วันคนโสด "11:11" ที่อีคอมเมิร์ซหลายค่ายกระหน่ำแคมเปญชิงส่วนแบ่งในกระเป๋าลูกค้าให้ได้มากที่สุดนั้น แน่นอนว่า อีคอมเมิรซ์เจ้าใหญ่ๆ ในตลาดมีคนแห่เข้าไปช็อปกันจนระบบจ่ายเงินล่มเสียงบ่นจากนักช็อประงม จนถ้าใครเสิร์ชคีย์เวิร์ด "pantip 11:11 2561" ก็จะเจอดราม่าเรื่องใหม่ๆ เฉียด 1 หมื่นผลลัพธ์เลยทีเดียว
งานนี้บรรดาอีคอมเมิรซ์ 3 เจ้าในไทยต่างอ่วมกันทั่วหน้า ทั้ง "Lazada" และ "JD.com" สำหรับ "Shopee" เมื่อค้นคำว่า 11:11 shopee ระบบล่ม ก็พบกว่า 16,700 ผลลัพธ์ โพสต์แรกหมัดตรงก็คือเอาเงินค่าทำโฆษณาไปผูกระบบบัตรดีหรือเปล่า
แล้วถ้าค้นจากคำเดียวโดดๆ ว่า “ระบบล่ม” คราวนี้มาจัดเต็ม 18.6 ล้านผลลัพธ์มาจากกลุ่มสถาบันการเงินล้วนๆ ที่น่าสนใจคือ Blognone ที่บอกว่า เจอกันเดือนละหน ประมาณว่า งวดไหนแบงก์ไหน ใครจะล่มมาเจอกัน ที่แรงจัดๆ ก็ดันมาล่มวันเงินเดือนออก แล้วไม่ใช่แบงก์เดียว สามแบงก์เกิดเป็นวิสาขบูชา ล่มพร้อมโดยไม่ได้นัดหมาย
ล่าสุดประปรายแต่ดราม่าได้แรงๆ ก็ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกโรงเตือนธนาคารพาณิชย์ให้ดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทุกราย เช่น กรณีรายการโอนเงินไม่สมบูรณ์หรือไม่ได้รับเงินทันที พร้อมสั่งการธนาคารที่มีปัญหาให้มีแผนการยกระดับศักยภาพความสามารถในการให้บริการ เพื่อรองรับธุรกรรมที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
แต่ที่สุด ปัญหาระบบ Payment หรือระบบจ่ายเงินล่ม ก็ยังเกิดที่ชัดเจนก็วันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพราะปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดประเด็น “เล่นใหญ่” ก็ยังเป็นเรื่องเดิม เช่น ซื้อสินค้า จ่ายเงินแล้ว รอการอัพเดตสถานะ แต่รอแล้วรอเล่าสถานะการจ่ายเงินก็ไม่ได้อัพเดต เรียกได้ว่าช้อปแหลกจนระบบ Payment ล่มกันระนาว ตอนช่วงเที่ยงคืน ระบบขึ้นว่ากำลังรอการชำระเงิน หนำซ้ำ โทรหาคอลเซ็นเตอร์ก็ไม่ได้
ที่จริง สิ่งเหล่านี้ สะท้อนจำนวนนักช้อปมหาศาล การจับจ่ายใช้สอยที่กระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีได้เป็นอย่างดีเยี่ยมเพราะ 11:11 กลายเป็น Destination ที่บรรดานักช็อปจำนวนมหาศาลต่างก็ปักธงว่าจะต้องมาช้อปในช่วงนี้ให้ได้ “ของดี ของต้องมี ของถูก” อยู่ตรงนี้
ว่าแล้ว พลังดัชนีก็ทำงานๆ คลิกกันระเบิด แน่นอนว่า ระบบก็ต้องล่มเป็นธรรมดาเพราะต่อให้มีสถาบันการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศเข้ามาเป็นพันธมิตร แต่ก็ใช่ว่าจะรองรับชุมชนนักช็อปในวันเทศกาล 11:11 เช่นนี้ได้ แต่เมื่อระบบล่มถามว่า ใครจะรับผิดชอบผลกระทบจากการทำธุรกรรมของลูกค้ากับธุรกิจ E-commerce ค่ายต่างๆ ได้เมื่อ ระบบธนาคารพาณิชย์เจอปัญหาคอขวดจนระบบล่ม!!
ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จที่จะส่งให้ธุรกิจ"E-commerce" ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้นต้องอาศัยห่วงโซ่อุปทานจากพันธมิตรหลายส่วนจริงๆ โดยเฉพาะระบบ "Payment" และ "Logistic" ที่เป็นหนึ่งในแกนกลางที่สำคัญของระบบ เพื่อให้ธุรกิจ E-commerce ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น และเติบโตไปพร้อมๆ กัน
แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แม้ภาครัฐจะเน้นให้ผู้ประกอบการกลายเป็น Smart SME และปลุกตลาดให้ E-commerce เติบโต เพื่อสร้างนักรบทางเศรษฐกิจ ทว่า สองส่วนนี้สามารถรองรับได้การเติบโตของ E-commerce ได้จริงๆ หรือเปล่า ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างชะตากรรมของระบบล่มที่ทำให้ทั้งผู้บริโภคและบรรดาแพลตฟอร์ม E-commerce ต่างๆ กลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงจริงๆ และต้องแบกรับภาระที่ตนไม่ได้ก่อ แต่เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มของตนเองก็ต้องก้มหน้ายอมรับความผิดกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ จริงๆ ต้องบอกว่าตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็วมากๆ โดยเฉพาะเมื่อดูจากมูลค่าการซื้อขายบนอีคอมเมิร์ซ เปรียบเทียบระหว่างปี 2558 กับ ปี 2561
ทั้งนี้ การเติบโตในส่วนของ "B2B" 1.81 ล้านล้านบาท ขณะที่ "B2G" 302 แสนล้านบาท สำหรับการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ "B2C" อยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาทแล้วเมื่อ เจาะเฉพาะสัดส่วนของการช็อปออนไลน์ จะพบว่าผู้บริโภคช็อปผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้
จะเห็นได้ว่า เค้กมูลค่า 27.1 หมื่นล้านของ e-Marketplace ในส่วนของ B2C ที่มี ลาซาด้า ยักษ์อีคอมเมิร์ซ, Shopee, TopValue, JD.co.th, Zlingo, Shein ฯลฯ รวมอยู่ในนั้นย่อมจะเป็นตลาดที่ไม่ธรรมดา
การเติบโตในอัตราเร่งและเร็วมากๆ นี้เองย่อมจะทำให้เกิดคำถามว่า ระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่รองรับนั้นเติบโตตามไปด้วยและเพียงพอหรือไม่ ระบบนิเวศที่กล่าวถึง เช่น การคัดกรองสินค้าและผู้ขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแต่ละค่าย ระบบดิจิทัลเพย์เม้นท์ ระบบการป้องกันความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ ฯลฯ
E-commerce จะดราม่า “เล่นใหญ่ ใส่ไข่สนุก” อีกรอบหรือไม่ "12:12" น่าจะได้ดูกันว่า แต่ละค่ายไม่ว่าจะเป็นค่ายใหญ่ค่ายเล็ก หรือกลุ่ม eTailer ได้ถอดบทเรียน และเตรียมการเพื่อรับมืออย่างไรกับการเป็น Destination ของชุมชนนักช็อปอีกครั้ง แม้ธุรกิจ E-commerce จะเติบโตท่ามกลางระบบนิเวศ ซึ่งเป็นโซ่อุปทานของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ยังไม่สนับสนุนกันเท่าที่ควร ดังนั้นก็คงต้องฝากให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ลองพิจารณาถึงแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมกันอีกทีดีหรือไม่ เพราะเราเองก็อยากเห็นการเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์ม E-commerceในประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตอนนี้ถนนทุกสายต่างก็กำลังมุ่งหน้าไปสู่ E-commerce อย่างแท้จริง ดังนั้นเราก็ต้องพัฒนาให้แข็งแกร่งและยั่งยืน ดังเช่นที่วิสัยทัศน์ของ E-commerce ยักษ์ใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เคยกล่าวไว้
อย่างไรก็ตาม การจะทำอะไรก็ตามย่อมมีข้อจำกัดเป็นสัจธรรม แต่การเอาชนะข้อจำกัดต่างหากคือความท้าทายที่แท้จริง