จุดประสงค์หลักของเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลคือการทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น ธุรกิจหลายแห่งสามารถสร้างสรรค์กระบวนการใหม่ๆ และเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่เคยคิดบ้างหรือไม่ว่าเทคโนโลยีอาจทำให้เราขี้เกียจ? เป็นเรื่องจริงที่เทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อสังคมของเราอย่างมาก การที่เทคโนโลยีจะมีประโยชน์หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าเราใช้มันอย่างไร ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีทำให้เราขี้เกียจหรือฉลาดขึ้น หรือทั้งสองอย่าง? ก็เป็นคำถามที่ชวนหาคำตอบ
เทคโนโลยีแอบสั่งจิต! มาดูว่าผู้บริโภคถูกเทคโนโลยีเล่นงานแบบไหนบ้าง?
เทคโนโลยีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้บริโภคยุคใหม่อย่างแนบแน่น ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย หรือการชอปปิงออนไลน์ แม้จะมอบความสะดวกสบายและความบันเทิงอย่างไร้ขีดจำกัด ทั้งยังตอบสนองต่อความเกียจคร้านของเราได้เป็นอย่างดี แต่กลับมีผลกระทบเชิงลบซ่อนอยู่ที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกต
ผลกระทบเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อสรีรวิทยาของเรา เช่น ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าตาจากการจ้องจอเป็นเวลานาน แต่ยังลามไปถึงจิตวิทยาในรูปแบบที่คาดไม่ถึง การพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปสามารถทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล และการสูญเสียความสามารถในการควบคุมชีวิตอย่างมีสติ เทคโนโลยีที่มาพร้อมความล้ำสมัย จึงกลายเป็นดาบสองคมที่ควรระวัง!
1. การใช้ชีวิตแบบอยู่ประจำที่ เสี่ยงโรคภัยรุมเร้า
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดประการหนึ่งของเทคโนโลยีคือการส่งเสริมการใช้ชีวิตแบบอยู่ประจำหรือไม่ค่อยเคลื่อนไหว ด้วยการเข้าถึงความบันเทิง โซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งได้อย่างไม่จำกัด ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย
การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์และนอนบนเตียงเป็นเวลาหลายชั่วโมงอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ปัญหาการนอนหลับและสายตาพร่ามัว หากไม่ได้รับการแก้ไข อาจนำไปสู่โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง
ตามการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Springer Link พฤติกรรมและนิสัยอยู่ประจำอาจนำไปสู่โรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 112% โรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 147% อัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น 90% และอัตราการเสียชีวิตโดยรวมเพิ่มขึ้น 49%
2. เทคโนโลยีเชื่อมเราใกล้ แต่ใจก็ยังเหงา
จำได้ไหมว่าครั้งหนึ่งเราต้องรอข้อความจากเพจเจอร์เล็กๆ หรือเฝ้ารอจดหมายทางไปรษณีย์เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน? ในยุคนั้น การสื่อสารมีคุณค่าและถูกให้ความสำคัญอย่างมาก แต่ปัจจุบัน แค่เพียงกดปุ่ม เราก็สามารถติดต่อคนที่รัก เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานได้ในทันที
