรู้สูง หลายครั้งที่เรามักจะเน้นที่การฝึกอบรมและการพัฒนาในขณะที่ประเมินความสำคัญของการเลือกที่เหมาะสมต่ำเกินไป แต่ความจริงก็คือการป้องกันและคาดการณ์สามารถทำได้ง่ายได้กว่าแก้ไขและเปลี่ยนแปลง การเลือกที่ดีทำให้การอบรมและการพัฒนามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพราะการเสริมศักยภาพสามารถทำได้ง่ายกว่านั่นเอง
องค์กรของคุณเป็นอย่างไรกันบ้างกับ 9 ดัชนี้ชี้วัดการมีนวัตกรรมขององค์กรยุค 4.0 ที่แมนพาวเวอร์กรุ๊ปได้นำมาให้ตรวจเช็คกัน ทั้งนี้การสร้างวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมอาจมีระดับความเร็วแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับองค์กรและอุตสาหกรรม ไม่ว่าในอุตสาหกรรมใดก็ตาม การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และการปรับตัวเป็นความคาดหวังพื้นฐานในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านในปัจจุบัน การลงทุนในนวัตกรรมและวัฒนธรรมซึ่งเป็นสองสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ จะทำให้องค์กรพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และหากทำได้ดีผลตอบแทนที่ได้ก็จะมหาศาลและรวดเร็ว