ใช่! เทคโนโลยีทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น แม้จะอยู่ไกลคนละซีกโลก แต่มันก็แอบซ่อนผลกระทบที่ไม่คาดคิด การพบปะพูดคุยต่อหน้าเริ่มลดน้อยลง ส่งผลให้ทักษะการเข้าสังคมลดลงอย่างชัดเจน
ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังชี้ให้เห็นว่า 36% ของชาวอเมริกัน, 61% ของวัยหนุ่มสาว และ 51% ของคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตร ต่างรู้สึก ‘เหงาอย่างรุนแรง’ ในโลกใบนี้ที่เชื่อมต่อกันตลอดเวลา
3. ขาดความพยายามในการฝึกฝนทักษะต่างๆ
เทคโนโลยีไม่ได้แค่เปลี่ยนแปลงร่างกายและวิถีชีวิตของเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างชัดเจน เมื่อเราพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องคิดเลขเพื่อคำนวณทั้งง่ายและซับซ้อน, สัญญาณเตือนและการแจ้งเตือนที่จัดการตารางเวลา, เครื่องมือตรวจสอบการสะกดที่คอยแก้ไขการเขียน หรือแอป GPS ที่ทำให้เราไม่ต้องถามเส้นทางอีกต่อไป เรากลับใช้สมองน้อยลงเรื่อยๆ แม้เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ลดความจำเป็นในการฝึกฝนความจำหรือพัฒนาทักษะส่วนตัวให้ดียิ่งขึ้น
แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขี้เกียจและลดละความพยายาม? ความช่วยเหลือทางดิจิทัลและอุปกรณ์อัจฉริยะอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ แต่ก็ทำให้เกิดความขี้เกียจอีกด้วย
ตัวอย่างหนึ่งคือ ‘ระบบอัตโนมัติ’ เป็นเรื่องจริงที่การทำให้งานและความรับผิดชอบของเราเป็นระบบอัตโนมัติช่วยลดการใช้เวลาลงได้ แต่มันยังลดทักษะในการตัดสินใจและการแทรกแซงของเราอีกด้วย การพึ่งพาระบบอัตโนมัติและเครื่องมือดิจิทัลจะลดความพยายามของเราลง นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและทำงานต่างๆ ด้วยตนเองโดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอีกด้วย คำถามที่ชวนถกคือ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเทคโนโลยีหายไปอย่างกะทันหัน?
4. ทักษะการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจที่ลดลง
เมื่อเราไม่ได้ทุ่มเทความพยายามอย่างแข็งขันอีกต่อไป เราก็จะสูญเสียทักษะในการแก้ปัญหา การเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ การใช้เครื่องมือค้นหา หรือแม้แต่ถามคำตอบจาก AI ได้ง่ายๆ ทำให้เราเป็นแค่ผู้รับข้อมูล ส่งผลให้ทักษะการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจค่อยๆ เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา
5.ทำงานไร้ประสิทธิภาพ
คิดว่าเทคโนโลยีมีผลแค่ระดับส่วนตัวเท่านั้นหรือ? คิดใหม่ได้เลย! เทคโนโลยียังบุกมาถึงชีวิตการทำงานของเรา ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกาย จิตใจ ทักษะสังคม และที่สำคัญคือวิธีการทำงานของเรา การทำหลายอย่างพร้อมกัน หรือ Multitask ที่เราคิดว่าเท่ จริงๆ แล้วเป็นแค่เรื่องหลอกลวง ไม่มีใครทำหลายงานพร้อมกันได้จริงๆ แถมการสลับไปมาระหว่างงานยังทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงถึง 40% เท่านั้นยังไม่พอ เทคโนโลยียังทำให้เราสูญเสียสมาธิ ติดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง และทำให้เส้นแบ่งระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวเลือนลาง สุดท้ายก็นำไปสู่ภาวะหมดไฟ ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมลดฮวบ!
จะทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงความขี้เกียจที่เกิดจากแรงขับเคลื่อนของเทคโนโลยี?
แม้ว่าเทคโนโลยีจะส่งเสริมความขี้เกียจได้ แต่ก็ยังคงขึ้นอยู่กับว่าเราใช้มันอย่างไร เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราคือผู้สร้างมัน หากเราต้องการปรับปรุงสุขภาพจิตและความเป็นอยู่โดยรวมของเราอย่างแท้จริง เราต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดการเทคโนโลยีด้วยวิธีการต่อไปนี้
1. วางขอบเขตการใช้เทคโนโลยีเพื่อชีวิตที่สมดุล
เมื่อเทคโนโลยีกลายเป็นศูนย์กลางของชีวิตเรา การเสพติดก็เข้ามาได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้าอยากลดผลกระทบด้านลบจากการใช้เทคโนโลยี ก็ต้องขีดเส้นให้ชัด! สร้างขอบเขตที่เหมาะสม จำกัดการใช้อุปกรณ์ให้เป็นเวลา โดยเฉพาะการใช้งานส่วนบุคคล อย่าลืมเพิ่มกิจกรรมทางกาย เช่น ออกกำลังกายหรือเดินเล่นบ้าง เพื่อสุขภาพที่ดี แถมยังเป็นโอกาสได้พบปะสังคมและคนรอบข้าง เพราะการทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ คุณอาจเริ่มจากสิ่งง่ายๆ เช่น โต๊ะทำงานแบบยืน หรืออาจตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อเตือนให้คุณเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ ตราบใดที่คุณพยายามปรับปรุงตัวเอง คุณจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นหากคุณมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ที่สำคัญที่สุด คือใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกับคนที่คุณรักให้มากขึ้น แล้วชีวิตจะสมดุลแบบไม่มีเทคโนโลยีเป็นใหญ่!
2. รีเฟรชสมอง! ปลุกสติพร้อมรับมือเทคโนโลยี
การรู้จักใช้อย่างมีสติคือกุญแจสู่ความสมดุล! ฝึกใจให้รู้ว่าเมื่อไหร่ควรพักเบรกจากหน้าจอ และใช้เทคโนโลยีอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หลีกเลี่ยงการพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป พร้อมพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างจริงจัง ด้วยการลงมือทำกิจกรรมที่ท้าทายสมอง เช่น อ่านหนังสือวิชาการ เข้าร่วมอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือเล่นเกมกระตุ้นการคิดอย่างเกมไพ่และเกมตอบคำถาม สนุกพร้อมเพิ่มทักษะไปในตัว!
3. ตั้งเป้าหมายให้ชัด โฟกัสให้ตรง แล้วพุ่งชนความสำเร็จ!
หากอยากหลีกหนีสิ่งรบกวนจิตใจ สิ่งสำคัญคือการมีสมาธิและวางแผนให้ดี! แบ่งงานออกเป็นขั้นตอนเล็กๆ กำหนดกรอบเวลา และจัดการทีละขั้นจนเสร็จสมบูรณ์ อย่าแค่ตั้งเดดไลน์ลอยๆ แต่ให้ลงรายละเอียด แบ่งโครงการออกเป็นส่วนย่อย ระบุเงื่อนไขและข้อกำหนดเบื้องต้น แล้วลุยตามแผนที่วางไว้ ความตั้งใจแน่วแน่ของคุณสามารถเอาชนะผลกระทบเชิงลบจากเทคโนโลยีได้! ขอแค่เริ่มต้นด้วยความตั้งใจจริง ผลลัพธ์ในเชิงบวกจะตามมาอย่างแน่นอน!
สุดท้าย พึงตระหนักว่าเทคโนโลยีเป็นผู้ช่วย ไม่ใช่ผู้บงการชีวิต! อย่าลืมว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่ไม้ค้ำยัน! มนุษย์เรามีศักยภาพโดยกำเนิดในการคิด วิเคราะห์ และประเมินสิ่งต่างๆ หาจุดสมดุลในการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เพราะจริงๆ แล้วมันมีไว้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเรา แต่ถ้าพึ่งพามากเกินไป ระวัง! คุณอาจทำลายจุดประสงค์ดีๆ ของเทคโนโลยีไปโดยไม่รู้ตัว
สุดท้ายแล้ว มันอยู่ที่คุณต่างหากว่าจะใช้เทคโนโลยียังไงให้กลายเป็นผู้บริโภคสุดขี้เกียจแต่ฉลาดล้ำ? ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการควบคุมและการใช้มันให้เข้ากับชีวิตคุณเอง!
บทความจากนิตยสาร MarketPlus ฉบับที่ 169 กันยายน - ตุลาคม 202